หลวงพ่อดิ่ง วัดบางวัว จ.ฉะเชิงเทรา #สุดยอดเกจิเมืองไทย
ประวั
ติหลวงพ่อดิ่ง คงคสุวัณโณ วัดอุสภาราม (บางวัว) จังหวัดฉะเชิงเทรา
พระครูพิบูลย์คณารักษ์คงฺคสุวณฺโณ หรือ หลวงพ่อดิ่ง เป็นชาวบ้านตำบลบางวัว เกิดเมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๐ ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๔ ปีฉลู จ.ศ. ๑๒๓๙ ที่บ้านบางวัว ต.บางวัว อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา เป็นบุตรของ คุณพ่อเหม และคุณแม่ล้วน เหมล้วน มีพี่น้องทั้งหมดรวม ๑๖ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๘
พอเข้าวัยการศึกษา บิดามารดาได้นำท่านไปฝากให้ศึกษาเล่าเรียนอยู่กับพระภิกษุสงฆ์ที่วัดบางวัว ซึ่งท่านก็ได้รับการอุปถัมภ์ด้วยดี รสพระธรรมได้ซึมซาบเข้าไปในจิตใจของท่านอย่างลึกซึ้ง ยามว่างก็จะเข้ามาช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพ คือ การทำนา สมัยก่อนทำนาปีละครั้ง ด้วยเหตุนี้ชาวนาจึงมีเวลาว่างมาก เพราะต้องรอคอยฤดูฝนจึงจะทำนากันได้
จนกระทั่งท่านอายุได้ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๐ ตรงกับวันเสาร์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๕ ปีระกา ณ พัทธสีมา วัดบางวัว โดยมี พระอาจารย์ดิษฐ์ พฺรหฺมสโร วัดบางสมัคร
ต.บางสมัคร อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์จ่าง วัดบางสมัคร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์ปลอด วัดบางวัว เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “คงฺคสุวณฺโณ”
อันมีความหมายเป็นมงคลว่า“ผู้มีจิตชุ่มเย็นเช่นดังแม่น้ำ และแกร่งเช่นดังทองคำ” นับตั้งแต่นั้นมาท่านก็ซาบซึ้งในรสของพระธรรม และครองสมณเพศจนตลอดสิ้นอายุขัย
หลังจากอุปสมบทแล้วท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดบางวัว เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยจากพระอุปัชฌาย์เป็นเวลา ๒ พรรษา หลังจากนั้นท่านก็เดินทางเข้ามาศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดไตรมิตรวิทยาราม (วัดสามจีน) ในสมัยที่หลวงพ่อโม ยังมีชีวิตอยู่
จากคำบันทึกที่หลวงพ่อดิ่งได้เล่าให้ศิษย์ใกล้ชิดฟังว่า ขณะที่มาอยู่ที่วัดไตรมิตรฯ เพียง ๑ พรรษา พระอธิการเปีย เจ้าอาวาสวัดบางวัว ก็มรณภาพลง พระภิกษุในวัดและญาติโยมได้ประชุมปรึกษากันมีมติให้ไปนิมนต์ท่านกลับมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสสืบต่อไป ด้วยเหตุนี้ท่านจึงไม่อาจขัดศรัทธาของญาติโยมได้ จึงเดินทางมาครองวัดบางวัว ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๔๓ เรียกว่าบวชเพียง ๓ พรรษาก็ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดบางวัว
เมื่อหลวงพ่อดิ่งได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสท่านก็เริ่มพัฒนาถาวรวัตถุต่างๆ ในวัด ซึ่งขณะนั้นกำลังชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ได้พัฒนาให้มีการศึกษาพระปริยัติธรรมแก่พระภิกษุ-สามเณร
หลวงพ่อดิ่งได้เล่าให้ศิษย์ใกล้ชิดฟังเสมอว่า อาจารย์ที่ฉันได้เล่าเรียนวิชามาด้วยกันจริงๆ มีอยู่ ๓ องค์ คือ
(๑) หลวงพ่อดิษฐ์ พฺรหฺมสโร วัดบางสมัคร ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของฉันเอง
(๒) หลวงพ่อเปิ้น วัดบ้านเก่า ต.บ้านเก่า อ.พานทอง จ.ชลบุรี องค์นี้ท่านเก่งมาก ขนาดปราบฝรั่งที่มันมาเผยแพร่ศาสนาคริสต์จนต้องยอมสยบต่อท่าน แน่ไม่แน่ขนาดฝรั่งยิงปืนไปที่โบสถ์วัดบ้านเก่า ไม่ออกก็แล้วกัน
(๓) หลวงพ่อเปอะ วัดจวนเขื่อนขันธ์ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ องค์นี้ท่านเก่งทางสมุนไพร แพทย์แผนโบราณ
สมณศักดิ์และหน้าที่ทางคณะสงฆ์
ปี พ.ศ. ๒๔๔๓ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดบางวัว
ปี พ.ศ. ๒๔๔๕ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระกรรมวาจาจารย์
ปี พ.ศ. ๒๔๕๒ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตำบลบางวัว
ปี พ.ศ. ๒๔๖๓ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์
ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยเจ้าคณะแขวงอำเภอบางปะกง (ผู้ช่วยเจ้าคณะอำเภอบางปะกง ในปัจจุบัน)
ปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะแขวงอำเภอบางปะกง (เจ้าคณะอำเภอบางปะกง ในปัจจุบัน)
ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น "พระครูพิบูลย์คณารักษ์"
หลวงพ่อดิ่ง ท่านเป็นพระเถราจารย์ยุคอินโดจีนที่เคร่งในวัตรปฏิบัติ มีเมตตาจิต และเชี่ยวชาญแตกฉานในทุกสาขาวิชา รวมถึงพุทธาคมต่างๆ ทั้งเป็นที่รักเคารพและศรัทธาของบรรดาลูกศิษย์ลูกหา
วัตถุมงคลที่หลวงพ่อดิ่งท่านสร้าง อาทิเหรียญรูปเหมือน รุ่นแรก ปี พ.ศ.2481 ลิงจับหลัก เหรียญพระพุทธ ตะกรุด ผ้ายันต์ ตลอดจนพระปิดตาเนื้อเมฆพัตร วัตถุมงคลของท่าน พุทธคุณเด่นในด้านเมตตามหานิยม แคล้วคลาดปลอดภัย เป็นเยี่ยม
มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า ครั้งหนึ่งพลเรือเอกสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ได้ทรงกล่าวอบรมทหารเกณฑ์ใหม่ หลังจากที่ทรงอบรมเสร็จ พระองค์ได้ทรงประพรมน้ำพระพุทธมนต์ที่พระองค์ได้ทรงทำขึ้นเองแก่บรรดาทหารเกณฑ์ใหม่เหล่านั้น ทันทีที่น้ำพระพุทธมนต์ได้สัมผัสร่าง ทหารเกณฑ์ใหม่บางคนมีอาการของขึ้น ลุกขึ้นเต้นเหมือนลิงและวิ่งออกไปจากแถวทหาร พระองค์ได้ทรงรับสั่งให้ทหารช่วยกันจับทหารเกณฑ์ใหม่เหล่านั้นและนำตัวมาให้ทรงทอดพระเนตร พร้อมกับทรงตรัสถามว่ามีวัตถุมงคลอะไรติดตัวและเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ท่านใด ทหารเกณฑ์ใหม่เหล่านั้นกราบทูลว่า เป็นศิษย์ของ “ท่านพระครูพิบูลย์คณารักษ์” (หลวงพ่อดิ่ง) เจ้าอาวาสวัดบางวัว จังหวัดฉะเชิงเทรา และมีเครื่องรางเป็นรูปลิงที่แกะจากรากไม้ติดตัว หลังจากที่พระองค์ได้ทรงทอดพระเนตรเครื่องรางดังกล่าวแล้ว ทรงตรัสขึ้นว่า “อาจารย์องค์นี้เก่ง”
หลวงพ่อดิ่ง คังคสุวัณโณ ท่านได้ถึงแก่มรณภาพด้วยอาการสงบ ในวันธรรมสวนะ ขณะที่พระสงฆ์จะทำสังฆกรรมสวดปาฏิโมกข์ ตรงกับวันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๕ สิริอายุรวมได้ ๗๕ ปี พรรษา ๕๔
ขอบารมีหลวงพ่อคุ้มครองและบัลดาลโชคลาภแด่ทุกท่านครับ