ควายป่า
ควายป่า หรือ มหิงสา (Bubalusarnee) เป็นสัตว์ป่าตัวใหญ่และปราดเปรียวที่เราค่อนข้างจะพบเห็นได้ยาก ครั้งหนึ่งเคยเชื่อกันว่า ‘ควายป่า’ ได้หมดไปแล้วจากเมืองไทย
แต่เดิมเคยมีควายป่าให้เราเห็นอยู่ตามป่าทุ่งโปร่งเกือบทุกภาคของประเทศไทย ยกเว้นภาคใต้ แต่ปัจจุบันคงเหลืออยู่เพียงแหล่งเดียวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี บริเวณที่ราบริมลำห้วยขาแข้งทางตอนใต้ของพื้นที่ ประมาณไม่เกิน 50 ตัว เป็นความเปราะบางต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่ง ควายป่าจึงได้เป็นสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ
ในบันทึกหนึ่ง เมื่อปี 2513 คณะสำรวจกรมป่าไม้ นำโดยคุณผ่อง เล่งอี้ พร้อมทั้งช่างภาพชื่อ คุณชวลิต เนตรเพ็ญ เข้าสำรวจผืนป่าห้วยขาแข้ง และสามารถถ่ายภาพยนตร์ควายป่าทั้งฝูงเอาไว้ได้ ตัวคุณผ่องเคยกล่าวว่า “ตื่นเต้นมากที่เห็นฝูงควายป่าเป็นครั้งแรกในชีวิต ตัวของมันใหญ่มาก เวลามันวิ่งแผ่นดินสะเทือน…”
รศ.ดร.รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์ แห่งคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำวิจัยเรื่องนิเวศวิทยาและถิ่นอาศัยของควายป่าในลำขาแข้งเมื่อ พ.ศ. 2540 อธิบายว่าการมีอยู่ของควายป่า เป็นความสอดคล้องทางวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตกับสภาพแวดล้อม
นับแต่โบราณควายป่าพบแพร่กระจายในที่ราบลุ่มริมแม่น้ำของภูมิภาคนี้อยู่แล้ว ภูมิประเทศเป็นปลักหล่ม ดินเลนชายน้ำ ทำให้ควายป่ามีวิวัฒนาการแตกต่างไปจากสัตว์กีบคู่อื่นๆ โดยกีบของควายป่าค่อนข้างกลมแป้นช่วยให้ย่ำเลนได้ดี ขณะที่วัวแดง กระทิง กีบจะยาวเรียวกว่า
ลักษณะของควายป่าในลำขาแข้งรูปร่างจะคล้ายคลึงกับควายบ้านแต่มีขนาดที่ใหญ่ล่ำสันและมีวงเขาตีโค้งกว้างกว่าดุร้ายกว่าควายบ้านมาก สีลำตัวโดยทั่วไปเป็นสีเทาหรือสีน้ำตาลดำ ขาทั้ง 4 สีขาวแก่หรือสีเทาคล้ายใส่ถุงเท้าสีขาว ด้านล่างของลำตัวเป็นลายสีขาวรูปตัววี มีรูปแบบสังคมคล้ายพวกวัวป่ามีการรวมฝูงกันและตัวผู้มักชอบอยู่โดดเดี่ยวตามลำพัง ถิ่นที่อาศัยของควายป่าในป่าห้วยขาแข้งพบอยู่ตามที่ราบริมห้วยขาแข้ง และตามหนองน้ำที่ปกคลุมด้วยป่าเบญจพรรณ ป่าไผ่ และป่าทุ่งหรือไร่ร้าง ร่องรอยของควายป่าพบเห็นได้บ่อยบริเวณห้วยแม่ดีทางใต้หน่วยพิทักษ์ป่าเขาบันได ห้วยหินตั้งลงไปทางใต้จนถึงหน่วยพิทักษ์ป่ากรึงไกร
อาหารหลักของควายป่าคือหญ้าชนิดต่างๆ ยอดไม้ ใบไม้อ่อน หน่อไม้ ต้นพงที่ขึ้นอยู่ริมลำห้วยขาแข้งก็เป็นพืชที่ควายป่าชอบด้วยเหมือนกัน และเช่นเดียวกับสัตว์กินพืชชนิดอื่นๆ ซึ่งต้องการแร่ธาตุมาเสริมสร้างร่างกาย ควายป่าจึงต้องกินดินโป่งเป็นอาหารเสริม
สัตว์ที่ทุกคนเคยเชื่อว่าหมดไปแล้วจากเมืองไทย แต่ทุกวันนี้ยังคงมีหลงเหลือให้เราได้เห็นอยู่ แม้เหลืออยู่น้อยมากแล้วก็ตามหากพวกเราไม่ช่วยกันอนุรักษ์ อีกไม่นานควายป่าต้องหมดไปจากผืนป่าเมืองไทยจริงๆ แน่นอน
อ้างอิง
ควายป่าพันธุ์แท้ กับความทรงจำแห่งศตวรรษ
ข้อมูลวิจัยรายงานการพบควายป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี
ภาพประกอบ ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
แหล่งที่มา:มูลนิธิสืบนาคะเสถียร