ปิณฺฑปาต
ปิณฺฑปาต หมายถึง การบิณฑบาต, การยังก้อนข้าวให้ตกไป (ในบาตร) เป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยเครื่องอาศัยของเพศบรรพชิตที่เรียกว่า “นิสสัย” ประกอบด้วยกิจ ๔ ประการ ได้แก่ เที่ยวบิณฑบาต ๑ นุ่งห่มผ้าบังสุกุล ๑ อยู่โคนต้นไม้ ๑ และฉันยาดองด้วยนำมูตรเน่า เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้ายังทรงบำเพ็ญตนเพื่อที่จะให้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ณ ตำบลอุรุเวลา ในวันวิสาขบูรณมี นางสุชาดา ผู้เกิดในครอบครัวของเสนานีกฎุมพี ชาวบ้านเสนาคม ตำบลอุรุเวลา นางปรารถนาที่จะบวงสรวงเทวดาด้วยการถวายข้าวปายาส เห็นพระองค์ประทับอยู่ที่โพธิพฤกษ์ สำคัญว่าเป็นเทวดาจึงนำข้าวปายาสเข้าไปถวาย ขณะนั้นบาตรของพระองค์หายไปจึงทรงรับเอาถาดนั้นด้วยพระหัตถ์ เมื่อเสวยข้าวปายาสหมดแล้วทรงลอยถาดลงในแม่น้ำเนรัญชรา เป็นบิณฑบาตแรกที่ทรงบริโภคก่อนที่จะตรัสรู้อนุตรสัมโพธิญาณ ส่วนบิณฑบาตที่ทรงบริโภคแล้วเสด็จปรินิพพาน คือ ปัจฉิมบิณฑบาตที่นายจุนทกัมมาบุตรถวาย พระพุทธเจ้าทรงกล่าวว่า อานิสงส์ของบิณฑบาตทั้ง ๒ นี้ มีอานิสงส์ใหญ่กว่าบิณฑบาตทั้งหลาย อานิสงส์ของการถวายข้าวบิณฑบาตในคัมภีร์วิมานวัตถุ พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เรื่อง ภิกขาทายกวิมาน กล่าวว่า ในสมัยที่พระพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันวิหาร กรุงราชคฤห์ มีภิกษุรูปหนึ่ง เดินทางไกลเข้าไปสู่ตำบลหนึ่งแล้วยืนอยู่ใกล้เรือนหลังหนึ่ง บุรุษผู้อยู่ในเรือนนั้นกำลังล้างมือล้างเท้าเพื่อจะบริโภค ครั้นเห็นภิกษุนั้น ก็นำกับข้าวและข้าวสวยที่ตนจะบริโภคเกลี่ยลงในบาตรของภิกษุนั้น ภิกษุว่าให้แต่เพียงส่วนเดียวเถิด แต่บุรุษนั้นถวายทั้งหมด ภิกษุกล่าวอนุโมทนาแล้วกลับไป ชายผู้นั้นเกิดความปีติในกุศลของตน เมื่อตายไป ก็ได้ไปบังเกิดในวิมานทอง ๑๒ โยชน์ มีห้อง ๗๐๐ ห้อง เสาล้วนแก้วไพฑูรย์ ปูเครื่องลาดอันงดงามในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์