คนญี่ปุ่นกับการแสดงความรู้สึก
พูดถึงเรื่องการแสดงความรู้สึก หลาย ๆ ท่านอาจจะเคยได้ยินทฤษฎีของ ดร.พอล เอคแมน (Paul Ekman) นักจิตวิทยาและผู้บุกเบิกที่โด่งดังด้านการวิจัยอารมณ์ของมนุษย์จากการแสดงออกทางสีหน้า (Facial Expression) ในด้านความรู้สึกพื้นฐานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น
ความสุข (喜び โยะโระโคะบิ)
ความเศร้า (悲しみ คะนะชิมิ)
ความโกรธ (怒り อิคะริ)
ความกลัว (恐怖 เคียวฟุ)
ความประหลาดใจ (驚き โอะโดะโระคิ)
ความเกลียดชัง (嫌悪 เค็นโอะ)
ความรู้สึกทั้งหมดล้วนแล้วแต่ทำให้ใบหน้าของคนเราแสดงออกแตกต่างกันไปในแต่ละอารมณ์
แต่เนื่องด้วยคำกล่าวข้างต้น เป็นการแสดงผลจากการศึกษาวิจัยของประเทศทางตะวันตก
ดังนั้น มหาวิทยาลัยเกียวโต (Kyoto University) จึงได้ทำการศึกษาเรื่องนี้อีกครั้ง
โดยนำตัวอย่างคนญี่ปุ่นจำนวน 65 คน มาวิจัยและนำ AI มาช่วยในการวิเคราะห์เปรียบเทียบกับทฤษฎีการแสดงออกทางสีหน้าของดร.พอล เอคแมน
โดยจะทำการวิจัย โดยใช้เงื่อนไข 2 ข้อ คือ
1) ให้กลุ่มตัวอย่างแสดงสีหน้าอารมณ์ตามบทบาทสมมติ
2) ให้กลุ่มตัวอย่างแสดงสีหน้าอารมณ์ต่าง ๆ ค้างไว้ แล้วถ่ายรูป
หลังจากนั้นใช้ซอฟต์แวร์ FaceReader มาช่วยในการวิเคราะห์และประมวลผล
ซึ่งได้ผลออกมาว่า ซอฟต์แวร์สามารถอ่านผลเกี่ยวกับการแสดงสีหน้าในข้อ 2) คือการแสดงสีหน้าเพื่อถ่ายรูปได้ถูกต้อง
แต่การแสดงสีหน้าอารมณ์ตามบทบาทสมมติ สามารถอ่านผลได้เพียงอารมณ์มีความสุขกับอารมณ์ประหลาดใจเท่านั้น
อีกทั้งการแสดงออกทางสีหน้าในอารมณ์ต่าง ๆ ยังมีความแตกต่างกันทั้ง 2 ข้อ (หมายถึงแสดงสีหน้าไม่ตรงกับความรู้สึก)
ซึ่งที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเกี่ยวกับเทคโนโลยี AI ที่อ่านอารมณ์จากภาพ หรือการแสดงออกทางสีหน้าที่กำลังได้รับการพัฒนา ส่วนใหญ่ใช้ทฤษฎีของดร.พอล เอคแมน
ทำให้จากการวิจัยนี้ ได้ผลสรุปใหม่เป็นครั้งแรกของโลกว่า
แม้จะทำการทดลองโดยใช้หลักสากลในแบบเดียวกันกับของดร.พอล เอคแมน แต่ผลการทดลองนั้นออกมาเหมือนกันเพียงบางส่วนเท่านั้น
คาดว่าเทคโนโลยี AI ที่อ่านอารมณ์จากการแสดงออกทางสีหน้าของคนญี่ปุ่นยังต้องได้รับการพัฒนาเพื่อความถูกต้องยิ่งขึ้นต่อไป😉
การวิจัยของมหาวิทยาลัยเกียวโต (Kyoto University) ครั้งนี้ ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ 「Frontiers in Psychology」ฉบับออนไลน์เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2019
🌸สรุปส่งท้าย ใครมีแฟนญี่ปุ่นแล้วรู้สึกว่าแฟนเย็นชา ไม่ค่อยแสดงออกทางสีหน้า คราวนี้น่าจะเข้าใจบ้างแล้วนะคะ ว่าคนญี่ปุ่นเขาแสดงออกทางสีหน้าไม่เก่งเท่าคนทางฝั่งตะวันตก (และน่าจะน้อยกว่าคนไทยด้วยซ้ำไป😂)
ที่มา:
https://www.kyoto-u.ac.jp/ja/research-news/2019-02-14-1#:~:text=本研究では、被験者は,%E5%87%BA%E3%81%95%E3%82%8C%E3%81%BE%E3%81%9B%E3%82%93%E3%81%A7%E3%81%97%E3%81%9F%E3%80%82
https://academist-cf.com/journal/?p=10185