ธรรมะสำหรับคนทำงานเพื่อแบ่งเบาความทุกข์ที่เกิดในใจ
การงานคือหน้าที่ที่ต้องทำ ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งในการบรรยายธรรมะว่า "การงานมันแปลว่า สิ่งที่ต้องทำ หรือควรกระทำ หรือระบุได้เลยว่า ต้องทำ ถ้าไม่ทำการงานมันก็คือตาย ไม่ทำการงาน อยู่เฉย ๆ เท่านั้นแหละ มันก็ไม่ต้องกินอะไร แล้วมันก็ต้องตาย" ชัดเจนว่าการทำงานเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนชีวิตของมนุษย์ ไม่ว่าจะยากดีมีจนแค่ไหนก็จำเป็นต้องหาเลี้ยงชีพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คนที่ไม่มีปัญหาคือคนที่ไม่ทำอะไรเลย แม้ว่าเราทุกคนจะได้ค่าตอบแทนเป็นของขวัญ แต่บ่อยครั้งคนเราก็เป็นทุกข์เพราะการทำงาน ด้วยสาเหตุหลาย ๆ อย่าง บ้างก็ไม่พอใจเพื่อนร่วมงาน บ้างก็ไม่พอใจเงินเดือน บ้างก็ไม่ชอบในเนื้องานที่ทำอยู่ ฯลฯสารพันปัญหาที่เกิดขึ้น ก็ต้องการการแก้ไข การคลายปมให้ลุล่วงไปได้ ท่าน ว.วชิรเมธี เคยชี้แนะวิธีบรรเทาความทุกข์ และปัญหาของคนทำงานไว้บางส่วนว่าเมื่อถูกนายด่า อารมณ์เสียต้องทำอย่างไร
“คนที่ด่าคนอื่นสะท้อนว่าระบบข้างในกำลังพัง คนอารมณ์เสียเพราะถูกด่า แสดงว่าระบบของตัวเองก็พังตามไปด้วย”
หากโดนดุด่า หากเราที่ได้ยินได้ฟังมันก็ต้องไม่พอใจ หากเจอแบบนี้ให้เอาอารมณ์ที่เย็นเข้าสู้ เขาแรงมา แต่เราไม่ต้องแรงกลับ ปล่อยให้เสียงดุด่าผ่านหูเราไป ส่วนไหนที่น่ารับฟัง ก็รับรู้และนำมาแก้ไขปรับปรุง หากมัวแต่ด่ากันไปมา ปัญหาที่มีก็ไม่ถูกแก้ แถมยังเพิ่มเชื้อไฟแห่งความไม่พอใจมากขึ้นไปอีกโดนเพื่อนร่วมงานแย่งซีนทำอย่างไรดี
“เขาแย่งจากเราได้เพียงแค่ซีนและภาพลักษณ์เท่านั้น แต่เขาไม่สามารถแย่งความรู้และความสามารถไปจากเราได้”
การแก่งแย่งชิงดีก็ให้ถือเป็นเรื่องธรรมดาของโลก มนุษย์เราก็ต้องแข่งขันเพื่อความอยู่รอดด้วยกันทั้งนั้น แต่ขอให้คิดเสมอว่า ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ไม่ต้องไปริษยา หรืออยากเอาชนะคนอื่น ไม่งั้นการทำงานจะเต็มไปด้วยความอยากเอาชนะ ซึ่งจะเป็นความทุกข์ในใจเราเองนั่นแหละทำงานดี มีแต่คนริษยา จะรับมืออย่างไร
“โบราณว่า ไม้ใหญ่ย่อมเจอขวานคม คนเด่นต้องมีคนด่า คนมีปัญญาจึงมีคนลองดี คนทำงานดีจึงมีคนริษยา ปรากฏการณ์เช่นว่านี้เป็นของธรรมดา ทำงานดีจนมีคนริษยา ยังดีกว่าทำงานไม่ดี จึงเป็นได้อย่างดีแค่คนที่คอยริษยา”
ธรรมะอีกหนึ่งข้อที่อยากแนะนำให้ทุกท่านได้นำไปปฏิบัติใช้ในการทำงานร่วมกับผู้อื่น คือ สังคหวัตถุ 4 หรือหลัก 4 ข้อในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ได้แก่ ทาน การรู้จัดให้ การเสียสละ รู้จักแบ่งปันเอื้อเฟื้อ ในการทำงานแน่นอนว่าบางหน้าที่เราไม่อาจทำได้เพียงลำพัง ต้องอาศัยการร่วมมือจากผู้อื่นอยู่เสมอ การยึดหลักข้อนี้จะทำให้เวลาปฏิบัติงาน เราจะไม่เห็นแก่ตัว ทำอะไรก็จะนึกถึงจิตใจคนอื่น เห็นอกเห็นใจผู้อื่น ปิยวาจา ข้อนี้สำคัญมาก เพราะการสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญระหว่างมนุษย์ด้วยการ หากการทำงานมีอุปสรรค ไม่พึงพอใจ อารมณ์โกรธเกรี้ยวโมโหย่อมเกิดขึ้นได้ แต่เราต้องรู้เท่าทันตัวเอง ไม่สบถคำหยาบคายหรือใช้อารมณ์โกรธพุ่งใส่คนอื่น การพูดจาไพเราะถนอมน้ำใจกันเป็นเรื่องที่ควรทำอย่างยิ่งไม่ว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายเพียงใดก็ตาม อัตถจริยา คือการทำตนให้เป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและส่วนรวม เป็นอีกเรื่องที่ควรยึดเป็นแนวทางปฏิบัติอันดับต้น ๆ ในการทำงานร่วมกัน หากต่างคนต่างทำหน้าที่ของตนเองได้ดี และช่วยเหลือผู้อื่นในยามที่มีโอกาส เท่านี้การทำงานก็จะเป็นไปอย่างราบรื่น สมานัตตา การเป็นคนเสมอต้นเสมอปลาย รู้จักวางตนให้เหมาะสมกับการทำงาน ปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างมุ่งมั่น ไม่อ่อนไหวไปกับการทำผิด ทำตัวเป็นเพื่อนร่วมงานที่น่ารัก น่าเคารพ ปล่อยวางคือทางออก ธรรมะข้อสุดท้ายที่ควรฝึกไว้ใช้ให้เป็นนิจ คือ การปลง หรือการปล่อยวาง เมื่อปัญหารุมเร้า หากเรายิ่งไปยึด ไปจับมัน คนที่หนักใจก็จะเป็นเราเอง ทางออกที่ดีคือต้องรู้จักอุเบกขา หรือการวางเฉย ไม่ยินดียินร้ายต่อสิ่งที่เกิดขึ้น เพียงแค่คิดว่าทุกอย่างล้วนเป็น ‘ธรรมชาติ’ เกิดขึ้นแล้วก็ดับลง ไม่ต้องยึดติด ไม่ต้องคาดหวัง แค่ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดในทุกขณะก็พอดังคำสอนของ หลวงพ่อชา สุภัทโท ที่กล่าวว่า
“หน้าที่ของเรานั้น ทำเหตุให้ดีที่สุดเท่านั้น ส่วนผลที่จะได้รับเป็นเรื่องของเขา ถ้าเราดำเนินชีวิต โดยมีการปล่อยวางเช่นนี้แล้ว ทุกข์ก็ไม่รุมล้อมเรา”
แหล่งที่มา: https://cipatha.com/concept/3551/