ข่าวปลอม ‼️ รักษาอาการเจ็บคอ ด้วย น้ำผึ้งผสมหัวหอม
ข่าวปลอม ‼️
รักษาอาการเจ็บคอ ด้วย น้ำผึ้งผสมหัวหอม
จากที่ได้มีการเผยแพร่ข้อความ บอกเล่าคำแนะนำ เกี่ยวกับเรื่อง " น้ำผึ้งผสมหัวหอมช่วยแก้อาการเจ็บคอ "
ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ไปยัง กรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็น " ข้อมูลเท็จ " ‼️ ค่ะ
เนื่องจากที่ได้มีการบอกต่อคำแนะนำเคล็ดลับ การบรรเทาอาการเจ็บคอภายใน 7 วัน ด้วยการดื่มน้ำผึ้ง ผสมกับหัวหอม
ทางกรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้การชี้แจง ถึงข้อมูลที่กล่าวอ้างดังนี้ว่า " ยังไม่มีข้อมูลวิชาการที่ระบุว่าการกินหัวหอมผสมน้ำผึ้งสามารถบรรเทาอาการเจ็บคอได้จริง "
หัวหอม เป็นพืชในตระกูลเดียวกับกระเทียม ซึ่งนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการเพิ่มรสชาติในอาหาร นอกเหนือจากการรับประทานเป็นอาหาร หัวหอมยังถูกนำมาใช้ในทางยา เพื่อช่วยบรรเทาอาการคัดจมูก แต่ไม่ได้สามารถบรรเทาอาการเจ็บคอได้
น้ำผึ้ง เป็นผลผลิตจากน้ำหวานที่ผึ้งสะสมในดอกไม้ องค์ประกอบหลักของน้ำผึ้ง คือ น้ำตาลฟรุกโตส และน้ำตาลกลูโคส ส่วนมากจะใช้เป็นสารเพิ่มความหวานในอาหาร และไม่มีการยืนยันได้ว่าน้ำผึ้งบรรเทาอาการเจ็บคอได้จริง ค่ะ
วัตถุดิบในครัวเรือน ที่สามารถนำมาใช้ในวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาอาการเจ็บคอ หรือระคายเคืองคอได้ ก็ทำได้โดยนำน้ำมะนาว ซึ่งมีสรรพคุณทางยา โดยรสเปรี้ยวของกรดซิตริกในมะนาว ทำให้ชุ่มคอ และช่วยขับเสมหะ จึงช่วยอาการระคายเคืองในลำคอได้
วิธีการทำ ก็โดยการนำน้ำมะนาว มาผสมกับน้ำ แล้วค่อย ๆ จิบเพื่อบรรเทาอาการได้
นอกจากนี้ควรพักผ่อนให้เพียงพอ และดื่มน้ำเปล่าที่สะอาดให้เพียงพอ แต่ถ้าหากอาการยังไม่ดีขึ้น ยังไงๆก็แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร เพื่อที่จะได้รับประทานยาให้ถูกต้อง และเหมาะสมค่ะ
เพราะฉะนั้น เพื่อนๆ อย่าได้หลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมืออย่าส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อไปในช่องทางสื่อออนไลน์ต่างๆ
และหาก เพื่อนๆ ต้องการได้รับข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติม จากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข เพื่อนๆ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.dtam.moph.go.th หรือโทร. 02 5917007 ค่ะ
สรุปคือ ในปัจจุบัน ยังไม่มีข้อมูลวิชาการที่ระบุว่า " การกินหัวหอมผสมกับน้ำผึ้งสามารถบรรเทาอาการเจ็บคอได้จริง " ซึ่งหัวหอมถูกนำมาใช้ในทางยาเพื่อช่วยบรรเทาอาการคัดจมูก และน้ำผึ้งใช้เป็นสารเพิ่มความหวานในอาหารเท่านั้น
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข