“คลองปานามา” ผลงานการก่อสร้างและวิธีการทำงานที่น่าทึ่งของมนุษยชาติ
“คลองปานามา” คือคลองเดินเรือสมุทรความยาว 77 กิโลเมตร ที่เชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรแอตแลนติกเข้าด้วยกัน ซึ่งช่วยร่นระยะในการเดินเรือได้มากถึง 22,500 กิโลเมตร
คลองปานามา เป็นเส้นทางที่ถูกใช้งานทุกวันเพื่อเชื่อมต่อ 160 ประเทศและ 1,700 ท่าเรือเข้าด้วยกัน ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของความยิ่งใหญ่และความก้าวหน้าทางสถาปัตยกรรมในศตวรรษที่ 20
ประวัติศาสตร์โดยย่อ
ไอเดียในการสร้างคลองปานาเกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปีค.ศ.1513 เมื่อนักเดินทางชาวสเปน Vasco Nunez de Balbao ค้นพบคอคอดปานามา ที่สามารถเชื่อมต่อระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรแอตแลนติกได้
หลายทศวรรษต่อมา จักรพรรดิคาร์ลที่ 5 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ พยายามริเริ่มโครงการนี้แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ
หลังจากนั้นหลายประเทศก็พยายามยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ แทรกแซง และดำเนินการ จนมีการดำเนินการก่อสร้างขึ้นครั้งแรกโดยบริษัทสัญชาติฝรั่งเศสภายใต้การบริหารของ Ferdinand de Lesseps แต่ก็ล้มเหลวเนื่องจากเกิดการระบาดของไข้มาลาเรีย
ต่อมาสหรัฐฯ ได้เข้ามาดำเนินการจนแล้วเสร็จโดยออกแบบใหม่ให้มีประตูอยู่ 2 จุดทางฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรแอตแลนติก เป็นประตูน้ำแบบ 3 ส่วน เมื่อสร้างเสร็จก็กลายเป็นคลองและประตูน้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกทันที
ระบบวิศวกรรม
คลองปานามาเปิดใช้งานได้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 1914 นับเป็นหนึ่งในโครงการวิศวกรรมที่ใหญ่ที่สุดและยากลำบากที่สุด สหรัฐฯ ตัดสินใจสร้างเป็นคลองที่มีประตูกั้นน้ำเป็นระยะ ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องความแตกต่างของระดับน้ำทะเล มีการค้นคว้าและทดลองระบบวิศวกรรมหลากหลายรูปแบบเพื่อค้นหาสิ่งที่เหมาะสมที่สุด
คลองปานามาสามารถควบคุมระดับน้ำให้สูงหรือต่ำกว่าระดับน้ำทะเลได้เพื่อให้เรือเดินทางไปได้ทีละขั้นด้วยการยกตัวเรือและเปิดประตู โดยเรือที่เข้ามาจากมหาสมุทรแอตแลนติกจะแล่นเข้ามาในคลองที่อยู่ระดับเดียวกันกับน้ำทะเล จากนั้นก็เข้าไปในทะเลสาบ Gatun และค่อยๆ เคลื่อนสูงขึ้นไปอีก 3 ขั้น
เมื่อเดินทางผ่าน Culebra Cut และสิ้นสุดลงที่ Pedro Miguel ก็จะขึ้นไปอีก 2 ขั้นเพื่อให้อยู่ในระดับเดียวกับน้ำทะเลที่ Miraflores
ปัจจุบันค่าธรรมเนียมในการผ่านทางสำหรับเรือขนาดใหญ่ที่สุดอยู่ที่ 14 ล้านบาท และในแต่ละปีมีเรือแล่นผ่านคลองปานามาทั้งสิ้นประมาณ 17,500 ลำ สร้างความมั่งคั่งให้กับพื้นที่โดยรอบใกล้เขตคลองอย่างมหาศาล
CC 2019 Wonderfulengineering