รณพักตร์ใช้ยุทธวิธีหยาบช้าเพื่อบังคับให้พระอินทร์(ท้าวสักกะ)ยอมแพ้!?!
ประวัติของรณพักตร์นั้น กล่าวโดยย่อได้ดังนี้
รณพักต์เป็นบุตรทศกัณฐ์กับนางมณโฑ ครั้งหนึ่งทศกัณฐ์เห็นว่า รณพักตร์ลูกชายตนมีอิทธิฤทธิ์สรรพเวทมาก ประกอบด้วย
๑.พระอิศวรประทาน "ศรพรหมาสตร์" และ "พรสามารถแปลงร่างเป็นพระอินทร์"
๒.พระพรหมประทาน "ศรนาคบาศ "และ "พรไม่ให้ตายบนพื้นดินหากตายก็ให้ตายบนอากาศหากเศียรขาดตกลงพื้นก็ให้เกิดไฟไหม้ทั่วทั้งจักรวาลต้องนำพานแว่นฟ้าของพระพรหมเท่านั้นมารองรับเศียรจึงจะระงับเหตุได้"
๓.พระนารายณ์ประทาน "ศรวิษณุปานัม"
ทศกัณฐ์จึงบัญชาให้รณพักตร์ยกทัพขึ้นไปรบกับพระอินทร์เพื่อหมายยึดครองดาวดึงส์เสีย
รณพักตร์จึงเลื่อนทัพใหญ่บุกขึ้นแดนพระอินทร์ ทำให้พระอินทร์ต้องยกทัพใหญ่ออกมาเพื่อต้านไว้
รณพักตร์จึงแผลงศรนาคบาศเป็นข่ายเพชรล้อมทัพพระอินทร์ไว้จนสิ้น จากนั้นข่ายเพชรจึงกลายเป็นฝูงนาคพยนต์พ่นพิษรมกองทัพพระอินทร์ไว้ กองทัพพระอินทร์จึงแตกพ่าย ส่วนพระอินทร์เองก็ให้มาตุลีเทพบุตรชักรถศึกหนี แต่กลับถูกเหล่าทหารทัพหน้าของรณพักตร์ยื้อรถไว้ได้ พระอินทร์จึงทิ้งรถศึกพร้อมจักรแก้วไว้
รณพักตร์จึงริบจักรพระอินทร์ไว้แล้วสั่งเลิกทัพกลับลงกา เมื่อรณพักตร์นำจักรพระอินทร์ถวายต่อทศกัณฐ์ ทศกัณฐ์จึงเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น อินทรชิต หมาถึง ผู้ชนะพระอินทร์
ในเชิงวิเคราะห์ อินทรชิต รึ รณพักตร์ นี้เป็นตัวแทนขององค์ความรู้เชิงรุกไว้ใช้ในการศึกสงคราม ว่าด้วยเล่ห์กลกักขฬะในการทำให้คู่ต่อสู้เป็นฝ่ายยอมแพ้ไปเอง
ในกรณีที่โปรเจ็กต์รณพักตร์ถูกนำมาใช้ต่อกรกับพระอินทร์ รึก็คือ ระบบคติพระอินทร์สร้างเมือง เป็นการใช้เล่ห์กลเพื่อหักดิบเอาชนะอย่างรวบรัดแต่ไม่เด็ดขาด เน้นให้ระบบพระอินทร์ฯยอมจำนนล่าถอยไปเองแต่โดยดี ซึ่งตามท้องเรื่อง ที่พระอินทร์แตกทัพนั้น ไม่ได้เกิดจากความกลัวฝูงนาคพยนต์เป็นหลัก แต่เป็นความกลัวต่อ "พรที่พระพรหมประทานให้รณพักตร์" ต่างหาก ซึ่งเป็นสิ่งค้ำประกันว่า พระอินทร์ไม่อาจสังหารรณพักตร์เพื่อเอาชนะได้อย่างเด็ดขาดเช่นกัน เพราะศึกนี้สูู้กันบนฟ้า ซึ่งเข้าเงื่อนไขที่ว่า รณพักตร์จะตายได้เมื่ออยู่บนอากาศเท่านั้น และเมื่อศีรษะตกกระทบพื้นดิน ไฟประลัยกัล์ปจะไหม้ทั้งจักรวาล รึก็คือ รณพักตร์ มีประชากรทั้งจักรวาลเป็นตัวประกันอยู่นั่นเอง พระอินทร์จึงจำต้องยอมแพ้ในศึกครั้งนั้นด้วยความจำเป็น ยอมเสียหน้าเพื่อให้ทั้งจักรวาลปลอดภัยต่อไป
อนึ่ง "พรหม" ผู้ประทานพรพร้อมศรนาคบาศให้กับอินทรชิต และพรหมผู้ประทาน "แว่นแก้วสุรกานต์" ให้กับ แสงอาทิตย์ ผู้มีศักดิ์เป็นหลานของทศกัณฐ์ ที่เรียกกันว่า "พรหมธาดา" นั้น แท้จริงอาจเป็น ท้าวมาลีวราช ผู้เป็นพรหมที่น่าจะเป็นองค์เดียวที่ปรากฏชื่ออยู่ในรามเกียรติ์ และยังเป็นบรรพบุรุษต้นตระกูลของทศกัณฐ์ก็เป็นได้ ซึ่งการที่ท่านได้ประทานพรพร้อมของวิเศษให้กับวงศ์วานของทศกัณฐ์นี้ ก็ด้วยว่าท่านเป็น "ญาติผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง" จึงประทานให้ด้วยความเมตตาเอ็นดูลูกหลานไปตามเรื่อง แต่หากพรหมที่ประทานให้พรและของวิเศษให้วงศ์วานทศกัณฐ์นี้ไม่ใช่ท้าวมาลีวราช ก็อาจเป็นพรหมซักท่านหนึ่งซึ่งรู้จักกับท้าวมาลีวราชมาก่อน จึงประทานพรและของวิเศษให้ ด้วยเห็นว่า "เป็นลูกหลาน"ของท้าวมาลีวราชก็เป็นได้เช่นกัน ทว่าเมื่อได้ของวิเศษไป วงศ์วานของทศกัณฐ์กลับบ้าอำนาจนำไปใช้ในทางที่ผิด ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ประทานให้ไม่ได้คาดคิดไว้
ส่วนเรื่องที่อินทรชิตขอพรจากพรหมให้ศีรษะตัวเองเป็นตัวจุดชนวนไฟประลัยกัลป์ไหม้ทั้งจักรวาลนี้ เป็นไปได้ว่าพรหมผู้ประทานพรให้อาจเป็นคนยื่นเงื่อนไขต่อรองกับอินทรชิตเรื่องการใช้"พานแว่นฟ้า"ของพรหมผู้ประทานพรมารองรับศีรษะของอินทรชิตก็ได้ โดยการต่อรองประมาณว่า หากอินทรชิตต้องการให้ศีรษะของตนเองเป็นชนวนไฟประลัยกัลป์จริงๆ ต้องยอมรับข้อเสนอเรื่องพานแว่นฟ้าจากพรหมองค์นั้นเสียก่อน จึงจะยินยอมให้พรตามประสงค์ ไม่ก็เป็นการใช้วิธีโน้มน้าวอินทรชิต โดยพรหมองค์นั้นอาจเสนอว่า หากศีรษะของอินทรชิตตกถึงพื้นดินแล้วเกิดไฟประลัยกัลป์ไหม้จักรวาล บรรดาญาติมิตรทั้งหลายของอินทรชิตก็จะพลอยม้วยมอดไปกันหมด จึงควรใช้"พานแว่นฟ้า"รับศีรษะไว้ เผื่อสำหรับกรณีฉุกเฉิน เพราะอินทรชิตคงไม่คิดจะขออะไรที่มันสามารถเอามาใช้สลายอำนาจพรที่ตนขอไว้เองแน่นอน ดังนั้น"พานแว่นฟ้า" จึงน่าจะเกิดจากการสร้างเงื่อนไข(ซ้อนแผน)ในการประทานพรของพรหมองค์นั้น เช่นเดียวกับกรณีที่ยักษ์แสงอาทิตย์ ทูลขออาวุธ"แว่นแก้วสุรกานต์"จากพรหมองค์หนึ่ง ซึ่งพรหมองค์นั้นก็ประทานให้สมประสงค์ โดยมีเงื่อนไขว่า "แว่นแก้วสุรกานต์"ต้องอยู่ในการดูแลเก็บรักษาของพรหมผู้ประทานพรเท่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้นำอาวุธชิ้นนี้ไปใช้พร่ำเพรื่อนั่นเอง