1 กันยายน วันสืบ ที่หลายคนสมัยนี้อาจจะยังไม่รู้จัก “สืบ นาคะเสถียร” นักอนุรักษ์ธรรมชาติผู้อุทิศชีวิตเพื่อป่าไม้ไทย
ทุกวันที่ 1 กันยายน ของทุกปี เรามักจะได้ยินว่าเป็นวันสืบ สำหรับคนรุ่นใหม่หลายๆคน หรือเด็กยุคนี้อาจจะยังไม่รู้จัก หรือคุ้นเคยชื่อนี้กับวันนี้เท่าไหร่นัก แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่วัยกลางคนหรือนักอนุรักษ์นิยมทั้งหลายจะทราบดีว่าวันนี้เป็นวันเสียชีวิตของ สืบ นาคะเสถียร นักอนุรักษ์ธรรมชาติคนหนึ่งที่ให้ความสำคัญทุ่มเทงานเกี่ยวกับธรรมชาติและป่าไม้ของไทยเป็นอย่างมาก เรามาทำความรู้จักความรู้จักประวัติความเป็นมาคราวๆ ของท่านสืบ นาคะเสถียร กันก่อนเพื่อความเข้าใจอันดี สำหรับวันนี้กันก่อนดีกว่า
ประวัติ สืบ นาคะเสถียร
อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง นักวิชาการ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ชายผู้เอาชีวิตเข้าแลกเพื่อเรียกร้องให้สังคมหันมาสนใจ ให้ความสำคัญและปกป้อง ผืนป่า และสัตว์ป่า
สืบ นาคะเสถียร เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม 2492 ที่ตำบลท่างา อำเภอเมืองจังหวัดปราจีนบุรี เป็นลูกของนายสลับ นาคะเสถียร อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีน และนางบุญเยี่ยม นาคะเสถียร
สืบ นาคะเสถียร มีนิสัยทำอะไรมักจะทำให้ได้ดีตั้งแต่เด็ก และเมื่อจบประถม 4 สืบ นาคะเสถียร เป็นนักเป่าทรัมเป็ตมือหนึ่ง และนักวาดภาพฝีมือดีของโรงเรียน เมื่อสำเร็จการศึกษา สืบ นาคะเสถียร ได้เข้าทำงานที่ส่วนสาธารณะการเคหะแห่งชาติ และไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขาวนวัฒน์วิทยา คณะวนศาสตร์ 2518 สืบ นาคะเสถียร สอบเข้ากรมป่าไม้ได้ แต่เลือกที่จะมาทำงานที่กองอนุรักษ์สัตว์ป่าโดยไปประจำที่เขตรักษาพันธุ์ สัตว์ป่า เขาเขียว-เขาชมพู่จังหวัดชลบุรี 2522 สืบ นาคะเสถียร ได้รับทุนจาก British Council ไปเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษในสาขาอนุรักษ์วิทยา 2524 สืบ นาคะเสถียร ดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ และเริ่มงานวิจัยชิ้นแรก คือการศึกษาการทำรังวางไข่ของนกบางชนิด ที่อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี 2529 สืบ นาคะเสถียร รับเป็นหัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าในเขื่อนเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีสัตว์นับพันตัวได้รับความช่วยเหลือ แต่ สืบ นาคะเสถียร รู้ดีว่ามีสัตว์อีกนับจำนวนมหาศาลที่ตายจากการสร้างเขื่อน และในระหว่างนั้น สืบ นาคะเสถียร ได้ค้นพบรังนกกระสาคอขาวปากแดงครั้งแรกในประเทศไทย สืบ นาคะเสถียร ได้เปลี่ยนบทบาทจากนักวิชาการไปสู่นักอนุรักษ์ โดยเข้าร่วมต่อสู้คัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน จังหวัดกาญจนบุรี สืบ นาคะเสถียร ชี้ให้เห็นถึงบทเรียนจากการที่มีสัตว์จำนวนมาก ล้มตายหลังจากการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน สืบ นาคะเสถียร เริ่มต้นอภิปรายทุกครั้งด้วยคำว่า “ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่า” สืบ นาคะเสถียร และเพื่อนอนุรักษ์ออกโรงคัดค้านการที่บริษัทไม้อัดไทยจะขอสัมปทานทำไม้ ที่ป่าห้วยขาแข้ง สืบ นาคะเสถียร ได้อภิปรายว่า “คนที่อยากอนุญาตให้ทำไม้ก็เป็นกรมป่าไม้ คนที่จะรักษาก็เป็นกรมป่าไม้เหมือนกัน”
2532 สืบ นาคะเสถียร ได้รับทุน เรียนต่อปริญญาเอกที่ประเทศอังกฤษ แต่เค้าตัดสินใจเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง หลังจากนั้น สืบ นาคะเสถียร พบปัญหาต่างๆ มากมายในห้วยขาแข้ง อาทิ ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การล่าสัตว์ของบุคคลที่มีอิทธิพล เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าถูกยิงเสียชีวิต ปัญหาความยากจนของชาวบ้านรอบป่า และที่สำคัญคือปัญหาเหล่านี้ไม่เคยได้รับความสนใจจากผู้ใหญ่เลย หลังจากนั้น สืบ นาคะเสถียร จึงทุ่มเทเขียนรายงานนำเสนอยูเนสโก เพื่อพิจารณาให้ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลก อันเป็นสิ่งค้ำประกันให้พื้นที่แห่งนี้ได้รับการคุ้มครองเต็มที่ จนได้รับมาซึ่งมรดกโลกสำเร็จ
แต่ด้วยความที่ต้องรับแรงกดดันหลาย ๆ ด้าน และเพื่อเป็นการเรียกร้องต่อหน่วยงานภาครัฐให้ใส่ใจต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างแท้จริง สืบจึงตัดสินใจประท้วงด้วยการฆ่าตัวตายด้วยอาวุธปืนในบ้านพักของสืบที่ห้วยขาแข้ง ในเช้ามืดของวันที่ 1 กันยายน 2533 แต่ถ้าย้อนกลับไป วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2533 สืบยังคงปฏิบัติงานตามปกติ และได้เตรียมจัดการทรัพย์สินที่หยิบยืมและทรัพย์สินส่วนตัว และอุทิศเครื่องมือเครื่องใช้ในการศึกษาวิจัยด้านสัตว์ป่าให้แก่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ สั่งให้ตั้งศาลเคารพดวงวิญญาณเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตในการรักษาป่าห้วยขาแข้ง ในช่วงหัวค่ำของสืบยังคงปฏิบัติตัวพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตามปกติดั่งเช่นเคยทำ ครั้นช่วงดึกสืบขอลากลับไปบ้านพัก โดยกลับไปเตรียมจัดการทรัพย์สินที่เหลือและได้เขียนจดหมายหกฉบับ มีเนื้อหาสั้น ๆ ชี้แจงการฆ่าตัวตาย จนกระทั่งเช้ามืดวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2533 มีเสียงปืนดังขึ้นจากบ้านพักของสืบหนึ่งนัด จนก่อนเที่ยงของวันจึงได้มีเจ้าหน้าที่ของกรมฯ เข้าไปดู ซึ่งก่อนหน้าเข้าใจว่าสืบไม่สบาย และเมื่อเข้าไปพบร่างของสืบนอนตะแคงข้างห่มผ้าเรียบร้อย พอเข้าไปใกล้จึงได้เห็นอาวุธปืนตกอยู่ข้าง ๆ และเห็นบาดแผลที่ศีรษะด้านขวา สืบได้จบชีวิตลงอย่างเตรียมตัวและพร้อมอย่างสงบจึง เพื่อเรียกร้องให้สังคมและราชการหันมาสนใจปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ อย่างจริงจัง ผู้ใหญ่และพ้องเพื่อนนักอนุรักษ์ ได้ร่วมกันก่อตั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของ สืบ นาคะเสถียรต่อไป จนเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2536 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินมาที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เพื่อทรงเปิดอนุสรณ์สถานสืบนาคะเสถียร
(ขอบคุณที่มาhttps://bit.ly/2WNDPo5)
ดังนั้นเมื่อกล่าวถึง ผู้ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และสร้างความตื่นตัวให้กับสังคมไทยในการอนุรักษ์ผืนป่า และทรัพยากรธรรมชาติอันมีค่า จะต้องมีชื่อของ “สืบ นาคะเสถียร” อย่างแน่นอน หลังจากการจากไปของคุณสืบ เพียง 1 ปี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสำคัญในเชิงนิเวศวิทยา เนื่องจากได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทยในปี 2534 การสละชีวิตของสืบ จะสามารถปลุกกระแสการอนุรักษ์ธรรมชาติให้กับคนไทยแล้ว ยังสามารถทำให้โลกหันกลับมามองเห็นความสำคัญของผืนป่า และทรัพยากรทางธรรมชาติของไทยอีกด้วย ต่อมาในปี 2548 ประเทศไทยก็ประสบความสำเร็จในการขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่
และล่าสุดในปี 2564 ประเทศไทยของเราก็สามารถขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติได้สำเร็จเป็นแห่งที่ 3 ของประเทศ โดยพื้นที่ของกลุ่มป่าแก่งกระจานประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี ซึ่งมีลักษณะเป็นผืนป่าขนาดใหญ่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก และเป็นแหล่งที่อยู่ของชนิดพันธ์พืชและพันธ์สัตว์ที่หลากหลาย และมีแนวโน้มใกล้สูญพันธ์หลายชนิด
สำหรับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางธรรมชาติของกลุ่มป่าแก่งกระจาน ต้องบอกว่าเป็นขั้นตอนที่ไม่ง่ายเลย เพราะนอกจากจะต้องแสดงให้เห็นถึงความสำคัญในทางนิเวศวิทยาตามหลักเกณฑ์แล้ว คณะกรรมการของยูเนสโกยังมีข้อเสนอให้รัฐบาลไทยมีการปรับปรุงข้อกังวลต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนของชาวบ้านในพื้นที่ คือชาวบางกลอย ซึ่งแม้จะต้องกลับมาทบทวนกันหลายครั้ง แต่ด้วยความพยายามและความร่วมมือกันของทุกฝ่าย ในที่สุดก็ประสบความสำเร็จในการขึ้นทะเบียนมรดกโลก หลังจากที่พยายามกันมานานกว่า 16 ปี การขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางธรรมชาติ ทั้ง 3 แห่งนั้น ถือเป็นความสำเร็จที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของพวกเราทุกคน ที่จะรักษาป่าไม้ ระบบนิเวศ และทรัพยากรธรรมชาติ ตามเจตนารมณ์ของสืบ นาคะเสถียร ชายผู้จุดไฟสัญลักษณ์แห่งการอนุรักษ์ด้วยการจบชีวิตของตัวเอง เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2533
[ อ่านบทความฉบับเต็มต่อได้ที่ ]
https://www.topvarawut.com/สืบ-นาคะเสถียร-ชายผู้จุดไฟสัญลักษณ์แห่งการอนุรักษ์ป่าด้วยชีวิต/