รักษา"ตาบอดสนิท"ด้วยการเชื่อต่อการมองเห็นทางสมอง
ก่อนอื่น เรามาเข้าใจกลไกการมองเห็นกันก่อน เริ่มจาก : ดวงตามนุษย์จะทำหน้าที่รับแสง (ภาพ) จากสิ่งแวดล้อมผ่านจอประสาทตา (Retina) - ส่งผ่านเซลล์ประสาทของการมองเห็น (Visual pathway) - ไปยังสมองส่วนหลัง (Occipital lobe) ในบริเวณที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็น (Visual cortex) - แล้วจึงทำการแปลผลรูปภาพที่เราเห็นนั่นเอง
ซึ่งคนที่ตาบอดส่วนใหญ่จะเกิดจากเส้นทางในการรับภาพมีปัญหา ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย University of Miguel Hernandez de Elche ประเทศสเปน จึงได้คิดค้นวิธีในการรักษาอาการตาบอด ให้ผู้ป่วยกลับมามองเห็นได้อีกครั้งด้วยการฉายภาพต่อเข้ากับสมองโดยตรง โดยไม่ต้องผ่านเส้นทาง ต่าง ๆ ที่กล่าวมา
Eduardo Fernandez หนึ่งในทีมนักวิทยาศาสตร์ ได้ทำการทดลองนี้ใน Bernadeta Gómez หญิงชาวสเปนที่ประสบปัญหาอาการตาบอดมากว่า 15 ปี โดย Eduardo และทีมงานได้ฝังอิเล็กโทรดไฟฟ้ากว่า 100 ชิ้นในสมองบริเวณที่เกี่ยวกับข้องกับการมองเห็น
และเชื่อมต่อกับสายไฟไปยังอุปกรณ์รับภาพ ซึ่งอุปกรณ์รับภาพจะมีลักษณะเหมือนแว่นตาทั่วไป แต่บริเวณกึ่งกลางระหว่างเลนส์ทั้งสองข้าง จะมีกล้องซ่อนไว้คอยรับภาพเข้าระบบและแปลงเป็นสัญญาณไฟฟ้า ก่อนส่งผ่านตามสายไฟไปยังสมอง
แล้วเรื่องมหัศจรรย์ก็เกิดขึ้น Bernadeta Gómez สามารถมองเห็นภาพพื้นฐานได้ ตั้งแต่ลายเส้นสีสันต่าง ๆ, รูปเรขาคณิตสองมิติ หรือแม้กระทั่งใบหน้าของผู้คนในห้องทดลอง นับว่าเป็นผลการทดลองที่น่าพึงพอใจอย่างมาก และการอุปกรณ์ชิ้นนี้อาจมอบชีวิตใหม่ให้คนตาบอดทั่วโลกกว่า 36 ล้านคนได้เลยทีเดียว
สรุป – ทั้งนี้ Eduardo Fernandez กล่าวว่าอุปกรณ์ที่เขาคิดค้นขึ้นยังคงอยู่ในขั้นตอนการวิจัยอีกนาน เพราะต้องมีการติดตามผลในระยะยาวเพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดผลเสียตามมาในภายหลัง แต่ถ้าหากทำสำเร็จมันจะกลายเป็นสิ่งที่พลิกโฉมวงการการแพทย์อย่างแน่นอน