รู้ทันสาเหตุที่ทำให้เกิดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
ถ้าพูดถึง “หมอนรองกระดูก” แล้ว วัยรุ่นส่วนใหญ่อาจไม่ค่อยให้ความสนใจสักเท่าไร แต่ถ้าเริ่มทำงานไปได้สักพัก คุณจะเริ่มได้ยินคำนี้บ่อยขึ้น หรือบางทีอาจได้ยินเองจากปากของหมอ เมื่อคุณไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลก็เป็นได้
กระดูกทับเส้น (Herniated Disc) คือปัญหาเกี่ยวกับหมอนรองกระดูกอย่างหนึ่ง เกิดจากหมอนรองกระดูกที่อยู่บริเวณกระดูกสันหลังถูกทำลายจนเสียหาย ส่งผลให้ไปกดทับเส้นประสาท จึงเรียกว่าหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทกระดูกสันหลัง ประกอบด้วยกระดูกหลายชิ้นเชื่อมต่อกันด้วยหมอนรองกระดูก และข้อต่อกระดูกสันหลัง โดยที่ตัวกระดูกสันหลังทำหน้าที่ปกป้องไขสันหลัง ส่วนหมอนรองกระดูกทำหน้าที่เหมือนกับโช๊คอัพของรถยนต์ คือทำให้กระดูกสันหลังยืดหยุ่นและรับแรงกระแทกของน้ำหนักตัวจากการเคลื่อนไหว ดังนั้นการใช้งานหนักในชีวิตประจำวัน หรืออายุที่เพิ่มขึ้น ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทหรือหมอนรองกระดูกเสื่อมสภาพได้ โดยหมอนรองกระดูกที่พบว่ามีปัญหาบ่อยที่สุดคือ หมอนรองกระดูกสันหลังระดับเอวข้อที่ 4-5 เนื่องจากเป็นข้อต่อระดับที่มีการเคลื่อนไหว และรับน้ำหนักมากในร่างกายเมื่อหมอนรองกระดูกมีสภาพเสื่อม ความสูงของหมอนรองกระดูกลดลง และมีการฉีกขาดของเนื้อเยื่อหมอนรองกระดูก ทำให้แกนหมอนรองกระดูกหลุดรอดมาภายนอก และกดทับเส้นประสาทไขสันหลังได้
พฤติกรรมเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
- ก้มๆ เงย ๆ บ่อย ๆ หรือมากเกินไป
- ยกของหนักซ้ำ ๆ ท่าเดิม ๆ และไม่ระมัดระวัง
- ผู้ที่มีอาชีพที่ต้องทำงานอยู่ในบริเวณที่มีการสั่นสะเทือนบ่อย ๆ เช่น เขตก่อสร้าง
- ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก
- อยู่ท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานานเกินไป โดยไม่มีการปรับเปลี่ยนอิริยาบถ เช่น ผู้ที่ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์นานเกินไป
- อยู่ในช่วงอายุวัยชรา หรืออายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป
- ขาดการออกกำลังกายเป็นประจำ
- สูบบุหรี่จัด
จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมเหล่านี้อาจจะผลให้เกิดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เพราะฉะนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดที่จะเหลีกเลี่ยงพฤติกรรมดังกล่าวก็คือการหันมาใส่ใจสุขภาพตัวเองมากขึ้น คือการออกกำลังกาย ถ้าเรามีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงหมั่นดูแลสุขภาพตัวเองก็อาจจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้ครับ