แอบในบ้านก็ไม่รอด กรม สบส. ร่วม อย. และตำรวจ บก.ปคบ.ทลายคลินิกสายตาเถื่อน ลักลอบใช้บ้านพักเปิดให้บริการรักษา
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ทลายคลินิกสายตาเถื่อน นำที่พักมาดัดแปลงเป็นคลินิกให้บริการตรวจรักษาโรคที่เกี่ยวกับดวงตา พบผิดตั้งแต่สถานที่ ยันผู้ให้บริการ ไม่รอช้าสั่งฟันโทษทันที
5 ข้อหา
บ่ายวันนี้ (20 พฤศจิกายน 2562) นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า สืบเนื่องจากกรม สบส.ได้รับเบาะแสการประกอบกิจการคลินิกเถื่อน ในย่านภาษีเจริญ โดยนำบ้านพักมาดัดแปลงเป็นคลินิกให้บริการรักษาโรคเกี่ยวกับกับดวงตา และมีผู้เสียหายเกิดอาการตาอักเสบจากการรับบริการ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกายของประชาชน จึงต้องเร่งดำเนินการปราบปรามมิให้มีผู้เสียหายเพิ่มขึ้น ซึ่งในวันนี้ตน พร้อมกับ นางจัณฑนา จินดาถาวรกิจ ผู้อำนวยการกองกฎหมาย ผู้อำนวยการกองกฎหมาย และคณะพนักงานเจ้าหน้าที่จากกรม สบส. ได้ร่วมกับ เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา พลตำรวจตรีณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) พลตำรวจตรีณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค และพันตำรวจเอกชนันนัทธ์ สารถวัลย์แพศย์ ผู้กำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค เข้าดำเนินการกับคลินิก “พัฒนาสายตา” ตั้งอยู่ ณ ซอยเพชรเกษม 48 แยก 16 เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ โดยจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าคลินิกเถื่อนแห่งนี้ ให้บริการรักษาอาการความผิดปกติที่เกี่ยวกับดวงตา อาทิ สายตาสั้น/ยาว/เอียง ต้อหิน ต้อกระจก วุ้นในตาเสื่อม ฯลฯ ด้วยวิธีการหยอดยา ประคบยา ฝังเข็ม หรือสะกิดเส้น ฯลฯ เปิดทำการทุกวันพุธ เสาร์ และอาทิตย์ มาเป็นระยะเวลาประมาณ 2 ปี โดยมีหญิงวัยกลางคน เป็นเจ้าของสถานที่และผู้ให้บริการ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าหญิงรายดังกล่าว มิได้ขออนุญาตและขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือผู้ประกอบโรคศิลปะ อีกทั้ง ยาสมุนไพรที่ใช้ประกอบการรักษาก็ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ อย. พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ จึงแจ้งข้อหาการกับผู้กระทำผิด จำนวน 5 ข้อหา ประกอบด้วย
1)ประกอบกิจการและดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2)ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาต มีความผิดตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3)ประกอบโรคศิลปะโดยไม่ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาต มีความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.2542 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
4)จำหน่ายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท และ 5)จำหน่ายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา มีความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พร้อมนำตัวผู้กระทำผิดและของกลางที่ตรวจยึดได้ส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการในขั้นตอนต่อไป
นายแพทย์ธเรศ กล่าวต่อว่า การรับบริการทางการแพทย์ทุกชนิด จะต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน อย่าด่วนตัดสินใจรับบริการเพียงเพราะคำบอกเล่าปากต่อปาก หรือราคาที่ถูก โดยเฉพาะการรักษาอาการที่เกี่ยวข้องกับดวงตาซึ่งเป้นอวัยวะที่มีความบอบบางยิ่งต้องตรวจสอบให้ดีมิฉะนั้นอาจได้รับผลกระทบจนถึงขั้นพิการตาบอดได้ โดยจะต้องตรวจสอบหลักฐานสำคัญ 4 ประการ เพื่อยืนยันว่าเป็นสถานพยาบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งประกอบด้วย
1.ป้ายชื่อคลินิกต้องแสดงเลขที่ใบอนุญาต 11 หลัก
2.มีการแสดงใบอนุญาตเปิดกิจการคลินิก เลขใบอนุญาตต้องตรงกับเลขที่ที่ติดที่ป้ายชื่อคลินิก
3.มีการแสดงหลักฐานการชำระค่าธรรมเนียมคลินิกที่เป็นปีปัจจุบัน
4.มีการแสดงหลักฐานของแพทย์ที่ให้บริการในคลินิก โดยมี ชื่อ-นามสกุล และภาพถ่ายติดที่หน้าห้องตรวจ
โดยสามารถตรวจสอบชื่อคลินิกได้ที่เว็บไซต์สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรม สบส.(http://mrd-hss.moph.go.th) และตรวจสอบชื่อแพทย์ได้ที่เว็บไซต์แพทยสภา (https://tmc.or.th) หากไม่พบรายชื่อหรือหลักฐานไม่ครบถ้วนไม่ควรรับบริการ และหากอยู่ในเขตกรุงเทพฯให้แจ้งมาที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน กรม สบส.หมายเลขโทรศัพท์ 02 193 7057 แต่หากอยู่ในส่วนภูมิภาคสามารถแจ้งได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย