กรม สบส. นำนวัตกรรมการจัดทำผังบริเวณโดยใช้อากาศยานไร้คนขับ พัฒนาสถานบริการสุขภาพด้านอาคาร และสภาพแวดล้อม แม่นยำ รวดเร็ว และประหยัด
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) นำนวัตกรรมการจัดทำผังบริเวณโดยใช้อากาศยาน ไร้คนขับ (DRONE) มาใช้พัฒนาสถานบริการสุขภาพด้านอาคารและสภาพแวดล้อม รวดเร็ว ลดความผิดพลาด และลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า สถานบริการสุขภาพ เช่น โรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สถานบริการสาธารณสุข ที่มีการก่อสร้าง ปรับปรุงทางกายภาพของอาคารและสภาพแวดล้อม ต้องดำเนินการตามมาตรฐานทางวิชาชีพสถาปัตยกรรม วิศวกรรม และการก่อสร้าง เพื่อให้สถานบริการสุขภาพมีคุณภาพและได้มาตรฐาน โดยการวางแผนทางกายภาพและจัดทำผังหลักของสถานพยาบาลที่มีคุณภาพนั้นจำเป็นต้องมีข้อมูลผังสำรวจที่มีความถูกต้องแม่นยำ และต้องตอบสนองต่อการทำงานเพื่อการมุ่งสู่การให้บริการแบบรัฐบาลดิจิทัล ดังนั้น กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดยกองแบบแผนจึงได้นำนวัตกรรมการถ่ายทางอากาศด้วยอากาศยานไร้คนขับ (DRONE) มาประยุกต์ใช้โดยผ่าน SOFTWARE ร่วมกับเทคโนโลยีสารสนเทศมาพัฒนากระบวนการสำรวจ เพื่อจัดทำผังบริเวณแทนการสำรวจด้วยกล้องสำรวจตามวิธีการเดิม ซึ่งทำให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพ ลดความผิดพลาด และยังสามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการได้ ซึ่งในปี 2564 เจ้าหน้าที่กองแบบแผน ทั้งในสาขาวิชาชีพด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม ได้นำเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ มาใช้ร่วมกับเทคโนโลยี POINT CLOUD และ PHOTOGRAMMETRY ไปใช้ในการจัดทำผังสำรวจสถานพยาบาลภาครัฐ จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลนครนายก จังหวัดนครนายก โรงพยาบาลท่าวังผา จังหวัดน่าน โรงพยาบาลพิจิตร จังหวัดพิจิตร โรงพยาบาลอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง และโรงพยาบาลกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร ผังบริเวณที่ได้จากการสำรวจสามารถนำไปใช้สำหรับการจัดทำแผนแม่บทของสถานบริการสาธารณสุขใช้ประกอบเป็นข้อมูลในการพัฒนาออกแบบระบบสาธารณูปโภคของสถานบริการสาธารณสุขได้เป็นอย่างมีประสิทธิภาพ
นายแพทย์สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดยกองแบบแผนได้นำอากาศยานไร้คนขับมาสำรวจและเก็บข้อมูลด้านกายภาพของพื้นที่ในสถานบริการสุขภาพ เพื่อลดปริมาณของระยะเวลา งบประมาณ และจำนวนบุคลากรที่ใช้ในการทำผังบริเวณการที่อากาศยานไร้คนขับถูกนำมาใช้งานนั้นทำให้การบริหารจัดการทำได้ดีขึ้นในทุกมิติ ทำให้กระบวนการทำผังบริเวณที่มีประสิทธิภาพค่าความคลาดเคลื่อนในระยะไม่เกิน 1-5 เซนติเมตร และชุดข้อมูลพื้นฐานมีความแม่นยำสูงทั้งมิติแนวราบและแนวดิ่ง (ค่าพิกัดและระดับ) และสามารถนำไปต่อยอดในกระบวนการออกแบบทั้งด้านสถาปัตยกรรม ด้านวิศวกรรม ด้านวิศวกรรมไฟฟ้า และวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมได้ อีกทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ใช้งานสามารถใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ ด้วยขั้นตอนที่ไม่ซับซ้อน ง่ายต่อการใช้งาน และสามารถนำประโยชน์ไปใช้ได้จริง นอกจากนั้นข้อมูลที่ได้จากการสำรวจด้วยเทคโนโลยีแบบผสมผสานนี้ ยังสามารถนำไปเชื่อมต่อกับระบบภูมิศาสตร์สารสนเทศ (GIS) ที่สามารถนำข้อมูลไปใช้เพื่อการบริหารจัดการสถานพยาบาลภาครัฐแบบมหภาค ทั้งการจัดการด้านทรัพยากร ด้านการรองรับภัยพิบัติ เช่น ภัยธรรมชาติ และภาวะโรคระบาด ฯลฯ ได้อย่างสะดวก
ทั้งนี้ หากสถานบริการสุขภาพสนใจการจัดทำผังบริเวณโดยใช้อากาศยานไร้คนขับ สามารถดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์กองแบบแผน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (dcd.hss.moph.go.th) หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์สายด่วน กรม สบส. 1426 ในวันและเวลาราชการ
******** 12 มกราคม 2565