ทวงหนี้อย่างไร ได้ทั้ง "เงิน" ได้ทั้ง "ใจ" คนถูกทวง
มิตรภาพก่อตัวขึ้นได้ด้วยความจริงใจและต้องใช้เวลา แต่อาจพังครืนในพริบตาด้วยเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ แต่จะทำอย่างไรในเมื่อวันนี้คุณเกิดตกอยู่ในฐานะ “เจ้าหนี้” เข้าเสียแล้ว จะด้วยตั้งใจหรือไม่ก็ตามที คุณจะมีวิธี ทวงหนี้อย่างไร ให้ได้เงินคืน ยิ่งถ้าทำได้โดยไม่เสียน้ำใจกันก็ยิ่งเป็นเรื่องที่ดีและน่าสนใจไม่น้อย
1.ใจกล้าเข้าไว้ เงินของเราต้องเอากลับมา
หลายคนมักไม่กล้าเอ่ยปากถามถึงเรื่องหนี้ที่อีกฝ่ายติดค้าง เพราะเกรงใจ กลัวลูกหนี้จะโกรธ กลัวจะกระทบกระเทือนมิตรภาพและความสัมพันธ์ ยิ่งถ้าเป็นเจ้านาย เพื่อนฝูง ญาติ หรือคนรัก ยิ่งไม่กล้าทวง ในกรณีนี้ถ้าเป็นเงินจำนวนไม่มาก ไม่คุ้มแน่ๆ กับความรู้สึกที่ต้องเสียไป คุณอาจจะเลือกปล่อยผ่าน คิดว่า “ครั้งเดียวช่างมัน”
แต่หากเงินก้อนนั้นมีความหมายสำหรับคุณหรือครอบครัวคุณก็ต้องเริ่มฝึกตนเองให้มีความกล้า และทำใจแข็งให้ได้ก่อน คิดเสียว่าการให้ยืมเงินเป็นการให้ความช่วยเหลือก็จริง แต่ก็ไม่ต่างจากการทำธุรกิจ อย่างน้อยถ้าไม่มีกำไร (ดอกเบี้ย) เข้ามา ผู้ลงทุนอย่างคุณก็ควรต้องได้ทุนคืนบ้าง ไม่ใช่หนี้สูญ
2. ให้เกียรติลูกหนี้เสมอทั้งต่อหน้าและลับหลัง
ไม่ว่าลูกหนี้จะเป็นใคร สิ่งสำคัญคือต้องให้เกียรติเขาเสมอ เพราะการเป็นหนี้ไม่ได้หมายความว่าคนคนนั้นต้องถูกลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นคนลงไปด้วย เขายังมีชีวิตด้านอื่นๆ มีบทบาทในสังคมหลายด้าน เช่น เป็นผู้นำของครอบครัวมีหน้ามีตาในที่ทำงาน การเปิดเผยว่าเขาเป็นหนี้อาจทำให้เขาต้องเสียภาพลักษณ์ที่อุตส่าห์สร้างสมมานานได้
ดังนั้น ถ้าคิดจะพูดคุยเรื่องหนี้สินที่ติดค้างก็ควรทำเป็นการส่วนตัวและทำอย่างสุภาพ แต่ก็ต้องหนักแน่นในจุดยืนของเราด้วย เช่น ส่งอีเมล คุยทางโทรศัพท์ หรือพบปะกันเป็นการส่วนตัว
3. ตั้งสติ คิดให้ดีก่อนที่จะพูด
การเริ่มพูดคุยต้องมีการสร้างบรรยากาศที่ดีเพื่อลดความตึงเครียดให้ลูกหนี้ หรือถ้าเป็นเพื่อนกันก็หาจังหวะทวงถามแบบเนียนๆ เช่น คราวที่แล้วเราจ่ายไป คราวนี้เธอจ่ายให้เราบ้างนะ
แต่ถ้าหากเป็นเงินจำนวนมาก บริบทการพูดคุยก็ควรต้องเพิ่มการชื่นชมความสามารถของเขาบ้าง เพื่อเป็นการให้กำลังใจก่อนว่าด้วยความสามารถที่เขามี คุณเชื่อว่าเขาต้องปลดหนี้ได้แน่ ๆ
4. อย่าท้อแท้ ต้องอดทน เพราะฉันเองก็มีเหตุผลไม่ต่างกัน
พยายามติดตามเตือนความจำบ้างอย่าให้ห่างหาย เพราะลูกหนี้บางคนอาจมีนิสัยขี้ลืมจริงๆ ไม่ได้มีเจตนาต้องการผิดสัญญาแต่อย่างใด แต่ถ้าระยะเวลาเริ่มเนิ่นนานเกินกว่าจะรับได้ ขอให้คิดหาเหตุผลถึงความจำเป็นที่คุณต้องใช้เงินก้อนนี้มาบอกพูดกันอย่างตรงไปตรงมา เช่น ถ้าไม่ได้เงินก้อนนี้คืน ครอบครัวเราต้องเดือดร้อนแน่ๆ ถึงคราวที่เธอต้องช่วยฉันแล้ว (เป็นการวัดใจไปในตัว)
5. ลดความอึดอัดใจด้วยทางเลือกใหม่
อย่าเสนอลดหนี้ให้ด้วยเหตุผลว่ากลัวลูกหนี้จะหาเงินมาใช้คืนไม่ได้ เพราะการทำเช่นนั้นจะทำให้เขา “เคยตัว”มากกว่าจะคิดได้ วิธีที่เหมาะสมคือยื่นข้อเสนอให้ลูกหนี้สบายใจมากขึ้น เช่น เปิดใจคุยถึงฐานะการเงินของเขาตอนนี้ แล้วประเมินขยายเวลาชำระหนี้ออกไปให้เหมาะสม โดยมีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน หรือถ้าไม่สะดวกชำระเป็นเงินก้อนก็ขอให้เขาแบ่งจ่ายเป็นงวดๆ แทน
6. ไม่ไหวแล้วจริง ๆ ถึงเวลาต้องหาตัวช่วย
หากทำมา 5 วิธีแล้วแต่ยังไม่สำเร็จเสียที คราวนี้คงต้องมีบุคคลที่สามมาช่วยเจรจาเกลี้ยกล่อมให้เสียแล้ว ซึ่งน่าจะเป็นคนที่ลูกหนี้เกรงใจและเคารพ เช่น พ่อแม่ คนในครอบครัวของลูกหนี้ หรือเพื่อนสนิท
7. ทางสุดท้าย…กฎหมายช่วยได้เสมอ
ถ้าทำสารพัดวิธีแล้วไม่ได้ผล ยอมรับเถอะว่า “หนี้สูญแล้ว” เก็บไว้เป็นบทเรียนอันมีค่าต่อไป แต่ถ้าจำนวนเงินมากเกินกว่าจะทำใจยอมรับได้ คงถึงเวลาต้องพึ่งกฎหมายเสียที ก่อนอื่นให้โอกาสเขาสักนิดด้วยการแจ้งให้เขาทราบว่าคุณผิดหวังในตัวเขามากแค่ไหน และกำลังจะดำเนินการอะไรต่อไปถ้าคำตอบคือการปฏิเสธ คุณก็ดำเนินการต่อได้เลย แนะนำว่า ถ้าเคยมีการพูดคุยเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น อีเมลโต้ตอบ หรือมีสัญญาเงินกู้ สิ่งเหล่านี้จะสามารถใช้เป็นหลักฐานชั้นดีในทางกฎหมายได้ต่อไป
คำแนะนำที่ดีที่สุดคือ ถ้าอยากรักษามิตรภาพและระดับความสัมพันธ์ให้ดีต่อไปไม่ว่ากับใครก็ตาม จงอย่าหยิบยืมเงินทองกันเป็นดีที่สุด หรือหากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังตกอยู่ในภาวะนี้แล้ว อย่าทำเพิกเฉย หลงลืมหลบหน้าหลบตาเจ้าหนี้ แต่ขอให้พูดจากันอย่างตรงไปตรงมาและรีบหาเงินมาใช้คืนเขาให้เร็วที่สุด
แหล่งที่มา: https://cipatha.com/knowledge/3460/