อายุเท่าไหร่ถึงเรียกว่าแก่ ?
หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า อายุเป็นเพียงตัวเลขใช่มั้ยคะ แล้วเคยสงสัยมั้ยคะว่าอายุเท่าไหร่ถึงเรียกว่าแก่ แล้วถ้าไม่อยากแก่เร็ว จะต้องทำยังไงบ้าง วันนี้มีคำตอบ
ที่จริงแล้ว เราทุกคนเริ่มแก่ตั้งแต่เราเกิดมาแล้วค่ะ เราแก่ขึ้นทุกวัน และตัวที่ทำให้เราแก่คือ เทโลเมียร์ (Telomere) ซึ่งเป็นส่วนที่อยู่ปลายสุดของโครโมโซม ประกอบด้วยลำดับเบสซ้ำๆ กันประมาณ 10,000 ครั้งโดยเทโลเมียร์จะทำหน้าที่ ป้องกันไม่ให้ข้อมูลพันธุกรรมบนโครโมโซมสูญหายหรือถูกทำลายในระหว่างที่มีการแบ่งเซลล์
ตั้งแต่เกิดเทโลเมียร์จะยาว และหดสั้นลงเรื่อย ๆ ทุกครั้งที่มีการแบ่งเซลล์ เทโลเมียร์จะสูญเสียลำดับเบสไปประมาณ 25-200 ตัว เเละเทโลเมียร์ที่สั้นลงเรื่อย ๆ ทำให้เราแก่ขึ้นนั่นเอง และเมื่อถึงจุด ๆ หนึ่งที่เทโลเมียร์สั้นไปกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว เราจะเรียกว่าจุดนี้ว่าจุดวิกฤต เซลล์ก็จะแบ่งตัวไม่ได้อีกและเข้าสู่สภาวะแก่ ซึ่งมันไม่สามารถสร้างใหม่ได้อีก (Sad เบา ๆ)
ถ้าจะถามว่า เเล้วอายุเท่าไหร่ล่ะถึงจะเรียกว่าแก่ สารรูป เอ้ย!! สารภาพตรง ๆ ค่ะว่าไม่สามารถตอบเป็นตัวเลขได้จริง ๆ เพราะเทโลเมียร์มันสั้นลงเรื่อย ๆ ตามปกติในทุกคนอยู่แล้ว แต่มันก็มีปัจจัยอื่นที่จะทำให้เทโลเมียร์สั้นลงเร็วขึ้น เช่น
- การสูบบุหรี่ นี่คือสาเหตุที่เห็นได้ชัดที่สุด ใครที่สูบบุหรี่จัด ๆ จะดูมีอายุกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่
- ความเครียดสะสม
- ความอ้วน หรือการเกินเกินความพอดี
- การไม่ออกกำลังกาย
- มลพิษทางอากาศ
เรียกได้ว่า แทบจะทุกปัจจัยอยู่ใกล้ตัวเราเลยที่กระตุ้นให้เราแก่เร็วขึ้น นอกจากนี้เทโลเมียร์ที่มันสั้นลง ไม่ได้ส่งผลต่อความแก่อย่างเดียวนะคะ แต่ยังเพิ่มอากาสการเกิดโรคต่างๆ ได้อีก เช่น โรคมะเร็ง ภาวะภูมิคุ้มกันเสื่อม พังผืดในปอด ไขกระดูกทำงานผิดปกติ เป็นต้น ไม่มีอะไรดีสักอย่าง 55555
ทีนี้เรารู้แล้วว่าน้องเทโลที่มันสั้น เลยทำให้เราแก่ขึ้น แล้วเราทำให้น้องยาวขึ้นได้มั้ย คำตอบคือได้จ้า โว๊ะโฮ่!!! แน่นอนว่าอะไรที่ทำให้มั้นสั้นลงเร็ว ก็หลีกเลี่ยงอันนั้นแหละ เช่น
- ไม่สูบบุหรี่
- กินผักผลไม้เยอะ ๆ เพราะมีสารต้านอนุมูลอิสระ
- กินธัญพืชไม่ขัดสี
- ออกกำลังกายบ้างนะตัวเธอ
- ทานไขมันดีอย่างโอเมก้า 3
- ลดไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์,
- เครียดให้น้อยลง ยิ้มบ่อย ๆ ยิ้ม ยิ้ม ยิ้มเซ่!!!
- ทานแต่พอดี ถ้าทานมากเกินไป ร่างกายเผาผลาญมาก เกิดอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งในการทำลายสารพันธุกรรม (DNA,RNA) พอสิ่งเหล่านี้ถูกทำลาย ร่างกายก็ต้องแบ่งเซลล์ใหม่ อย่าลืมว่าทุกครั้งที่แบ่งเซลล์ น้องเทโลเมียร์จะสั้นลง และทุกครั้งที่เทโลเมียร์สั้นลง ความแก่จะมาเยือนเร็วขึ้น เพราะฉะนั้นทานแต่พอดี
นอกจากนี้ ในงานวิจัยทางการแพทย์พบว่า สารอาหารบางชนิดสามารถเพิ่มความยาวของเทโลเมียร์ได้ เช่น วิตามินต่าง ๆ โฟเลต ดีเอชเอ สารโพลีฟีนอล ธาตุเหล็ก สังกะสี แมกนีเซียม สารเหล่านี้เหมือนเป็นตัวช่วยชะลอวัยให้เรา แต่ก็ยังไงก็ตามร่างกายก็มีขีดจำกัดในการเจริญเติบโต
ปัจจุบันเราสามารถวัดความยาวของเทโลเมียร์ได้ด้วยนะคะ ใช้เวลาไม่นาน และสามารถตรวจได้ทุกช่วงวัยเลย โดยหมอจะให้งดน้ำ งดอาหารก่อนตรวจ เหมือนกับการตรวจเบาหวานเลยคะ ซึ่งคุณหมออาจจะเจาะเลือดไปตรวจ หรือเก็บตัวอย่างจากกระพุ้งแก้มของเรา การตรวจความยาวของเทโลเมียร์เทียบอายุเซลล์ สามารถบอกสภาพของเซลล์ในร่างกายเราได้ ว่าดีหรือไม่ เสื่อมหรือยังมีสภาพโอเคอยู่ และอาจใช้ประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต่าง ๆ ในอนาคตได้