ศาลพันท้ายนรสิงห์
พันท้ายนรสิงห์ เป็นชาวบ้านนรสิงห์ แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ (ปัจจุบันคือ ตำบลนรสิงห์ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง) รับราชการเป็นนายท้ายเรือพระที่นั่งเอกชัย อยู่ในรัชสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (พระเจ้าเสือ) แห่งกรุงศรีอยุธยา ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริต จงรักภักดี และรักษาระเบียบวินัยยิ่งชีวิต สมควรเป็นแบบอย่างแก่อนุชนรุ่นหลังต่อไป
เ
รื่องราวของพันท้ายนรสิงห์ ปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับต่างๆ เนื้อความเป็นไปในแบบเดียวกัน ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ใน พ.ศ. 2247 (จุลศักราช 1066) สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 ประพาสปากน้ำสาครบุรี (ปัจจุบันคือจังหวัดสมุทรสาคร) เพื่อทรงเบ็ดด้วยเรือพระที่นั่งเอกชัย มีพันท้ายนรสิงห์เป็นนายท้าย ตามหลักฐานชุมนุมพระนิพนธ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกไว้ว่า ทันท้ายนรสิงห์เป็นชาวบ้านนรสิงห์แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ และเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 จนทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้รับราชการรับใช้พระองค์อย่างใกล้ชิด
การเสด็จประพาสปากน้ำสาครบุรีครั้งนั้น เมื่อเรือพระที่นั่งไปถึงตำบลโคกขาม คลองในบริเวณดังกล่าวมีความคดเคี้ยวมาก พันท้ายนรสิงห์พยายามคัดท้ายเรือพระที่นั่งอย่างระมัดระวัง แต่ไม่อาจหลบเลี่ยงอุบัติเหตุได้ หัวเรือพระที่นั่งชนกิ่งไม้ใหญ่หักตกลงไปในน้ำ พันท้ายนรสิงห์รู้โทษดีว่า ความผิดครั้งนี้ถึงประหารชีวิตตามโบราณราชประเพณี ซึ่งกำหนดว่าถ้าผู้ใดถือท้ายเรือพระที่นั่งให้หัวเรือพระที่นั่งหักผู้นั้นถึงมรณะโทษให้ตัดศรีษะเสีย จึงกราบทูลพระกรุณาน้อมรับโทษตามพระราชประเพณี สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (พระเจ้าเสือ) ทรงพิจารณาเห็นว่าอุบัติเหตุครั้งนี้เป็นการสุดวิสัยมิใช่ความประมาท จึงพระราชทานพระอภัยโทษให้ แต่พันท้ายนรสิงห์กราบบังคมทูลยืนยันขอให้ตัดศรีษะตนเพื่อรักษาขนบธรรมเนียมพระราชกำหนดกฎหมายเป็นการป้องกันมิให้ผู้ใดครหาติเตียนพระเจ้าอยู่หัวว่าทรงละเลยพระราชกำหนดของแผ่นดิน และเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างสืบไปพระองค์ทรงโปรดให้ฝีพายทั้งปวงปั้นมูลดินเป็นรูปพันท้ายนรสิงห์ แล้วให้ตัดศรีษะรูปดินนั้นเป็นการทดแทนกัน แต่พันท้ายนรสิงห์ยังกราบบังคมทูลยืนยันขอให้ประหารตน แม้สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 จะทรงอาลัยรักน้ำใจพันท้ายนรสิงห์เพียงใด ก็ทรงจำพระทัยปฏิบัติตามพระราชกำหนดดำรัสสั่งให้เพชรฆาตประหารพันท้ายนรสิงห์เสีย แล้วโปรดให้ตั้งศาล สูงประมาณเพียงตา นำศรีษะพันท้ายนรสิงห์กับหัวเรือพระที่นั่งเอกชัยซึ่งหักนั้น ขึ้นพลีกรรมไว้ด้วยกันบนศาล ภายหลังเหตุการณ์ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 ทรงพระราชดำริว่า คลองโคกขามคดเคี้ยวนักไม่สะดวก ต่อการเดินเรือ บางครั้งชาวเมืองต้องเดินเรืออ้อมเป็นที่ลำบากยิ่ง สมควรจะขุดลัดตัดให้ตรง ทั้งนี้เพื่อเป็นการรำลึกถึง พันท้ายนรสิงห์ข้าหลวงเดิม ซึ่งเป็นคนซื่อสัตย์ มั่นคง ยอมเสียสละชีวิตโดยไม่ยอมให้เสียพระราชประเพณี และจะนำความเสื่อมเสียมาให้พระมหากษัตริย์จึงมีพระราชโองการตรัสสั่งสมุหนายกให้กะเกณฑ์เลกหัวเมืองจำนวนสามหมื่นคนไปขุดคลองโคกขามให้ลัดตรง กำหนดให้ลึก 6 ศอก ปากคลองกว้าง 8 วา พื้นคลองกว้าง 5 วา ให้พระราชสงครามเป็นแม่กลองอำนวยการขุด สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพกล่าวไว้ในชุมนุมพระนิพนธ์ว่าพระราชสงครามให้ขุดแต่ปากคลองทางลำน้ำท่าจีน มาจนถึงตำบลโคกขาม แต่การขุดค้างอยู่ มาสำเร็จลงในรัชกาลต่อมา ปรากฏเป็นคลองตรงและกว้างใหญ่เรียกว่า คลองมหาชัย อยู่ตราบเท่าทุกวันนี้