วัดโบราณโผล่กลางเขื่อนอุบลรัตน์
ในช่วงแห้งแล้งจนน้ำใช้เริ่มขาดแคลนแบบนี้ ยังมีเรื่องราวดี ๆ มาแชร์ให้เพื่อน ๆ ได้ทราบกันนะคะ
ว่าด้วยเรื่องของร่องรอยทางอารยธรรมอีกหนึ่งแห่งที่ถูกจมอยู่ใต้เขื่อนจะพบว่ามีหลาย ๆ หมู่บ้านถูกจมลงใต้เขื่อนอาจเนื่องมาจากหลาย ๆ สาเหตุโดยเฉพาะเหตุการขุดสร้างเขื่อนของทางราชการอย่างเช่นการขุดอุบลรัตน์เพื่อไว้กักเก็บน้ำสำหรับให้ประชาชนไว้ใช้ทั้งในภาคครัวเรือนและภาคเกษตร ซึ่งเมื่อเข้าสู่วิกฤตของภัยแล้งในปัจจุบันทำให้ซุ้มประตูทางเข้าพระอุโบสถวัดวุฒิศิลป์ชัย บ้านโคกใหญ่ ซึ่งจมอยู่ใต้เขื่อน โดยวัดและหมู่บ้านนี้มีอายุร่วม 100 ปีหลังเดิมก่อนที่ชาวบ้านจะอพยพย้ายถิ่นฐานไปตั้งบ้านใหม่ปล่อยให้น้ำท่วมถึงหลังสร้างเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น แล้วเสร็จมานานร่วม 50 ปี ท่ามกลางความสนใจของนักแสวงบุญและนักท่องเที่ยวมุ่งหน้าไปขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคล
สืบเนื่องจากเมื่อ 55 ปีที่ผ่านมาพื้นตรงนี้เป็นหมู่บ้านโคกใหญ่ อำเภอโนนสัง จังหวัดอุดรธานี(ในขณะนั้น) ต่อมาการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้มีการสำรวจและสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำขนาดใหญ่เมื่อปี พ.ศ.2507 และสร้างเขื่อนแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2509 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จ พระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าอุบลรัตน์ราชกัญญาฯ ไปทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อนอุบลรัตน์ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ.2509 ในระหว่างที่กำลังก่อสร้างชาวบ้านโคกใหญ่ได้อพยพหนีน้ำท่วมขึ้นมาตั้งบ้านเรือนซึ่งเป็นพื้นที่สูง(โคก)แต่ยังคงตั้งชื่อว่าบ้านโคกใหญ่ สภาพทั่วไปบางปีน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์มีน้อยและมากเป็นบางปีและลดระดับลงอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่เคยท่วมถึงที่ตั้งของหมู่บ้านโคกใหญ่ในทุกวันนี้
โดยวันนี้ระดับน้ำลดลงห่างจากพื้นที่ตั้งของหมู่บ้านโนนยาว หมู่ 7 ตำบลโคกใหญ่ อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู ถึงระดับผิวน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ประมาณ 1 กม.ในขณะที่พบเห็นยอดซุ้มประตูทางเข้าพระอุโบสถโบราณที่ตั้งอยู่หมู่บ้านโคกใหญ่ในอดีต นั่งเรือไปถึงบริเวณที่พบซากพระอุโบสถเก่าแก่ ประมาณ 1 กม.ทันทีที่ผู้สื่อข่าวนั่งเรือถึงจะพบเห็นยอดของซุ้มประตูทางเข้าพระอุโบสถจำนวน 3 ซุ้ม โผล่เหนือผิวน้ำร่วม 1 เมตรโดยลักษณะที่พบเห็นสามารถมองเห็นเป็นรูปของพระพุทธรูป และรูปครุฑได้ชัดเจนก่อนเข้าไปภายในบริเวณพระอุโบสถ พร้อมพบเห็นแนวกำแพงรอบพระอุโบสถ ซึ่งก่อสร้างด้วยอิฐมอญแดงและยังคงสภาพแข็งแรงรอบพระอุโบสถ ส่วนหลังคาพระอุโบสถพังสะลายไปตามกระแสน้ำที่ท่ามขังมานานร่วม 50 ปี ขณะที่คณะที่ลงไปสำรวจสามารถยืนบนกำแพงพระอุโบสถ ความลึกของผิวน้ำประมาณ 50 ซม.
นายจันทรา บุญเลิศ อายุ 67 ปี ประธานกลุ่มออมทรัพย์ หมู่บ้านโคกใหญ่ เล่าให้ฟังว่าพระอุโบสถหลังนี้ เดิมเป็นที่ตั้งของวัดวุฒิศิลป์ชัย ซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้านโคกใหญ่ในขณะนั้น คนเฒ่าคนแก่เล่าให้ฟังว่าสมัยก่อนร่วม 80 ปีช่างก่อสร้างพระอุโบสถ เรียกว่าช่างญวนจะขนดินเหนียว หิน ทรายและอิฐมอญมาก่อสร้างพระอุโบสถวัดวุฒิศิลป์ชัย พร้อมมีพระประธานเป็นปูนซีเมนต์อยู่ภายในพระอุโบสถ โดยไม่มีการขนย้ายจากพระอุโบสถหลังนี้มาด้วย ส่วนลักษณะที่พบเห็นยอดของซุ้มประตูทางเข้าพระอุโบสถนั้นจะมีอยู่ 4 ทิศ รอบพระอุโบสถหลังเก่า โดยลักษณะของพระอุโบสถจะอยู่ในแนวหันหน้าไปทิศเหนือ-ทิศใต้ ต่อมาเมื่อย้ายมาอยู่บ้านโคกใหญ่ในปัจจุบัน ผู้เฒ่าผู้แก่ยังคงสภาพการก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่และตั้งชื่อวัดเดิมมาจนถึงทุกวันนี้
ขอขอบคุณข้อมูลเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาจากทีมข่าวอิสานเดลี่