โรคระบาด "เมลิออยด์"มีต้นเหตุจากแพนด้า
โรคเมลิออยด์ หรือ โรคเมลิออยโดซิส เป็นโรคติดเชื้อซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ Burkholderia pseudomallei เชื้อนี้พบได้ในดินและน้ำ โรคนี้มีความสำคัญทางสาธารณสุขโดยเฉพาะในประเทศไทยและทางเหนือของออสเตรเลีย
รูปแบบของโรคอาจมีได้ทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง ผู้ป่วยอาจมีอาการแตกต่างกันมาก เช่น เจ็บหน้าอก กระดูก หรือข้อ ไอ การติดเชื้อที่ผิวหนัง ก้อนในปอด หรือปอดอักเสบ
ในอดีตเชื้อแบคทีเรีย B. pseudomallei จัดอยู่ในจีนัส Pseudomonas และเคยใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pseudomonas pseudomallei จนกระทั่งปี ค.ศ. 1992 มีการจำแนกทางวิวัฒนาการพบว่ามีความใกล้ชิดกับเชื้อ Burkholderia mallei
โรคเมลิออยด์เป็นโรคที่พบในสัตว์ อาทิ แมว แพะ แกะ และม้า ส่วนในวัว ควาย และจระเข้ เชื่อว่ามีความต้านทานต่อการติดเชื้อเมลิออยโดซิสทั้งที่สัมผัสกับโคลนอยู่ตลอด การระบาดของโรคในสวนสัตว์ปารีสในทศวรรษที่ 1970 ("L’affaire du jardin des plantes") เชื่อว่ามีต้นเหตุจากแพนด้าที่นำเข้ามา
โรคเมลิออยด์เป็นโรคประจำถิ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (รวมถึงประเทศไทย ลาว และตอนใต้ของจีน สิงคโปร์ มาเลเซีย พม่า และเวียดนาม) ไต้หวันและตอนเหนือของออสเตรเลีย
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยมีอุบัติการณ์ของโรคเมลิออยด์สูงที่สุดในโลก (ผู้ป่วยโรคเมลิออยด์ 21.3 รายในประชากร 100,000 รายต่อปี) ร้อยละ 80 ของเด็กในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยมีผลแอนติบอดีต่อเชื้อ B. pseudomallei เป็นบวกตั้งแต่อายุ 4 ปี ซึ่งพบว่าในที่อื่น ๆ จะมีจำนวนน้อยกว่านี้
อาการของการติดเชื้อเฉพาะส่วนแสดงอาการได้หลากหลาย เช่น ฝีของต่อมน้ำลายพาโรติด พบในผู้ป่วยเด็กชาวไทย แต่ในผู้ป่วยออสเตรเลียมีรายงานพบเพียงหนึ่งรายในทางกลับกัน ฝีของต่อมลูกหมากพบได้ถึงร้อยละ 20 ของผู้ป่วยชายชาวออสเตรเลียแต่ไม่พบรายงานในที่อื่น อาการสมองและไขสันหลังอักเสบพบได้ในตอนเหนือของออสเตรเลีย