โรงเรียนอินเดียไอเดียเด็ด ให้นักเรียน "จ่ายค่าเรียนด้วยขยะพลาสติก"
โรงเรียนอินเดียไอเดียเด็ด ให้นักเรียน "จ่ายค่าเรียนด้วยขยะพลาสติก" ลดการเผาขยะ ปลูกจิตสำนึก สร้างทักษะอาชีพ-เสริมรายได้ เปลี่ยนเมืองไปตลอดกาล🌿
โรงเรียนอักชาร์ ฟอรั่ม ในรัฐอัสสัมของอินเดีย มีวิธีแก้ไขปัญหามลพิษขยะพลาสติกโดยการให้เด็กนักเรียนจ่ายค่าเล่าเรียน ด้วยการต้องนำขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งจากบ้าน มาให้ทางโรงเรียนอย่างน้อย 25 ชิ้นต่อสัปดาห์
•
โดยโครงการนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ผู้ร่วมก่อตั้งโรงเรียนทราบว่ามีการเผาขยะพลาสติกที่บ้านของเด็ก ๆ เพื่อสร้างความอบอุ่นในหน้าหนาว ทำให้เกิดฝุ่นควันไปทั่ว รวมถึงในห้องเรียน และมีสารพิษอันตรายต่อสุขภาพ
•
"เราตัดสินใจเก็บพลาสติกจากนักเรียน เพราะว่านั่นเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้ เราได้ยินนักเรียนบอกว่า พวกเขาเผาพลาสติกเกือบทุกวันในช่วงหน้าหนาว นักเรียนต้องมาอยู่ใกล้ ๆ กองไฟ เพื่อรับความอบอุ่น เราก็เลยทำเป็นข้อบังคับ" ปาร์มิตา ชาร์มา ผู้ร่วมก่อตั้ง โรงเรียนอักชาร์ ฟอรั่มกล่าว
•
โรงเรียนได้มีโครงการให้นักเรียนทำสิ่งก่อสร้างจาก Eco-Brick ขึ้นมา ด้วยการนำเศษขยะยัดเข้าไปในขวดพลาสติก โดยทางโรงเรียนมีแผนสร้าง ทางเดินเชื่อมต่อจากขยะพลาสติกนี้
•
"นักเรียนมีความตระหนัก ตอนนี้พวกเขารู้แล้วว่า พลาสติกไม่ดีต่อสุขภาพ การเผาพลาสติกไม่ดี พวกเขาคุยกับพ่อแม่เกี่ยวกับผลเสียต่าง ๆ และพ่อแม่ก็เริ่มเข้าใจ" ปาร์มิตา กล่าว
•
โรงเรียน อักชาร์ ฟอรั่ม เป็นโรงเรียนที่ดำเนินการเรียนการสอนโดยผสมผสานการศึกษาแบบทั่วไปกับการฝึกอาชีพ เพื่อให้เด็กได้รับความรู้ครบถ้วน ทั้งการติดตั้งแผงโซลาร์ ให้เด็กทดลองเป็นครู เรียนรู้เทคโนโลยี การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การทำกิจกรรมพลเมืองดูแลชุมชน การทำธุรกิจสร้างรายได้ ไปจนถึงการทำวงจรไฟฟ้า ซึ่งโรงเรียนนี้เป็นแนวคิดของคู่รักที่ใช้ชีวิตในรัฐอัสสัม
•
เด็กด้อยโอกาสจำนวนมากต้องเลิกเรียนกลางคัน เพื่อมาหาเงิน แต่โรงเรียนแห่งนี้ หาทางให้พวกเขาหาเงินได้ พร้อมกับได้เรียนไปด้วย อย่างการที่พวกเขาจ้างเด็กโตเป็นรายชั่วโมงให้สอนเด็กที่เล็กกว่า
•
หลักสูตรฝึกอาชีพของทางโรงเรียน ก็มีส่วนช่วยให้เด็ก ๆ มีทักษะในงานด้านต่าง ๆ
•
ปาร์มิตา กล่าวว่า "เราหวังว่า พวกเขาจะมีทักษะมากพอที่จะยืนด้วยลำแข้งของตัวเองได้ เรากำลังพยายามพัฒนาแบบจำลอง ซึ่งเราเริ่มจากให้การศึกษา ไปจนถึงการจ้างงาน"
•
ช่วงแรกมีเด็กมาเรียนที่นี่ 20 คน ปัจจุบัน มีนักเรียนกว่า 100 คน เรียนในกระท่อมไม้ไผ่เหล่านี้ ทั้งคู่หวังว่า จะนำแบบจำลองนี้ ไปทำในพื้นที่อื่นทั่วอินเดีย
แหล่งที่มา: https://www.facebook.com/environman.th