ร้านหนังสือดังปัตตานีเลิกกิจการ หลังยอดขายหดเหลือ 600-700 บาท
5 กุมภาพันธ์ 2562 เพจดังของเมืองปัตตานี เพจ Patani NOTES ได้เผยแพร่ข่าวที่น่าตกใจของเหล่าบรรดาคนรักหนังสือในเมืองปัตตานี โดยระบุว่า
ขายร้านหนังสือดัง “ปานทิพย์บุ๊คเซ็นเตอร์” บทสะท้อนภาพร้านหนังสือที่กำลังหายไปจากปัตตานี
โดย ซาฮารี เจ๊ะหลง
หากพูดถึงร้านหนังสือในเมืองปัตตานี คงมีไม่กี่ร้านที่พอจะนึกถึงได้สำหรับคนที่รักการอ่าน อาทิ ร้านหนังสือสุไลมาน ถนนปรีดา อาเนาะรู ร้านหนังสือกรุงทองที่ตลาดโต้รุ่งปัตตานี ร้านหนังสือมิตรภาพที่ยังขายหนังสือตำราเรียนศาสนา ร้านหนังสือบีทูเอสในบิ๊กซีปัตตานีซึ่งย้ายออกไปแล้ว ร้านหนังสือบูคูซึ่งก็ไม่ได้ขายหนังสือในเชิงธุรกิจมากนัก ส่วนร้านที่เป็นที่รู้จักของนักเรียนนักศึกษาก็คือร้านหนังสือต้นไผ่ที่ถนนเจริญประดิษฐ์ (สายมอ.) และร้านหนังสือปานทิพย์บุ๊ค เซ็นเตอร์ ปัตตานี ที่ตั้งอยู่ตรงสี่แยกถนนถนนปรีดา เมืองปัตตานี
ร้านปานทิพย์บุ๊ค เซ็นเตอร์นี้ เมื่อก่อนคือร้านหนังสือคณาสาร วัยรุ่นในสมัยก่อนถ้าใครเคยไปดูหนังที่โรงภาพยนต์พาราไดส์ก็คงต้องเคยแวะเข้าร้านปานทิพย์บุ๊ค แต่วันนี้ร้านหนังสือปานทิพย์บุ๊คติดประกาศขายแล้ว
ปานทิพย์ แผ้วสะอาด เจ้าของร้านกับสามีคู่ชีวิตเปิดใจคุยกับ Patani NOTES ถึงเรื่องราวของร้านหนังสือแห่งนี้ว่า ชะตากรรมของร้านของพวกเขาไม่ได้ต่างไปจากร้านอื่นๆในปัจจุบัน มันเป็นผลกระทบที่ชัดเจนมากของการเปลี่ยนแปลงของวิธีการสื่อสารสมัยใหม่ที่ทำให้คนเสพการอ่านแตกต่างออกไป เธอบอกว่าตั้งแต่โซเชี่ยลมีเดียเข้ามา คนรุ่นอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปแม้จะยังอ่านหนังสืออยู่ แต่รุ่นอายุ 40 ปีลงไปเริ่มจะไม่อ่านหนังสือกันแล้ว คนที่ยังเข้าร้านหนังสือคือพวกอาวุโสคนที่ไม่ค่อยเล่นโซเชี่ยลมีเดียหรือเล่นไม่เป็น
“โซเชี่ยลมีเดียเข้ามาเร็วมากจนทำให้ร้านหนังสือตั้งหลักไม่ถูก ไม่คิดว่ามันจะมาเร็วขนาดนั้นไง จากยอดขายร้อยเปอร์เซนต์ลดลงเหลือประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ คือลดลงเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อก่อนเราขายได้วันละ 13,000 บาท เฉพาะวันจันทร์ถึงวันพฤหัส ส่วนวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ 20,000 กว่าบาท แต่ตอนนี้เราขายได้เหลือแค่วันละ 600-700 บาท หรือบางวัน 400-500 บาท มันหนักมาก นี่คือความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ถ้าไม่เชื่อมานั่งตรงนี้จนถึงเที่ยงจะรู้เลยว่ามันคือเรื่องจริง” ปานทิพย์กล่าว
ส่วนสามีของปานทิพย์เสริมว่า ตอนนี้ร้านหนังสือล้มหายตายจากกันไปเป็นจำนวนมาก เช่นร้านบีทูเอส ในบิ๊กซีปัตตานี ร้านหนังสือแพร่วิทยาในหาดใหญ่ ร้านนายอินทร์หน้าห้างโรบินสันหาดใหญ่เหลือพนักงานอยู่สองคน “ผมเข้าไปเมื่ออาทิตย์ที่แล้วเหมือนผีหลอกเลย ลูกน้องออกหมดเลย นิตยสารจบแล้ว ขายไม่ได้เลย ที่ยังขายได้อยู่ เป็นหนังสือประเภทคู่มือเรียน กุญแจเคล็ดลับของวิชาเรียน หนังสือพิมพ์ วิเคราะห์แล้วคิดว่าไม่น่าจะเกินสองปีนี้น่าจะไม่มีคนอ่าน เพราะข่าวมันล่าช้า คนที่อ่านส่วนใหญ่เป็นผู้บริโภคสื่อที่อายุมากแล้ว มีปัญหาด้านสายตา และต้องการอ่านรายละเอียด บางคนมานั่งสไลด์อ่านบางทีมันไม่สะดวก เขาอยากอ่านแบบสบายตา มันคนละอารมณ์กับสไลด์บนสมาร์ทโฟน”
ปานทิพย์และสามีบอกว่า พวกเขาประกาศขายบ้านแต่ไม่ได้ขึ้นป้ายว่าขายบ้านพร้อมกิจการหรือเซ้งร้าน “เราไม่อยากหลอกคนซื้อ เพราะหนังสือมันขายไม่ได้อยู่แล้ว เราจะค่อยๆ ทะยอยเลิก คิดว่าเราอาจจะย้ายหนังสือออกไปเช่าห้องเล็ก ๆ แล้วก็อาจเปิดซุ้มกาแฟ มีชั้นวางหนังสือบริการ น่าจะเป็นเพียงแค่นั้น คล้าย ๆ หน้าร้านขายหนังสือเก่า ที่สวนจตุจักร กรุงเทพ”
“เราก็ไม่คาดคิดว่าชีวิตจะมาถึงจุดนี้ เราทำร้านหนังสือหรูติดแอร์ตกแต่งหมดเป็นล้าน มีรายได้ปกติต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว อยู่ ๆ รายได้มันฟุบลงดิ่งเลย เราไม่มีอารมณ์จะทำอะไรแล้วมีแต่เครียด เราไม่รู้จะไปทำอะไรไม่คิดเลยว่าจะมีวันนี้กับเขา มันมาเร็วเหลือเกิน”
ปานทิพย์บอกว่า ร้านหนังสือทุกร้านในปัตตานีมีปัญหาเหมือนกันหมด ยอดขายร่วงอย่างหนัก เธอบอกว่าร้านเคยทำยอดขายแต่ละเดือนประมาณ 300,000 บาท ขณะนี้ลดเหลือ 30,000 “ตอนที่หนังสือขายดี เราซื้อเบนซ์มาขับผ่อนแค่สามปี ธุรกิจหนังสือทรุดผ่อนยังไม่หมด ต้องขายรถทิ้ง เราเป็นเอเย่นต์ในจังหวัด แต่ละปีบริษัทจะเรียกเข้าประชุมที่กรุงเทพฯ เวลาไปประชุม เอเย่นต์แต่ละจังหวัดรวยกันทุกคน ขับเบนซ์ไปกันเกือบทุกคน การเป็นเอเย่นต์หนังสือของจังหวัดมันรวยแน่นอนอยู่แล้ว ขนาดร้านเราไม่ใช่ใหญ่ แล้วคนที่ทำร้านใหญ่จะรวยแค่ไหนนึกภาพออกไหม”
ปานทิพย์ เล่าว่า เธอก็ “มาแบบเสื่อผืนหมอนใบ” เหมือนคนอื่น เมื่อประมาณ 23 ปีก่อนหน้านี้ เจ้าของแผงหนังสือเก่าเซ้งร้านให้ เธอนำมาทำแผงขายหนังสือ ครั้งแรกเปิดที่ปาลัส อำเภอมายอ จากนั้นจึงไปเปิดในตัวเมืองปัตตานี ซึ่งก็คือร้านหนังสือคณาสาร อยู่บนเส้นเดียวกับสถานีตำรวจเมืองปัตตานี เธอซื้อบ้านห่างกันไปสองช่วงตึก ลงทุนไปหลายล้านเพื่อจะทำร้านหนังสือสองชั้น ส่วนชั้น 3-4 เป็นบ้านพักอาศัย ตอนนี้ติดประกาศขายไปตั้งแต่ช่วงปีใหม่
“เมื่อก่อนตอนเรามีรายได้ช่วงที่รุ่งเรือง มีคนมาขอซื้อบ้านพร้อมกิจการในราคา 25 ล้านบาทเราไม่คิดจะขาย เพราะเรามีรายได้สามแสนต่อเดือน แต่ตอนนี้เราจะขายบ้าน 17 ล้านคนฟังก็ยังตกใจ ทั้งๆที่ราคาจริงของร้านหนังสือที่ทำเลสี่แยกเช่นนี้ ใกล้โรงเรียนประถม โรงเรียนมัธยมชื่อดัง อีกทั้งเป็นบ้าน 4 ชั้นหากันไม่ได้ง่าย ๆ นักในปัตตานีที่จะมีคนยอมขาย เราขายบ้านก็จะจ่ายหนี้ จากนั้นจะเช่าบ้านเล็ก ๆ แถว ๆ นี้อยู่กันสองคนกับแฟน คงไม่มีแรงทำร้านหนังสือแล้ว คิดอยากจะขายข้าวแกง อาหาร จะได้ไม่ต้องไปซื้อของเขากิน”
ปานทิพย์บอกว่าสาเหตุที่ปัตตานียังมีร้านหนังสือบางร้านเหลืออยู่จนถึงทุกวันนี้ก็เพราะว่า “เราไปทำอาชีพอื่นไม่เป็น เราไม่เคยไปทำธุรกิจอื่น ก็ทำร้านหนังสือมาทั้งชีวิต แล้วจะไปย้ายเปลี่ยนเป็นธุรกิจอื่นไม่เป็น ถามว่าร้านอื่นๆ รายได้เท่าไหร่มันก็ไม่ต่างกันหรอกตอนนี้ ก็แค่หลักหมื่นต่อเดือนไม่ถึงแสนแน่นอน”
“ลองคิดดูเราเคยขายหนังสือพิมพ์เป็นพันฉบับต่อวัน ต้องมาขายแค่วันละร้อยให้หมด ฉบับละ 10 บาทยังสาหัส สมัยนั้นนิตยสารทีวีพูลเฉพาะที่ร้านเรามาสูงท่วมหัว ขายหมด หนังสือพิมพ์สปอร์ตพูล ร้านเรารับมา 400 ฉบับต่อวันขายหมด ตอนนี้เราขายเหลือ 10 ฉบับก็ยังไม่หมด ยังต้องคืนเจ้าของบริษัทเวลาเขาลงมาสายภาคใต้ เขาต้องพุ่งมาปัตตานีเลย เพราะเป็นจังหวัดที่ยอดเขาขายดี คนเล่นบอลกันเยอะ(คนแทงบอลกันเยอะ) ดูวันนี้สิ หนังสือกีฬามาถึงชั่วโมงกว่าแล้วไม่มีคนมาซื้อเลย ถ้าเป็นเมื่อก่อนนะ ลูกค้ามารอก่อนหนังสือจะมาถึงเสียอีก” เธอบอกว่า คนเข้าคิวรอสปอร์ตพูลแบบในปัตตานีนั้น ที่บ้านเกิดของเธอคือลพบุรีไม่มีปรากฎการณ์นี้
เชื่อว่าเป็นเพราะ “เด็กวัยรุ่นลพบุรีไม่มีเงิน” ส่วนที่ยังขายได้อยู่ เธอบอกว่าคือหนังสือการ์ตูน เป็นกลุ่มเล็ก ๆ ไม่เกินสิบคน “โลกมันเปลี่ยน มันมาเร็วเหลือเกิน ที่เราตัดสินใจขายบ้าน คิดมาตลอดว่าเราขายอยู่แบบนี้มันเหมือนหายใจทิ้งไปวัน ๆ สู้เราขายทรัพย์สินเก็บเงินไว้ดีกว่า”
อีกเรื่องที่ปานทิพย์กล่าวถึงคือนโยบาย 4.0 “การที่ผู้นำเน้นนโยบายเทคโนโลยีมากเกินไป ประเทศ 4.0 มันต่างกันกับเด็กญี่ปุ่นนะ เขาไม่เน้นให้เด็กเล่นโซเชี่ยลมีเดีย แต่ประเทศเขาให้เด็กอ่านหนังสือ อาจเป็นเพราะว่าเขาเคยผ่านจุดนี้มาก่อนเรา สังคมเขาอาจเบื่อแล้วเลยวกกลับมาหาหนังสือที่เป็นพื้นฐานของการหาความรู้ แต่ผู้นำของเรา 4.0 อย่างเดียว ลงอินเตอร์เน็ตหมู่บ้านอย่างเดียว ถ้าผู้นำพูดเรื่องการให้ความสำคัญกับการอ่านมากกว่านี้ก็ดี การอ่านหนังสือมันคนละเรื่องกับการพัฒนาในปัจจุบัน"
"แต่ก่อนบ้านเรามีศูนย์หนังสือประจำหมู่บ้าน หรือหนังสือพิมพ์ตั้งร้านกาแฟประจำหมู่บ้าน ที่ละสองฉบับเป็นอย่างต่ำ อย่างที่มีรัฐบาลยุคหนึ่งจะมีงบอัจฉริยะให้ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)ประจำตำบล ซึ่งจะสั่งหนังสือจากร้านเราทุกวัน เราได้ยอดขายจากส่วนนี้อยู่สามปี พอมารัฐบาลทหารเขาตัดงบส่วนนี้หมดเลย การแก้ปัญหาของรัฐบาลไม่ได้เหลียวแลคนทำร้านหนังสือเลยสักนิด มันกระทบเราซึ่งถ้าให้ยกตัวอย่างก็คล้ายกับการแก้ปัญหาห้ามใช้ถุงพลาสติกนั่นแหล่ะ ไม่เหมือนที่ฟิลิปปินส์เขาห้ามถุงพลาสติกแต่มีถุงกระดาษมาบริการให้ แต่บ้านเราผลักภาระมาให้ผู้ซื้อ”
เธอบอกว่าก่อนหนัานี้มีหน่วยงานภาครัฐที่มีนโยบายเรื่องหนังสือและการอ่าน เช่น กระทรวงมหาดไทย หน่วยงานการศึกษาของกศน. การบริหารส่วนท้องถิ่นทั้ง อบจ. และ อบต. โครงการที่เกิดขึ้นก็คือการทำที่อ่านหนังสือประจำชุมชน ต่อมารัฐตัดงบของกศน.ส่วนนี้ออก ทั้งที่จริงเธอเห็นว่ากศน.มีศักยภาพมากกว่าในเรื่องการจัดการการเรียนรู้เพราะในองค์กรมีครูอาสาทุกตำบล ขณะที่หนังสือที่อบจ. และ อบต.สั่งไว้มีปัญหาในการบริหารจัดการ
ปัจจุบันแม้ปัตตานีจะมี TK park หรืออุทยานการเรียนรู้ปัตตานี เปิดห้องสมุดและรับหนังสือจากร้าน แต่เป็นห้องสมุดที่เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนเมืองของคนที่อยู่ในเมือง “คุณลองนึกถึง ทุ่งยางแดง ไม้แก่น แม่ลาน ปะนาเระ บ้านน้ำบ่อ พ่อมิ่ง คนชนบทเหล่านี้เขาจะได้อะไรจากตรงนี้ สิ่งที่จะเข้าไปทดแทนได้แม้ไม่ใช่ TK park อย่างในเมือง คือ กศน.ในหมู่บ้าน ในตำบล แต่ละอำเภอ ไปให้คำแนะนำแนะแนวการอ่าน การเรียนรู้ในชุมชนที่ห่างไกล นโยบายของรัฐที่จะมาทำตรงยังไม่มีหรือมีน้อย มันไม่มีงบประมาณมาให้ พอมีงบขึ้นมาทหารก็เอาไปทำเอง โดยเฉพาะ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” เธอเล่าว่า เวลานี้มีปัญหาอย่างหนึ่งเกิดขึ้น นั่นคือร้านหนังสือหลายร้านรวมทั้งร้านของเธอที่รับออเดอร์หนังสือโครงการของรัฐเพื่อจัดส่งหนังสือไปยังโรงเรียนปอเนาะต่างได้รับผลกระทบเหมือนกันหมดสำหรับออเดอร์ที่ทำภายใต้งบประมาณตั้งแต่ปี 2561 จะเพราะล่าช้าหรืออะไรก็ตาม แต่ยอดค้างจ่ายปรากฎตัวไม่ต่ำกว่า 4 เดือน “คนถือปืนมาดูแลเรื่องหนังสือไม่ได้” เธอว่า
ปานทิพย์บอกว่า ต่อไปร้านหนังสือก็น่าจะลดรูปลงเหลือเป็นเพียงซุ้มกาแฟ เพราะเมื่อคนไม่อ่านผู้ผลิตก็จะเลิกผลิต นิตยสารหลายเล่มหายหน้าไปแล้ว เช่น ‘คู่สร้างคู่สม’ หนังสือ Bangkok “หนังสือที่ฮิตมากๆ สมัยก่อน คือหนังสือพวกปลุกใจเสือป่า เช่นเพลย์บอย นวลนาง แต่สมัยนี้เขาไปดูใน PornHub ดูในอินเตอร์เน็ตกันหมด หนังสือพวกนี้เลิกผลิตมาหลายปี วัยรุ่นสมัยนี้คงไม่รู้จักแล้ว”
ด้านหนังสือแนววรรณกรรม นวนิยายแปลจากต่างประเทศกลับยังอยู่ได้ แต่คนซื้อน้อยเป็นกลุ่มที่เฉพาะและเป็นกลุ่มคนอ่านงานคุณภาพ อย่างไรก็ตาม ในที่สุดแม้แต่กลุ่มนี้เองสุดท้ายก็ต้องส่งคืนเนื่องจากขายไม่ออก ผู้อ่านสั่งซื้อออนไลน์โดยตรงจากสำนักพิมพ์ มีรายการพรีออเดอร์ซึ่งลดการขาดทุน ส่วนหนังสือที่ยังขายได้คือคู่มือเด็กนักเรียน
“บางทีก็คุยกับแฟนทำไมเราไม่ตัดสินใจเด็ดขาด เลิกทำร้านหนังสือไปเลย เพราะถ้ายังเปิดอยู่ทุกวันนี้มันขาดทุน ไหนจะค่ารถขนส่งไปต่างอำเภออีก อีกทั้งยังต้องไปเก็บคืนเพราะเขาก็ขายไม่ได้ แต่พวกเขา หมายถึงเอเย่นต์ที่รับหนังสือต่อจากเรา ก็ยังอยากมีรายได้อยู่ เนื่องด้วยขายมานานเป็น 20 กว่าปีแล้ว เราตัดใจไม่ได้ ก็เลยแบบว่า ..ส่งก็ส่ง ก็ยอมขาดทุนมาตลอด และร้านปานทิพย์บุ๊คนี้ที่เปิดทุกวันเราก็ขาดทุนรายวัน”
https://www.facebook.com/Patani-NOTES-1974596986168129