ข่าวปลอม ‼️ สูตรสมุนไพรภูมิปัญญาโบราณ รักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้
ข่าวปลอม ‼️
สูตรสมุนไพรภูมิปัญญาโบราณ รักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้
จากที่มีข้อความกล่าวอ้าง ปรากฏอยู่ตามสื่อออนไลน์ ต่างๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง " สูตรสมุนไพรภูมิปัญญาโบราณ รักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ "
ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ไปยัง ทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุขพบว่าประเด็นดังกล่าวนั้นเป็น " ข้อมูลเท็จ " ‼️ ค่ะ
ตามที่มีข้อความชวนเชื่อปรากฏอยู่ตามสื่อโซเชียลต่างๆ ว่าด้วยเรื่อง สูตรสมุนไพรภูมิปัญญาโบราณ รักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ โดยระบุว่าเป็นสูตรทะลวงหลอดเลือดด้วยภูมิปัญญาไทยโบราณ เพียง 2 นาทีจะเกิดผลลัพธ์ออกมาเลยนั้น
ทางกรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้คำชี้แจงถึงประเด็นนี้ว่า " ขณะนี้ยังไม่มีงานวิจัยว่าการนำสมุนไพรทั้ง 4 ชนิดตามสูตรแนะนำได้แก่ มะนาว น้ำแอปเปิ้ลไซเดอร์ กระเทียมและขิง มารวมกันแล้วสามารถใช้ในการรักษาโรคหลอดเลือดอุดตันได้ผลดีหรือไม่เป็นอันตรายใดๆ " ค่ะ
โรคหลอดเลือดหัวใจส่วนใหญ่นั้น เกิดจากไขมัน และเนื้อเยื่อสะสมในผนังของหลอดเลือด ทำให้เยื่อบุผนังหลอดเลือดชั้นในตำแหน่งนั้นหนาตัวขึ้น หลอดเลือดจึงตีบแคบลง ทำให้เลือดไหลไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ไม่เพียงพอ จนเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ส่งผลให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน สุดท้ายแล้วก็จะเข้าสู่ภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ หรือเสียชีวิตกะทันหันได้
ปัจจัยเสี่ยง หรือสาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจ ประกอบด้วย
1. ปัจจัยที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ ได้แก่ การมีบุคคลในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ อายุที่มากขึ้น
2. ปัจจัยด้านพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งส่งผลเพิ่มโอกาสความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือดเพิ่มขึ้น ปัจจัยที่สำคัญ ได้แก่ ภาวะความดันโลหิตสูง ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายหนาตัวขึ้น ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงหรือโรคเบาหวาน ทำให้เกิดการเสื่อมของหลอดเลือด เซลล์เยื่อบุภายในหลอดเลือดทำงานผิดปกติ
สรรพคุณของ ขิงสด มีรสเผ็ดร้อน ใช้แก้ปวดท้อง , บำรุงธาตุ , ขับลมในลำไส้ให้ผายลมและเรอ , แก้อาเจียน , เจริญอาหาร , ขับน้ำดี , ช่วยย่อยอาหาร , ลดความดัน ลดระดับไขมัน , คอเลสเตอรอล , แก้ลมพรรดึกแก้จุกเสียด , รักษาอาการหวัด , รักษาอาการปวดศีรษะเนื่องจากไมเกรน , แก้ไข้ , แก้ไอ , ขับเสมหะ และขับเหงื่อ
สรรพคุณของน้ำมะนาว มีรสเปรี้ยว ในน้ำมะนาวนั้นประกอบไปด้วยกรดซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพซึ่งได้แก่ กรดซิตทริค (Citric acid) กรดมาลิค (Malic acid) และแอสคอร์บิก (Ascorbic acid) มีวิตามินซีสูง และอุดมไปด้วยสารฟลาโวนอยด์ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ , การทำงานของวิตามินซี ช่วยรักษาโรคลักปิดลักเปิด หรือเลือดออกตามไรฟัน , ช่วยในการขับเสมหะ และบรรเทาอาการไอ
สรรพคุณของ กระเทียม (Garlic) สารสำคัญที่อยู่ในกระเทียม ก็คือ สารอัลลิซิน (allicin) และสารที่มีกำมะถันเป็นองค์ประกอบหลายชนิด กระเทียมมีรสร้อนฉุน มีข้อมูลการวิจัยพรีคลินิกพบว่า มีฤทธิ์ในการลดปริมาณไขมันในเลือดลดความดันโลหิตสูง ต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด สลายไฟบริน (fibrin) ลดน้ำตาลในเลือด ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยในคนพบว่ากระเทียมและ/หรือผลิตภัณฑ์จากกระเทียม มีฤทธิ์ลดการจับตัวของเกล็ดเลือด เพิ่มความสามารถในการสลายไฟบริน มีฤทธิ์อ่อนๆ ในการลดไขมันในเลือดและลดความดันโลหิต ช่วยลดการเกิดออกซิเดชันของไลโพโปรตีน จึงอาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดไขมันอุดตันในหลอดเลือด อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยบางส่วนพบว่า กระเทียมสดและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากกระเทียม มีฤทธิ์ลดไขมันและคอเลสเตอรอลในผู้ที่มีไขมันในเลือดสูงได้เพียงเล็กน้อยหรือใช้ไม่ได้ผล
และน้ำส้มสายชูที่หมักด้วยแอปเปิ้ล (Apple Cider Vinegar)
แอปเปิ้ลไซเดอร์นั้น มีสารสำคัญที่มีประสิทธิภาพในการต้านไกลซีมิก จึงเป็นผลดีกับระดับน้ำตาลในเลือด มีเพคตินซึ่งเป็นไฟเบอร์ชนิดละลายน้ำได้จึงทำให้ อิ่มเร็ว รับประทานอาหารได้น้อยลง มีผลดีต่อการลดความอ้วน อีกทั้งยังช่วยลดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดด้วย มีสารโพลิฟีนอลซึ่งช่วยป้องกันการรวมตัวของไขมันเลวกับออกซิเจนจึงมีส่วนช่วยในการป้องกันโรคหัวใจ
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอีกหลายชิ้นที่พบว่า แอปเปิ้ลไซเดอร์ ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในหนูทดลองได้ และกรดอะซิติกในน้ำส้มสายชู ยังทำให้ความดันโลหิตของหนูมีระดับลดลงได้
ขอให้เพื่อนๆ อย่าได้หลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมืออย่าส่งต่อ หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวนี้ ต่อไปยังช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ
และหากเพื่อนๆ ต้องการได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข เพื่อนไ สามารถติดตามได้ที่ www.dtam.moph.go.th หรือ โทร 02-591-7007 ค่ะ
สรุปคือ จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีงานวิจัยหรือข้อมูลทางวิชาการที่ระบุว่า การนำสมุนไพรทั้ง 4 ชนิดมารวมกันนั้น สามารถใช้ในการรักษาโรคหลอดเลือดอุดตันได้อย่างประสิทธิภาพ หรือไม่เป็นอันตรายใดๆ
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข
อ้างอิงจาก: https://www.antifakenewscenter.com/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-สูตรส-2/
www.dtam.moph.go.th