โรงภาพยนตร์แห่งแรก ของเมืองไทย
เรามี “โรงละครแห่งชาติ” อย่างเป็นทางการมาหลายปีแล้ว ถ้าจะถามว่า แล้วเราไม่มี “โรงภาพยนตร์แห่งชาติ” บ้างหรือ
แม้จะไม่มีการประกาศว่าโรงภาพยนตร์ใดเป็น “โรงภาพยนตร์แห่งชาติ” ก็จริง แต่ความสำคัญและความเป็นมาของโรงภาพยนตร์แห่งหนึ่ง ซึ่งสร้างมาก่อนโรงละครแห่งชาติด้วยซ้ำ เป็นสิ่งเชิดหน้าชูตาของประเทศ ผูกพันกับชีวิตคนวงการบันเทิงมายาวนาน ทั้งยังเป็นโรงมหรสพพระราชทาน ก็น่าจะถือได้ว่าเป็น “โรงภาพยนตร์แห่งชาติ” ได้
โรงภาพยนตร์แห่งนี้ก็คือ ศาลาเฉลิมกรุง
ศาลาเฉลิมกรุงสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๗ โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะให้เป็นโรงมหรสพที่เชิดหน้าชูตาของประเทศ เป็นอนุสรณ์สถานคู่กับสะพานพระพุทธยอดฟ้าและพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกในการเฉลิมฉลองกรุงเทพฯ ๑๕๐ ปี ทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นเงินกว่า ๙ ล้านบาทเป็นค่าก่อสร้าง และเสด็จพระราชดำเนินวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๗๓ พระราชทานนามว่า “ศาลาเฉลิมกรุง” เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ออกแบบ
หม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร สถาปนิกผู้ออกแบบศาลาเฉลิมกรุง เป็นโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนเรศวรฤทธิ์ ทรงสำเร็จการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมจากประเทศฝรั่งเศส ทรงดูงานการก่อสร้างและการออกแบบโรงมหรสพที่อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรีย เยอรมัน เบลเยี่ยม ฝรั่งเศส อังกฤษ และสเปนก่อนกลับมาประเทศไทย ทรงออกแบบศาลาเฉลิมกรุงเป็นงานชิ้นแรกหลังสำเร็จการศึกษา
จุดเด่นของโครงสร้างศาลาเฉลิมกรุงคือ ไม่ได้ใช้ผนังเป็นตัวรับน้ำหนักแบบสถาปัตยกรรมไทย แต่ใช้โครงสร้างภายในรับน้ำหนักแทน โดยรอบห้องโถงใหญ่กลางจะแบ่งเป็นห้องเล็กห้องน้อย เพื่อให้ผนังและเสาย่อยของแต่ละห้องเป็นตัวช่วยพยุงน้ำหนัก ด้วยวิธีคำนวณให้ลงตัวอย่างสมดุล ด้วยเหตุนี้ห้องโถงใหญ่ของศาลาเฉลิมกรุงจึงกว้างขวาง ทั้งยังมีพาไลชั้นบนยื่นออกมา ๑ ใน ๓ ของพื้นที่ โดยไม่มีเสามาค้ำยันให้เป็นจุดบังตาผู้ชม
ที่สำคัญกว่านั้น ด้านข้างของศาลาเฉลิมกรุงทั้ง ๒ ด้านติดกับถนน ผู้ออกแบบจึงทำทางออกเป็นประตูบานใหญ่ด้านละ ๕ คู่ ใช้ท่อนเหล็กวางพาดไว้เป็นกลอน เพียงยกท่อนเหล็กออกก็ผลักบานประตูออกไปได้เลย ส่วนชั้นบนนอกจากจะมีทางออกด้านหน้าแล้ว ด้านข้างยังมีทางลงออกไปนอกโรงได้ทั้ง ๒ ข้าง จึงสามารถระบายคนเต็มโรงออกได้หมดภายใน ๓ นาที ซึ่งโรงภาพยนตร์ทุกวันนี้ก็ยังไม่อาจทำได้อย่างศาลาเฉลิมกรุง
ครั้งหนึ่ง เคยมีคนพิเรนตะโกนขึ้นขณะกำลังฉายหนังมีคนดูอยู่เต็มโรงว่า ไฟไหม้! คนทั้งโรงแตกตื่นวิ่งออกจากโรงกันสุดชีวิต แต่ก็ไม่มีการเหยียบกันถึงบาดเจ็บล้มตาย เพราะออกได้สะดวกทุกด้าน เป็นการพิสูจน์ถึงความปลอดภัยในด้านนี้ของศาลาเฉลิมกรุง การเหยียบกันตายหรือถูกไฟคลอกตายเกลื่อนอย่างที่เคยเห็นเป็นข่าวในต่างประเทศนั้น เชื่อได้เลยว่าไม่มีทางจะเกิดขึ้นที่ศาลาเฉลิมกรุง
เมื่อแรกที่สร้างเสร็จนั้น ศาลาเฉลิมกรุงถือได้ว่าเป็นโรงภาพยนตร์ที่ทันสมัยที่สุดในเอเซีย และเป็นโรงแรกที่ติดเครื่องปรับอากาศ ความเย็นจากเครื่องปรับอากาศของเฉลิมกรุงเป็นที่ร่ำลือกันว่าหนาวกว่าฤดูหนาวเสียอีก นอกจากนี้ภายในยังตกแต่งอย่างวิจิตรสวยหรู มีการใช้ไฟนีออนประดับเป็นแห่งแรก และยังเล่นแสงสีทั้งภายนอกภายใน
แม้จะลงมือสร้างมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ๒๔๗๓ แต่ศาลาเฉลิมกรุงก็เสร็จไม่ทันงานเฉลิมฉลองกรุงเทพฯ ๑๕๐ ปีในวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ.๒๔๗๕ มาเปิดอย่างทางการในวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๔๗๖ ใช้เวลาสร้าง ๓ ปีเต็ม ซึ่งขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงไม่สบายพระราชหฤทัยในเรื่องการเมือง ได้เสด็จไปประทับที่อังกฤษ โปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี (ม.ร.ว.มูล ดารากร) เป็นผู้แทนพระองค์มาทำพิธีเปิด ถึงวันนี้ก็ครบรอบ ๘๓ ปีแล้ว
ศาลาเฉลิมกรุงเปิดประเดิมด้วยการฉายภาพยนตร์อเมริกันเรื่อง “มหาภัยใต้ทะเล” มีคนเบียดเสียดเข้าชมกันแน่น ซึ่งคนจำนวนมากต้องการมาดูโรงมากกว่าดูหนัง ตอนก่อนฉายภาพยนตร์ ศาลาเฉลิมกรุงจะเปิดม่านแล้วเล่นแสงสีประกอบเพลงขณะที่แอร์ก็เย็นฉ่ำ ผู้ชมต่างกล่าวกันว่า แค่ก่อนหนังฉายนี้ก็คุ้มค่าชมแล้ว
ศาลาเฉลิมกรุงฉายหนังต่างประเทศเกือบทั้งหมด นานๆจะมีหนังไทยแทรกเข้ามา เพราะตอนนั้นมีหนังไทยที่สร้างในระบบ ๓๕ มม. เสียงในฟิล์มปีละ ๒-๓ เรื่องเท่านั้น พอเกิดสงครามโลกในปี ๒๔๘๔ ทั้งหนังเทศหนังไทยก็หยุดชะงักหมด มีแต่หนังญี่ปุ่นของบริษัทเอวะไฮคิววะซะ ซึ่งไม่เป็นที่นิยมของคนดู เฉลิมกรุงเลยหันมาเสนอละครชายจริงหญิงแท้ เริ่มด้วยเรื่อง “นางบุญใจบาป” โดยคณะวิจิตรเกษม ของบัณฑูรย์ องค์วิศิษฐ์ จากนั้นจึงเกิดคณะละครขึ้นหลายคณะเช่น อัศวินการละคร เทพศิลป์ รวมทั้งคณะศิวารมณ์ของนาวาอากาศเอกสวัสดิ์ ฑิฆัมพร ผู้จัดการบริษัทสหศินีมาจำกัด ผู้บริหารศาลาเฉลิมกรุงเอง และยังขยายไปเล่นที่ศาลาเฉลิมนคร โอเดี่ยน และวิกนาครเขษมด้วย
เมื่อสงครามสงบ หนังอเมริกันกลับเข้ามา หนังไทยเกิดใหม่ในระบบ ๑๖ มม. ใช้คนพากย์ ศาลาเฉลิมกรุงได้เซ็นสัญญากับบริษัทเมโทรโกลด์วินเมเยอร์ ฉายปีละ ๒๖ สัปดาห์ นอกนั้นฉายหนังของบริษัทอื่นๆกับหนังไทย จนในปี ๒๕๐๐ จึงเลิกสัญญากับบริษัทเมโทรฯ หันมาสนับสนุนหนังไทยซึ่งผลิตกันออกมามากแล้ว
เมื่อศาลาเฉลิมกรุงมาเป็นโรงหลักของหนังไทย บริเวณเวิ้งรอบศาลาเฉลิมกรุงจึงเป็นแหล่งชุมนุมของบุคคลในวงการหนัง มีทั้งผู้สร้าง ผู้แสดง ตัวประกอบเดินกันขวักไขว่ รวมทั้งบริษัทจัดจำหน่าย ซื้อขาย ให้เช่าหนัง เรียงรายรอบศาลาเฉลิมกรุงที่เรียกกันว่า “มะขามสแควร์” เพราะสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของศาลาเฉลิมกรุงก็คือ มีต้นมะขามปลูกเรียงรายรอบโรง
ต่อมาความเจริญของกรุงเทพฯแพร่กระจายออกไป มีศูนย์การค้าใหม่และใหญ่เกิดขึ้นที่สยามสแควร์ ทำให้การชุมนุมของคนดูหนังเปลี่ยนย่านไปด้วย วังบูรพาที่เคยรุ่งเรืองตามหลังเฉลิมกรุงมาก็ต้องเงียบเหงาลง จนโรงภาพยนตร์ คิงส์ ควีนส์ แกรนด์ของย่านวังบูรพาต้องปิดตัวลง รวมทั้งโรงภาพยนตร์เอ็มไพร์ที่ปากคลองตลาด โรงภาพยนตร์เฉลิมเขตร์ที่กษัตริย์ศึกก็ต้องปิดกิจการด้วย ศาลาเฉลิมไทยถูกทุบทิ้ง ศาลาเฉลิมกรุงจึงถูกเพื่อนทอดทิ้งให้โดดเดี่ยวอย่างหงอยเหงา แต่ก็ไม่อาจเปลี่ยนกิจการหรือทุบทิ้งเหมือนโรงอื่นได้ เพราะศาลาเฉลิมกรุงมีความสำคัญอยู่ในประวัติศาสตร์ของวงการบันเทิงไทย เกี่ยวพันกับชีวิตของผู้สร้างและนักแสดงหลายยุค ทั้งยังเป็นโรงมหรสพพระราชทาน มีความสำคัญอย่างที่อาจถือเป็นโรงภาพยนตร์แห่งชาติได้
เมื่อไม่อาจฝืนกระแสความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยได้ หลายฝ่ายจึงร่วมกันคิดที่จะอนุรักษ์ศาลาเฉลิมกรุง และด้วยความเห็นชอบของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กับบริษัทสหศินีมาผู้ดูแลศาลาเฉลิมกรุง จึงได้มอบให้ บริษัท เฉลิมกรุงมณีทัศน์ จำกัด เข้ามาปรับปรุงศาลาเฉลิมกรุงให้สดใสขึ้นใหม่ เพื่อให้เป็นโรงมหรสพที่เชิดหน้าชูตาของประเทศ ตามพระราชประสงค์ที่ทรงสร้าง พร้อมกับปรับปรุงเวิ้งรอบศาลาเฉลิมกรุงที่ทรุดโทรมให้เป็นศูนย์การค้าในแนวอนุรักษ์ความเป็นไทยในชื่อ “ดิ โอลด์สยามพลาซ่า” และปิดเพื่อปรับปรุงครั้งใหญ่เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๓๕
ศาลาเฉลิมกรุงแนวใหม่ในปัจจุบันกลายเป็น “เฉลิมกรุง โรเยล เธียเตอร์” ซึ่งไม่ได้ฉายภาพยนตร์เป็นการค้าอย่างแต่ก่อน แต่เป็นเวทีส่งเสริมการแสดงสร้างสรรค์ ทั้งไทยและสากล เปิดใหม่ในวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๔๖ เริ่มด้วยนำโขนมาประยุกต์กับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ประกอบแสงสีและเทคนิคพิเศษควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ เรียกว่า “โขนจินตนฤมิต” นอกจากนั้นยังจัดรายการศาลาเพลงเป็นประจำทุกเดือน นำการแสดงละครชายจริงหญิงแท้ที่เคยเริ่มที่เฉลิมกรุงกลับมาแสดงอีกในบางโอกาส จัดฉายภาพยนตร์การกุศล งานรำลึกความหลัง และส่งเสริมงานสร้างสรรค์ที่มีคุณค่าทั่วๆไป ไม่ว่าจะเป็นของไทยหรือต่างประเทศ
แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไป ย่านของความบันเทิงได้กระจายห่างออกไปจากศาลาเฉลิมกรุง แต่โรงมหรสพพระราชทานจากรัชกาลที่ ๗ แห่งนี้ ก็ยังยืนอยู่อย่างสง่างาม เพื่อส่งเสริมงานแสดงที่ทรงคุณค่า อันเหมาะสมกับคุณค่าของศาลาเฉลิมกรุง