พิสูจน์แล้วทำได้จริง!! หลัง”ไจก้า”ช่วยเทศบาลเมืองสีคิ้ว รณรงค์ชาวบ้านแยกขยะเหลือทิ้ง 65% ม.เทคโยโลยีสุรนารี วิจัยซ้ำนำขยะผลิตน้ำมัน!!
หลังจากเทศบาลเมืองสีคิ้ว อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมาได้รับความร่วมมือทางเทคโนโลยีระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ที่ กรมควบคุมมลพิษ(คพ.) ร่วมกับจังหวัดฟูกูโอกะ ศูนย์สุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมของประเทศญี่ปุ่น (JESC) ไจก้า สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 11 (นครราชสีมา มาดำเนินโครงการการพัฒนาระบบฝังกลบขยะมูลฝอยชุมชนสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดกลางและขนาดเล็ก ในปี 2555-2558 เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการฝังกลบขยะมูลฝอยแบบกึ่งใช้อากาศ (Semi- Aerobic Landfill)เพื่อปรับปรุงสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยแบบเทกองของไทย ให้เป็นรูปแบบที่ถูกต้อง ถูกหลักสุขาภิบาล แล้วนั้น
นายปรีชา จันทร์รวงทอง นายกเทศมนตรีเมืองสีคิ้ว เปิดเผยถึงสถานการของปริมาณขยะในเขตรับผิดชอบว่า ที่ผ่านมาการกำจัดขยะแบบเทกอง หรือหากฝังกลบอย่างถูกวิธีจะฝังกลบแบบถูกลักษณะหรือ Sanitary Landfill ซึ่งมีต้นทุนสูง และมีโอกาสเกิดไฟไหม้หากบริหารจัดการไม่ดี แต่การฝังกลบแบบกึ่งใช้อากาศนั้นเป็นเทคโนโลยีใหม่สำหรับประเทศไทย ซึ่งได้เริ่มที่เทศบาลเมืองสีคิ้วเป็นแห่งแรก โดยเทคโนโลยีนี้ได้รับการถ่ายทอดจากจังหวัดฟูกูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเทศบาลเมืองสีคิ้ว ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปอบรมหลักสูตร การใช้เทคโนโลยีที่ประเทศญี่ปุ่นมาดำเนินการจัดทำ บ่อฝังกลบขยะแบบกึ่งใช้อากาศ บนพื้นที่ขนาด 54×80 เมตร บนเนื้อที่ 4 ไร่ สร้างอยู่ในพื้นที่ทิ้งเทกองขยะเดิม สามารถจุขยะได้รวมประมาณ 2,700 ตัน วิธีการกำจัดขยะแบบกึ่งใช้อากาศนี้ไม่ซับซ้อน คือ เมื่อสร้างบ่อเสร็จแล้ว ก็สามารถนำขยะเททิ้งได้ทันที โดยทุกๆ ความหนาของขยะที่ 3 เมตร จะกลบทับด้วยดินหนาประมาณ 50 เซนติเมตร ซึ่งออกซิเจนที่ไหลเวียนอยู่ภายในบ่อขยะ จะทำหน้าที่ย่อยสลายเองโดยธรรมชาติ แต่อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของการกำจัดขยะระบบนี้คือกำจัดขยะชุมชนเท่านั้น นั่นคือ ต้องคัดแยกขยะอันตรายและขยะติดเชื้อออกก่อนเหมาะสมกับขยะของไทย และเหมาะที่จะใช้ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ปริมาณขยะไม่เกิน 50 ตันต่อวัน โดยในปัจจุบันได้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ ได้มาศึกษาดูงานกันอย่างต่อเนื่อง
“พื้นที่เทศบาลมีขยะวันละประมาณ 20 ตันต่อวัน กว่า 50 ปีที่ผ่านมา จะกำจัดโดยการทิ้งเทกองในพื้นที่ประมาณ 13 ไร่ ทำให้เกิดน้ำเสียและกลิ่นเหม็น เทศบาลก็พยายามแก้ปัญหานี้ หลังได้รับการสนับสนุน”ไจก้า” โดยเริ่มจากการลดปริมาณขยะที่ทิ้งเทกอง มารณรงค์ให้ทุกครัวเรือนและพื้นที่การค้าต่างๆ คัดแยกขยะ โดยได้มีการอบรมชาวบ้านไปแล้ว 8 ชุมชน ผลจากการดำเนินการนี้ทำให้มีขยะเหลือทิ้ง 16 ตันต่อวัน และเชื่อว่าหากมีการอบรมให้ประชาชนชาวสีคิ้ว ได้ครบทุกตำบลหมู่บ้าน ให้ร่วมกันมีจิตสำนึกและมีวินัยทิ้งและคัดแยกขยะจากตนทาง เชื่อว่าเทศบาลจะสามารถลดปริมาณขยะได้มากกว่านี้แน่นอน ซึ่งก็หมายความว่าประชาชนช่วยลดภาระการใช้จ่ายงบประมาณในการกำจัดขยะได้เป็นอย่างมาก นอกจากนั้นเทศบาลสีคิ้วมีโครงการคัดแยกขยะพลาสติก ไปผลิตเป็นน้ำมันดีเซลด้วยระบบไพโอไรซิส โดยขณะนี้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กำลังดำเนินการอยู่ เพื่อเอาน้ำมันที่ผลิตจากขยะ ไปใช้ในเครื่องจักรกลหนักของกองทัพภาคที่ 2 ซึ่งหากการคัดแยกขยะในโครงการนี้สำเร็จ จะทำให้เหลือขยะทิ้งร้อยละ 10-30 ก็จะยืดอายุการใช้งานบ่อขยะได้ถึง 3-9 ปี และประหยัดงบประมาณเป็นอย่างมาก”นายปรีชากล่าว
.........................................................................
4-5-61 เวลา 18.56 น.