พายุ มีกี่ประเภท
วันนี้มาสาระอีกและ ประเภทและชื่อเรียกของพายุจะแตกต่างกันไปความเร็วลมและสาเหตุการเกิดพายุ โดยแบ่งพายุได้เป็น 3 ประเภทด้วยกันนะครับ
พายุฝนฟ้าคะนอง (Thunderstorm)
เป็นพายุที่เกิดขึ้นได้ในบริเวณที่มีอากาศร้อน และมีความชื้นมากพอสมควร โดยมากเกิดในเขตร้อนแถบเส้นศูนย์สูตร เมื่ออากาศได้รับความร้อนและลอยตัวสูงขึ้น และมี ไอน้ำในปริมาณมากพอ ประกอบกับการลดลงของอุณหภูมิ จึงเกิดการกลั่นตัวควบแน่นของไอน้ำ เกิดเป็นพายุ ฝนฟ้าคะนอง มักจะมีทั้งลมแรง ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง และมีฝนตกหนัก เกิดขึ้นพร้อมกัน
พายุหมุนเขตร้อน (Tropical cyclone)
เป็นพายุหมุนที่เริ่มก่อตัวจากหย่อมความกดอากาศต่ำที่เกิดขึ้นในเขตร้อนบริเวณเส้นศูนย์สูตร โดยมากมักเกิดบริเวณผิวน้ำทะเลและมหาสมุทรที่มีอุณหภูมิของน้ำสูงกว่า 27 องศาเซลเซียส มีลักษณะเป็นพายุหมุนขนาดใหญ่ ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 100 กม. ขึ้นไป เกิดขึ้นพร้อมกับลมที่พัดรุนแรงมาก ลมที่พัดเวียนเข้าหาศูนย์กลางจะมีทิศทางการหมุนทวนเข็มนาฬิกาหากเกิดเหนือเส้นศูนย์สูตร และจะหมุนตามเข็มนาฬิกาหากเกิดใต้เส้นศูนย์สูตร ยิ่งใกล้ศูนย์กลางลมจะหมุนเกือบเป็นวงกลมและมีความเร็วสูงที่สุด อยู่ที่ประมาณ 120 – 200 กม. / ชม.
ในการพิจารณาความรุนแรงของพายุ จะใช้เกณฑ์ความเร็วลมสูงสุดที่บริเวณใกล้ศูนย์กลางพายุ แบ่งได้เป็น
พายุดีเปรสชั่น (Tropical depression) เกิดขึ้นจากพายุโซนร้อนที่มีความเร็วลดลง โดยมีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางไม่ถึง 63 กม./ชม. (34 นอต) ก่อให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองธรรมดาหรือฝนตกหนัก มีลมกรรโชกแรงเป็นครั้งคราว มีกำลังไม่แรงพอที่จะทำลายบ้านเรือนได้ แต่ถ้ามีฝนตกหนักมากๆ อาจจะทำให้เกิดน้ำท่วมได้ พายุระดับนี้จะเห็นเป็นกลุ่มเมฆหนาทึบ เป็นวงกลม ยังไม่มีแนวขดเป็นเกลียว หรือ ตาพายุ ชัดเจน
พายุโซนร้อน (Tropical storm) เกิดขึ้นเมื่อพายุหมุนเขตร้อนขนาดใหญ่อ่อนกำลังลงขณะเคลื่อนตัวในทะเล และความเร็วที่จุดศูนย์กลางลดลงเมื่อเคลื่อนเข้าหาฝั่ง มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง 63 กม./ชม.ขึ้นไป (34 นอต) แต่ไม่ถึง 118 กม./ชม. (64 นอต) มีกำลังแรงพอที่จะทำลายบ้านเรือนที่มีโครงสร้างไม่แข็งแรงได้ รวมทั้งทำให้กิ่งไม้หักโค่น และทำให้เกิดน้ำท่วมได้ ฝนที่ตกอย่างหนักทั้งวันทั้งคืนอาจทำให้เกิดน้ำป่าและแผ่นดินถล่มได้ พายุระดับนี้อาจเริ่มเห็นเกลียวแขนของกลุ่มเมฆบ้าง
พายุไต้ฝุ่น หรือ เฮอริเคน (Typhoon or Hurricane) มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางตั้งแต่ 118 กม./ชม. ขึ้นไป (64 นอต) มีระดับความรุนแรงมากที่สุด สามารถทำให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเรือน อาจทำให้เสาไฟฟ้าหักโค่น เกิดไฟฟ้าช็อตหรือเพลิงไหม้ได้ ในทะเลมีคลื่นลมแรงจัดมาก เป็นอันตรายต่อการเดินเรือ โดยเฉพาะเรือเล็ก และอาจมีคลื่นใหญ่ซัดชายฝั่ง ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นมากจนท่วมอาคารบ้านเรือนริมทะเลได้ พายุระดับนี้มักจะเกิด “ตาพายุ” ขึ้นตรงศูนย์กลางพายุ เป็นบริเวณที่มีความกดอากาศต่ำมากที่สุด ลมสงบ ท้องฟ้าโปร่ง อาจมีเมฆและฝนบ้างเล็กน้อย ส่วนรอบๆ จะเป็นบริเวณที่มีลมพัดแรงจัด มีเมฆครึ้ม มีฝนตกพายุรุนแรง
สำหรับพายุหมุนเขตร้อนที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นพายุดีเปรสชัน เนื่องจากพายุได้อ่อนกำลังลงก่อนถึงประเทศไทย ส่วนพายุที่มีกำลังแรงขนาดพายุโซนร้อนหรือไต้ฝุ่นมีโอกาสเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยน้อยมาก พายุเริ่มเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป และเดือนตุลาคมเป็นเดือนที่พายุมีโอกาสเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยมากที่สุด รองลงไปคือเดือนกันยายน พายุหมุนเขตร้อนระดับโซนร้อน และไต้ฝุ่นนั้นจะมีชื่อเรียกต่างกันตามบริเวณที่เกิดขึ้น • พายุไต้ฝุ่น (Typhoon) เป็นชื่อพายุหมุนที่เกิดทางทิศตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ เช่น บริเวณทะเลจีนใต้ อ่าวไทย อ่าวตังเกี๋ย ประเทศญี่ปุ่น
• พายุไซโคลน (Cyclone) เป็นชื่อพายุหมุนที่เกิดในมหาสมุทรอินเดีย เหนือ เช่น บริเวณอ่าวเบงกอล ทะเลอาหรับ
• พายุวิลลี-วิลลี (Willy-Willy) เป็นชื่อพายุที่เกิดบริเวณทะเลติมอร์และทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลีย (บริเวณทะเลเมติเตอร์เรเนียนและหมู่เกาะต่างๆ)
• พายุบาเกียว (Baguio) เป็นชื่อพายุหมุนที่เกิดในหมู่เกาะฟิลิปปินส์
• พายุเฮอร์ริเคน (Hurricane) เป็นชื่อเรียกพายุหมุนที่เกิดบริเวณทิศตะวันตกของมหาสมุทรแอตแลนติก เช่น บริเวณฟลอริดา สหรัฐอเมริกา อ่าวเม็กซิโก ทะเลแคริบเบียน เป็นต้น รวมทั้งมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณชายฝั่งประเทศเม็กซิโก โดยความเร็วลมของพายุเฮอร์ริเคน แบ่งตามสเกลเฮอร์ริเคนของแซฟเฟอร์-ซิมป์สัน เป็น 5 ระดับ ดังนี้
ระดับ 1 มีความเร็วลมอยู่ที่ 119-153 กม./ชม.
ระดับ 2 มีความเร็วลมอยู่ที่ 154-177 กม./ชม.
ระดับ 3 มีความเร็วลมอยู่ที่ 178-209 กม./ชม.
ระดับ 4 มีความเร็วลมอยู่ที่ 210-249 กม./ชม.
ระดับ 5 มีความเร็วลมอยู่ที่ 250 กม./ชม. ขึ้นไป
พายุทอร์นาโด (Tornado)
หรือ พายุงวงช้าง เป็นพายุที่เกิดขึ้นจากลมร้อนและลมเย็นมาเจอกันและก่อตัวให้เกิดลมหมุน เกิดได้ทั้งบนบกและทะเล ส่วนใหญ่เกิดบนบกประมาณร้อยละ 90 ทอร์นาโดสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกทวีปและในหลายประเทศ แต่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาพบบ่อยกว่าที่อื่น เนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่สามารถก่อให้เกิดลมร้อนและไอเย็นปะทะกันบริเวณทุ่งราบ โดยเฉพาะบริเวณที่ราบทางตอนกลางของสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่รัฐเทกซัส (Texas) ไปจนถึงรัฐเซาท์ดาโกต้า (South Dakota) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ รู้จักกันในชื่อ “ช่องทางทอร์นาโด” (Tornado Alley)
ทอร์นาโดสามารถเกิดขึ้นได้ในหลายลักษณะ โดยลักษณะที่พบได้บ่อยสุดคือลักษณะรูปทรงกรวย พายุจะก่อตัวจากก้อนเมฆ และหมุนตัวยื่นลงมาบนผืนดินในลักษณะเป็นกรวยเกลียว มีขนาดเนื้อที่เล็กหรือเส้นผ่านศูนย์กลางน้อย ประมาณ 50-500 เมตร แต่หมุนด้วยความเร็วสูง โดยความเร็วที่จุดศูนย์กลางสูงจะมากกว่าพายุหมุนอื่นๆ ซึ่งอาจเร็วถึง 500 กม./ชม. นับเป็นพายุหมุนที่มีความรุนแรงที่สุดและอันตรายมากที่สุด ไม่สามารถคาดการณ์การเกิดทอร์นาโดล่วงหน้าได้นาน แม้ว่าพายุชนิดนี้จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่นาน ประมาณ 1-2 ชั่วโมง แต่ก่อความเสียหายระดับรุนแรง ในบริเวณที่พายุพัดผ่านสามารถกวาดยกบ้านเรือนทั้งหลังให้พังทลายได้
โดยความเร็วลมของพายุทอร์นาโด แบ่งตาม Fujita scale เป็น 5 ระดับ คือ
พายุ F0 ความเร็วลม 64-116 กม./ชม.
พายุ F1 ความเร็วลม 117-180 กม./ชม.
พายุ F2 ความเร็วลม 181-253 กม./ชม.
พายุ F3 ความเร็วลม 254-332 กม./ชม.
พายุ F4 ความเร็วลม 333-418 กม./ชม.
พายุ F5 ความเร็วลม 419-512 กม./ชม.
ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับ “พายุ” ในบทความนี้ น่าจะพอให้เราเข้าใจแล้วว่า พายุไต้ฝุ่น เฮอร์ริเคน ไซโคลน กับทอร์นาโด เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ไม่สับสนแล้วเน๊อะ
สรุปสั้นๆ จำง่ายๆ ได้ว่า พายุหมุนเขตร้อนมีชื่อเรียกต่างๆ กัน ขึ้นกับระดับความแรงหรือความเร็วในการหมุนรอบจุดศูนย์กลาง และแหล่งกำเนิด
พายุดีเปรสชั่น < พายุโซนร้อน < พายุไต้ฝุ่น (เกิดบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก)
พายุไซโคลน (เกิดบริเวณมหาสมุทรอินเดีย)
พายุเฮอร์ริเคน (เกิดบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติก)
และนี่ก็เป็นความรู้เล็กๆ น้อยๆ ที่เอามาฝากกัน เพื่อไม่ให้พลาดเรื่องราวดีๆ ติดตามแอดมินและเรื่องราวอื่นๆ ได้ที่ https://bit.ly/3pXITAd