หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม คำคม Glitter เกมถอดรหัสภาพ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

ราชาทั้ง ๔ เหล่า เมื่อครั้งปฐมภัทรกัปที่๔

โพสท์โดย นาคเฝ้าคัมภีร์

จาก อรรถกถา อุลูกชาดกว่าด้วย หน้าตาไม่ดีไม่ควรให้เป็นใหญ่ + อรรถกถา นัจจชาดกว่าด้วย เหตุที่ยังไม่ให้ลูกสาว + อรรถกถาอัคคัญญสูตร วาเสฏฺฐภารทฺวาชวณฺณนา + อรรถกถา มหาสุตโสมชาดกว่าด้วย พระเจ้าสุตโสมทรงทรมานพระยาโปริสาท

 

เมื่อครั้งปฐมกัป หลังจากเหล่าอาภัสสรพรหมกลายเป็นมนุษย์แล้ว เริ่มสร้างบ้านเรือนแล้ว ก็ยังคงอาศัยอยู่ร่วมกัน ทว่าเมื่ออยู่ร่วมกันมากเข้าก็เกิดปัญหาขึ้น กล่าวคือ มีมนุษย์บางคนเกิดความโลภขึ้น จึงทำการกักตุนเสบียงอาหารคือ ข้าวสาลีของตนไว้ แล้วเที่ยวขโขมยอาหารของผู้อื่นมาบริโภคแทน มหาชนจึงช่วยกันจับผู้ขโมยนั้น แล้วทำการสั่งสอนตักเตือนไม่ให้ทำกรรมชั่วช้าเช่นนั้นอีก ทว่าผู้โลภนั้นกลับไม่ฟัง ยังคงกักตุนหาหารของตนไว้แล้วเที่ยวขโมยอาหารของผู้อื่นตามเดิมและถูกจับได้ทุกครั้ง รวมแล้วผู้โลภได้ทำการขโมยอาหารผู้อื่นถึง ๓ ครั้ง(และถูกจับได้ทั้ง ๓ ครั้ง) และในการถูกจับกุมครั้งที่ ๓ นี้ นอกจากผู้โลภจะถูกมหาชนตักเตือนเช่นเดียวกับ ๒ ครั้งก่อน ชนบางกลุ่มซึ่งเป็นผู้เสียหายจากการขโมยมาก่อนก็ไม่อาจทนได้อีกต่อไป จึงใช้ฝ่ามือบ้าง ก้อนดินบ้าง ท่อนไม้บ้าง เข้าทุบตีทำร้ายผู้ขโมยนั้น

และจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้(คือ การลักขโมย)จึงปรากฏ การครหา(คือ การตำหนิติเตียน)จึงปรากฏ การพูดเท็จ(คือ การโกหก)จึงปรากฏ การถือทัณฑาวุธ(การใช้อาวุธลงทัณฑ์)จึงปรากฏ
หลังจากความวุ่นวายจากการลงโทษนักขโมยในครั้งนั้นสงบลง มหาชนจึงได้ประชุมกันปรับ ทุกข์กันว่า บาปธรรมทั้ง๔ คือ การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ การครหา การพูดเท็จ การถือทัณฑาวุธ ได้ปรากฏในมหาชนแล้ว ทางที่ดี พวกเราควรสมมต(แต่งตั้ง)ผู้หนึ่ง ขึ้นเป็นผู้คอยว่ากล่าวผู้ที่ควรถูกว่ากล่าว ติเตียนผู้ที่ควรถูกติเตียน ขับไล่ผู้ที่ควรถูกขับไล่โดยชอบธรรม แล้วพวกเราจักแบ่งปันข้าวสาลีให้แก่ผู้นั้น
 
ครั้นแล้วมหาชนเหล่านั้นจึงเลือก พระมนู ผู้มีลักษณะงาม น่าเลื่อมใส และน่าเกรงขามกว่าผู้อื่น ทั้งยังสมบูรณ์ด้วยมารยาท บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง ขึ้นเป็นผู้นำทำการตัดสินกิจต่างๆให้มหาชนโดยชอบธรรม
 
แล้วจึงได้กล่าวว่า มาเถิด ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าว จงติเตียนผู้ที่ควรติเตียน จงขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่โดยชอบธรรมเถิด และพวกเราจักแบ่งปันข้าวสาลีให้แก่ท่าน
 
พระมนูรับคำแล้ว จึงได้ปฏิบัติกิจตามที่มหาชนได้ตกลงกันไว้ คือ คอยว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าว ติเตียนผู้ที่ควรติเตียน และขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่โดยชอบธรรม และมหาชนเหล่านั้นก็ได้แบ่งปันข้าวสาลีให้แก่พระมนูตามข้อตกลงเดิม
 
เพราะเหตุที่ พระมนู เป็นผู้ที่มหาชนสมมติ(แต่งตั้ง) ฉะนั้น
คำว่า ‘ มหาสมมต ’ จึงเกิดขึ้นเป็นคำแรก
 
และเพราะเหตุที่ พระมนู เป็นใหญ่แห่งที่นา(แผ่นดิน)ทั้งหลาย ฉะนั้น
คำว่า ‘ กษัตริย์(ขัตติยะ) ’ จึงเกิดขึ้นเป็นคำที่ ๒
(กษัตริย์ มาจากคำว่า เกษตฺร [บาลีใช้ เขตฺต] แปลว่า ที่ดิน ทุ่งนา ไร่ ดินแดน)
(คำว่า กษัตริย์(ขัตติยะ) จึงหมายถึง ผู้เป็นใหญ่แห่งแผ่นดิน ตามที่กล่าวข้างต้น)
 
และเพราะเหตุที่ พระมนู ให้ชนเหล่าอื่นยินดีได้โดยชอบธรรม ฉะนั้น
คำว่า ‘ราชา ’ จึงเกิดขึ้นเป็นคำที่ ๓
 
นับแต่ครั้งนั้นมา มหาชนชาวชมพูทวีปทั้งหลาย จึงได้ชื่อว่า มนุษย์(มนุชา) เพราะเป็นผู้มีใจสูง และ เป็นทายาทเหล่ากอของพระมนู ด้วยประการฉะนี้
 
พระเจ้ามหาสมมตราช หรือ พระมนู ทรงมีพระชนมายุได้ ๑อสงไขย
 
และในช่วงที่พระมนูยังครองราชย์อยู่นั้น สรรพสัตว์ทั้งหลายในปฐมกัปยังอุดมปัญญาอยู่มาก ครั้นสรรพสัตว์บางกลุ่มเห็น มนุษย์ได้ตั้งผู้ปกครองขึ้นแล้ว
เหล่าจตุบาท(สัตว์๔เท้า)ก็ประชุมกันตั้งราชสีห์ให้เป็นพระราชา ซึ่งก็ดูจะไม่มีปัญหาอะไรตามมา
 
 
เมื่อสัตว์ ๔ เท้าประชุมกันคัดเลือกราชาได้แล้ว เหล่าทวิบาท(นกทั้งหลาย)ก็ไม่ยอมน้อยหน้า จึงได้จัดการประชุมวาระเร่งด่วนขึ้นที่ลานหินดาดแห่งหนึ่งในแดนหิมวันต์ ครั้นองค์ประชุมมากันพร้อมแล้วจึงได้เปิดวาระการประชุม ปรึกษากันว่า
 
ในหมู่มนุษย์ทั้งหลายราชาได้ปรากฏแล้ว ในสัตว์ ๔ เท้าทั้งหลายก็ปรากฏราชาแล้วเหมือนกัน แต่พวกเราทั้งหลายยังไม่มีราชา ธรรมดาว่า การอยู่โดยไม่มีที่พึ่ง ย่อมไม่ควร แม้พวกเราก็ควรจะได้พระราชา พวกเราจงกำหนดนกตัวหนึ่งผู้สมควรตั้งไว้ในตำแหน่งพระราชา
 
หลังจากการเสนอญัตติกลางที่ประชุมได้ผ่านความเห็นชอบแล้ว นกทั้งหลายจึงพิจารณาคัดเลือกหาตัวแทนขึ้นดำรงตำแหน่งราชาดังกล่าว
 
ครั้นชาวนกทั้งหลายในที่ประชุมเห็นนกเค้าตัวหนึ่งเข้าก็ชอบใจ จึงยื่นเรื่องเสนอรายชื่อนกเค้าต่อที่ประชุมทันที
 
ลำดับนั้น นกตัวหนึ่งซึ่งทำหน้าที่คล้ายประธานสภาจึงทำการประกาศรายชื่อนกเค้าผู้ถูกเสนอรายชื่อขึ้นดำรงตำแหน่งราชาของเหล่านกโดยไร้รายชื่อคู่แข่ง เพื่อต้องการหยั่งดูอัธยาศัยใจคอและความเห็นชอบของนกทุกตัวในที่ประชุมนั้น ซึ่งการประกาศนี้ ตามธรรมเนียมแล้ว หากประกาศครบ ๓ ครั้ง โดยไร้ผู้ใดคัดค้าน จะถือว่าที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ในทันที ซึ่งเมื่อนกประธานสภาร้องประกาศได้ ๒ ครั้ง เหตุการณ์ก็ยังเงียบสงบอยู่
 
ทว่าในเวลาที่จะประกาศในครั้งที่ ๓ กาตัวหนึ่งซึ่งไม่พอใจการตั้งนกเค้าให้เป็นราชา แต่ไม่เห็นมีใครคัดค้านถึง ๒ ครั้ง จึงได้ลุกขึ้นยืนกลางที่ประชุมแล้วกล่าวกับนกทั้งหลายในสภาว่า
 
ข้าพเจ้าได้ฟังคำประกาศว่า เหล่าญาติทั้งปวงที่มาประชุมกันทั้งหมด ณ ที่นี้จะแต่งตั้งนกเค้าให้เป็นใหญ่ ก็ถ้าเหล่าญาติอนุญาต ข้าพเจ้าจะขอกล่าวอะไรๆสักเล็กน้อย
 
นกทั้งหลายในที่ประชุมเห็นกาลุกขึ้นกล่าวดังนั้น จึงตอบว่า
 
เอาเถิดสหาย พวกเราทั้งหมดอนุญาต แต่ขอให้ท่านจงกล่าวแต่ถ้อยคำที่เป็นอรรถเป็นธรรม และสิ่งที่เป็นสาระเท่านั้น อย่าได้กล่าวนอกประเด็น เพราะว่าพวกนกหนุ่มๆ ที่มีปัญญาและทรงไว้ซึ่งญาณอันรุ่งเรืองในการพิจารณาไตร่ตรองได้ยังมีอยู่
 
เมื่อกาได้รับอนุญาตจากที่ประชุมแล้ว จึงกล่าวว่า
 
ขอความเจริญรุ่งเรืองจงมีแก่ท่านทั้งหลาย การที่แต่งตั้งนกเค้าให้เป็นใหญ่นั้น ข้าพเจ้ายังไม่เห็นชอบด้วย ท่านทั้งหลายโปรดมองดูใบหน้าของนกเค้าในยามปกติที่ยังไม่โกรธดูเถิด ใบหน้าในยามปกติของนกเค้ายังถ...ทึงได้ขนาดนี้ ถ้านกเค้าโกรธขึ้นมาจะทำหน้าตาอย่างไร หากท่านทั้งหลายได้เห็นหน้าของนกเค้าในยามโกรธ ข้าพเจ้าเกรงว่า พวกท่านจักแตกตื่นกันในที่นั้นทันที ดังนั้น การตั้งท่านนกเค้าให้เป็นใหญ่ในหมู่เรานี้ ข้าพเจ้าไม่เห็นชอบด้วยประการทั้งปวง(ประมาณว่า บุคลิกลักษณะไม่เหมาะต่อการเป็นผู้นำ)
 
 
ครั้นกานั้นกล่าวจบ ก็ทำการ Flyout บินออกจากที่ประชุมในทันที พร้อมร้องประท้วงไปในอากาศว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นชอบ ข้าพเจ้าไม่เห็นชอบ ฝ่ายนกเค้านั้นก็บินขึ้นไล่ติดตามกานั้นไป
 
 
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เหล่ากาและเหล่านกเค้าจึงได้ผูกเวรกันและกัน กล่าวคือ กาทั้งหลายพากันบุกไปกินนกเค้าทั้งหลายถึงที่พักของพวกนกเค้าในตอนกลางวัน(เพราะนกเค้านอนกลางวันตื่นกลางคืน) ฝ่ายนกเค้าทั้งหลาย เมื่อพระอาทิตย์อัศดงคต ก็พากันไปบินเฉี่ยวศีรษะของพวกกาที่นอนอยู่ในที่พักของพวกกา ทำให้พวกกาเหล่านั้นถึงความสิ้นชีวิตไปเช่นกัน
 
ฝ่ายนกทั้งหลายที่ร่วมประชุมกันอยู่นั้น ด้วยไม่ต้องการให้สภาล่ม จึงได้ตั้งบุตรชายของหงส์ทอง(หังสโปดก)ให้เป็นพระราชา จากนั้นจึงปิดการประชุมแล้วแยกย้ายกลับกันไป
 
ในกาลต่อมา ราชาหงส์ทอง(พญาสุวรรณหงส์) มีธิดานางหนึ่ง เป็นลูกหงส์มีลักษณะงาม พระยาสุวรรณหงส์นั้นได้ให้พรแก่ธิดานั้น ธิดาหงส์ทองจึงขอสิทธิ์เลือกผู้จะมาเป็นสามีของนางตามชอบใจของตน
 
พระยาหงส์จึงให้พรแก่ธิดาตามที่นางขอ จากนั้นจึงส่งเทียบเชิญนกทั้งปวงในแดนหิมวันต์มาประชุมกันที่ลานหินใหญ่แห่งหนึ่ง หมู่นกนานาชนิดมีหงส์และนกยูงเป็นต้นมาพร้อมกันแล้ว พระยาหงส์บอกกับธิดามาว่า จงมาเลือกเอาสามีตามชอบใจของลูกเถิด
 
ธิดานั้นตรวจดูหมู่นก ได้เห็นนกยูงนายหนึ่งมีคอสีดุจแก้วไพฑูรย์ มีหางงามวิจิตร จึงประกาศว่า นกผู้นี้จะเป็นสามีของข้าพเจ้า
หมู่นกทั้งหลายจึงเข้าไปหานกยูงเพื่อกล่าวแสดงความยินดีว่า ท่านนกยูงผู้สหาย ราชธิดานี้ เมื่อจะเลือกผู้เป็นสามีในท่ามกลาง
 
หมู่นกทั้งหลายมีประมาณเท่านี้ ได้เกิดความความพอใจในตัวท่านแล้ว
 
นายนกยูงนั้นคิดว่า แม้ในวันนี้ พวกนกทั้งหลายก็ยังไม่เคยเห็นศักยภาพของเรามาก่อน จึงทำลายหิริโอตตัปปะของตน เพราะความลำพองดีใจยิ่งนัก เริ่มจากการแสดงกิริยาเหยียดปีกและออก และเริ่มจะรำแพนในท่ามกลางหมู่นกทั้งหลาย นายนกยูงนั้นได้ทำการรำแพนอย่างเต็มที่ ไม่มีการเงื่อนงำปิดบังอำพรางไว้แต่อย่างใด
 
พญาสุวรรณหงส์เห็นนายนกยูงแสดงกิริยารำแพนอย่างลำพองนั้น ก็รู้สึกละอายยิ่งนัก จึงคิดว่า
 
นกยูงผู้นี้ ไม่มีหิริอันมีสมุฏฐานตั้งขึ้นภายในเลย โอตตัปปะอันมีสมุฏฐานตั้งขึ้นในภายนอกจะมีได้อย่างไร เราจักไม่ยกให้ธิดาของเราแก่นกยูงผู้ทำลายหิริโอตตัปปะตัวนั้น
 
  • ความหมายของ หิริ - ความละอายต่อบาป คือ คุณธรรมเกิดจากปัจจัยภายใน ซึ่งมีตนเองเป็นที่ตั้ง(สามัญสำนึก)
  • ในทางสังคมหมายถึง การให้ความเคารพต่อคุญธรรมในตนเอง
  • เมื่อไม่มี หิริ จึงหมายถึง ไม่มีคุณธรรมในตนเอง ไม่เคารพตนเอง ขาดความสำนึกในการกระทำ(เรียกว่า อหิริกะ)

 

  • ความหมายของ โอตตัปปะ - ความเกรงกลัวต่อบาป คือ ความเคารพต่อคุณธรรมของผู้อื่น ซึ่งเกิดจากปัจจัยภายนอก ได้แก่ สังคมเป็นที่ตั้ง
  • ในทางสังคมหมายถึง รู้จักพิจารณาด้วยตนเองว่า ถ้าทำบาปเราจักถูกติเตียนและลงทัณฑ์จากมหาชน(คือ ถูกมหาชนและกฏหมายโดยชอบธรรมในสังคมลงโทษ)
  • เมื่อไม่มี โอตตัปปะ จึงหมายถึง ไม่มีความเคารพยำเกรงต่อสิทธิและกฎหมายโดยชอบธรรมของสังคม ใช้ตัวเองเป็นที่ตั้งเพื่อกระทำสิ่งอันไม่สมควร(เรียกว่า อโนตัปปะ)
พญาสุวรรณหงส์จึงกล่าวกับนายนกยูงกลางที่ประชุมเพื่อให้นกอื่นๆร่วมรับทราบว่า
 
เสียงของเธอช่างไพเราะจับใจ แผ่นหลังก็สวยงาม สร้อยคอก็เปรียบประดุจดังสีแก้วไพฑูรย์ และกำหางก็ยาวตั้งวา แต่เราจะไม่ให้ลูกสาวแก่เธอผู้ไม่มีความละอายปานฉะนี้ เพราะเธอทำลายหิริโอตตัปปะแล้วเที่ยวรำแพนหางร่ายรำ ซึ่งเป็นการแสดงความไม่เคารพต่อหมู่นกทั้งหลายในที่ประชุมแห่งนี้
 
จากนั้น พญาสุวรรณหงส์จึงประกาศยกธิดาให้แก่บุตรหงส์ผู้เป็นหลานของตนในท่ามกลางที่ประชุมนั้น
 
ฝ่ายนายนกยูงผู้ไร้ยางอาย เมื่อไม่ได้ธิดาหงส์ ก็บังเกิดละอายขายหน้าจึงบินหนีไป พญาาหงส์ทองจึงกล่าวปิดการประชุมแล้วไปยังที่อยู่ของตน
 
 
เมื่อครั้งปฐมกัปนั้น ในมหาสมุทรมีปลาใหญ่อยู่ ๖ ตัว ชื่ออานนท์ตัวหนึ่ง ชื่ออุปนันทะตัวหนึ่ง ชื่ออัชโฌหารตัวหนึ่ง ปลาใหญ่ทั้ง ๓ ตัวนี้มีความยาวประมาณ ๕๐๐ โยชน์ ชื่อติมิงคละตัวหนึ่ง ชื่อติมิงคละตัวหนึ่ง ชื่อมหาติมิรมิงคละตัวหนึ่ง ปลาใหญ่ ๓ ตัวนี้มีความยาวประมาณ ๑,๐๐๐ โยชน์ ปลาใหญ่ทั้ง ๖ ตัวนี้กินสาหร่ายที่งอกอยู่ตามหินก้นทะเลเป็นภักษาหารทุกตัว ในบรรดาปลาทั้ง ๖ ตัวนั้น ปลาทั้งหลายได้พบปลาอานนท์บ่อยที่สุด
 
ครั้นเหล่าปลาในมหาสมุทร(พิจารณาจากขนาดตัวแล้ว น่าจะเป็นการประชุมของวาฬหลากชนิด)ได้ข่าวว่า มนุษย์ สัตว์๔เท้า และสัตว์๒เท้า ได้ตั้งราชากันหมดแล้ว เหล่าปลาในมหาสมุทรจึงจัดประชุมขึ้นบ้าง โดยปรึกษากันว่า พระราชาของสัตว์๒เท้า และสัตว์๔เท้าก็ได้ปรากฏแล้ว แต่ราชาของพวกเรานั้นยังไม่มี พวกเราจึงควรตั้งปลาตัวหนึ่งให้เป็นราชา
 
ในการประชุมครั้งนั้น เหล่าปลาปลาทั้งหลายได้ยื่นเสนอชื่อของปลาอานนท์เข้าร่วมเปิดญัตติพิจารณาต่อที่ประชุม ด้วยเห็นว่า ปลาอานนท์นั้นอยู่ในมหาสมุทรส่วนที่ปลาเหล่านั้นเข้าพบถึงตัวได้ง่ายที่สุด(ประมาณว่าเห็นกันจนคุ้นหน้าแล้ว)
 
ปลาทั้งหมดก็เห็นดีด้วย จึงได้รวมคะแนนเสียงกันเป็นมติเอกฉันท์โดยไร้เสียงคัดค้านจากผู้ใด และทำการยกปลาอานนท์ขึ้นเป็นใหญ่ จำเดิมแต่นั้นมา ปลาเหล่านั้นก็ไปบำรุงดูแลปลาอานนท์ทุกเวลาเย็นและเวลาเช้า
 
วันหนึ่ง ปลาอานนท์สาหร่ายที่เกิดจากหินอยู่ ณ ภูเขาแห่งหนึ่งใต้สมุทร ก็ได้เผลอกินปลาตัวหนึ่งเข้าโดยไม่ทันเห็น ก็คิดว่าเป็นสาหร่ายตามปกติ รสของเนื้อปลานั้นแผ่ไปทั่วสรีระของปลาอานนท์ ปลาอานนท์จึงคิดว่า ตนกินอะไรเข้าไปหนอช่างอร่อยเหลือเกิน จึงสำรอกคายออกมาพิจารณาดูก็เห็นชิ้นปลา ปลาอานนท์จึงคิดต่อว่า เราก็หากินแต่สาหร่ายมานานถึงเพียงนี้ กลับไม่รู้จักรสปลา
 
หลังจากที่ติดในรสของปลาแล้ว ปลาอานนท์จึงเริ่มคิดแผนการว่า พวกปลามาสู่ที่บำรุงของเราทั้งเวลาเช้าและเวลาเย็นมีจำนวนมาก หากในเวลาที่ปลาเหล่านั้นกลับ เราก็น่าจะกินมันครั้งละตัวหนึ่งหรือสองตัวได้ แต่ถ้าจะกินพวกมันโดยเปิดเผยให้ปลาอื่นเห็น ปลาทั้งหลายแม้แค่ตัวหนึ่งก็จะไม่เข้าใกล้เราอีก และพากันหนีไปเสียหมด เราจะต้องทำอย่างแนบเนียน โดยใช้วิธีจับปลาตัวที่โค้งคำนับลาเราเป็นตัวหลังสุดกิน
 
แต่นั้นมา ปลาอาานนท์ก็เริ่มปฏิบัติการตามแผนแอบกินของตนเรื่อยมา ปลาทั้งหลายจึงหมดสิ้นไปโดยลำดับ เหล่าปลาที่ยังเหลืออยู่จึงเปิดประชุมกันอีกครั้งภายใต้หัวข้อการประชุมว่า ภัยอันเกิดขึ้นแก่เหล่าญาติของเรานี้มาจากที่ไหนหนอ
 
ลำดับนั้น มีปลาฉลาดตัวหนึ่งคิดว่า กิริยาและความประพฤติของปลาอานนท์ไม่เป็นที่ชอบใจของเราเลย เราจักคอยจับตาดูกิริยาความประพฤติของปลาอานนท์ไว้ ครั้นถึงเวลาที่เหล่าปลาไปสู่ที่บำรุงปลาอานนท์แล้ว ปลาฉลาดจึงแอบแฝงตัวอยู่ข้างครีบของปลาอานนท์
 
ครั้นถึงเวลาที่ปลาอานนท์ส่งเหล่าปลากลับ ก็กินปลาตัวที่กลับหลังสุดเช่นเคย ปลาฉลาดตัวนั้นเห็นการกระทำของปลาอานนท์แล้ว จึงไปบอกแก่พรรคพวกของตน เมื่อทราบเรื่องปลาเหล่านั้นตกใจกลัวพากันอพยพหนีไปจนหมด
 
ตั้งแต่วันปลาทั้งหลายหนีไปหมด ปลาอานนท์ก็ไม่ยอมกินอาหารอย่างอื่นเลย เพราะติดในรสเนื้อปลา ครั้นถูกความหิวบีบคั้นมากขึ้นจนร่างกายซูบผอม จึงคิดว่า ปลาเหล่านี้ไปแอบซ่อนอยู่ที่ไหนหนอ
 
ครั้นทนไม่ไหว ปลาอานนท์จึงเที่ยวออกตามหาปลาเหล่านั้น จนมาถึงภูเขาลูกหนึ่ง ปลาอานนท์จึงคิดว่า ชะรอยพวกมันจะแอบอาศัยภูเขาลูกนี้เพราะกลัวเรา ฉะนั้น เราต้องลองโอบภูเขาตรวจดู จึงเอาหางและหัวโอบภูเขาไว้โดยรอบทั้งสองข้าง พร้อมกล่าวต่อไปว่า ปลาที่อยู่ในที่นี้ทั้งหมด จักหนีไปทางไหนได้
 
ครั้นโอบภูเขาเข้าไว้ ปลาอานนท์จึงมองเห็นหางของตนเองเข้า ก็โกรธด้วยสำคัญว่า ปลาตัวนี้มันลวงเราอาศัยภูเขาแอบอยู่จริง จึงฮุบหางของตนเองประมาณ ๕๐ โยชน์เอาไว้อย่างมั่นคง ด้วยสำคัญว่าเป็นปลาอื่นแล้วเคี้ยวกินเสียอย่างเอร็ดอร่อย จนเกิดทุกขเวทนาขึ้นอย่างยากลำบาก พวกปลาทั้งหลายจึงมาประชุมกันเพราะกลิ่นเลือดของปลาอานนท์นั้นฟุ้งไปทั่วสมุทร แล้วพากันรุมกินปลาอานนท์ตลอดศีรษะเพราะกลิ่นเลือดนั้น ปลาอานนท์ไม่อาจกลับตัวได้เพราะตัวใหญ่ จึงถึงความสิ้นชีวิตในที่นั้นเอง
 
กองกระดูกของปลาอานนท์ใหญ่โตดุจภูเขา พวกดาบสและปริพาชกซึ่งเที่ยวทางอากาศได้นำเหตุการณ์นี้มาเล่าให้พวกมนุษย์ฟัง พวกมนุษย์ทั้งหลายในชมพูทวีปจึงรับรู้โดยทั่วกัน
⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
24 VOTES (4/5 จาก 6 คน)
VOTED: Shushi, zerotype, challen
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
ขนลุก! ชฎาหลุด "โอปอล" พรีเซ้นท์ชุดประจำชาติ บนเวที Miss Universe 2024กฤษอนงค์ชี้ ไม่ได้มีความสัมพันธ์ใดกับรัฐมนตรีน้ำ วอนสังคมเข้าใจชายออสเตรเลีย ฟื้นคืนชีพ หลังหัวใจหยุดเต้น 90 นาที กลับมาเล่าถึงโลกหลังความตๅย10 อันดับเลข ยอดฮิต หวยแม่จำเนียร 16/11/67บอน นักร้องชื่อดัง รับผิด กุเรื่องเป็น ป่วยมะเร็ง หลอกแฟนคลับพระปีนเสาตัดพ้อ สังคมเปลี่ยนไปเยอะ บิณฑบาตทั้งวันไม่มีคนใส่ ต้องหันมาพึ่งพาเซเว่น..ทำไมในสงครามโบราณผู้โจมตี เลือกที่จะใช้ไม้ซุงชนประตูเมืองแทนที่จุดไฟเผา?ราคาทองร่วงหนักChand Baori: บ่อน้ำขั้นบันไดที่ลึกที่สุดในอินเดีย แห่งความงดงามและภูมิปัญญาโบราณ"รวมภาพเรียกรอยยิ้มประจำวันนี้ วันที่เป็นวันลอยกระทงแล้ว พี่ๆน้องๆหลายคนคงรอตอนเลิกงานกันแล้วซิเนาะ เด็กๆก็รอตอนเรียนเสร็จ จะได้ไปลอยกระทงกันภาพมุมสูงที่มีความสวยงาม และยิ่งใหญ่ของ "สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์""ปริศนาลูกหินยักษ์แห่ง Podubravlje: ความลับที่ยังซ่อนอยู่ในหินกลมขนาดยักษ์จากยุคโบราณ"
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
ผู้นำเกาหลีเหนือตั้งเป้าผลิตโดรน จู่โจมเพิ่มไมค์ ไทสัน ตบ เจค พอล ก่อนขึ้นเวทีชกจริงชนเผ่า Mursi แห่งหุบเขาโอมาน เอธิโอเปีย: วิถีชีวิตและสัญลักษณ์อันโดดเด่นของจานรองปากร้อนรนทนนิ่งไม่ไหว !! "เจ๊พัช" ขอโทษ “รัฐมนตรีน้ำ” ปมคลิปเสียงหลุดผู้ประกันตน ม.33 และ ม.39 เตรียมรับเงินสงเคราะห์บุตรเพิ่มเป็น 1,000 บาท เริ่ม 1 มกราคม 2568นิวซีแลนด์ยุติประชุมรัฐสภาชั่วคราว หลัง ส.ส. ลุกขึ้นร้องเพลงและเต้นประท้วง เหตุไม่พอใจร่างกฎหมายใหม่ ที่อาจจะริดรอนสิทธิชนพื้นเมือง
กระทู้อื่นๆในบอร์ด นิทานพื้นบ้าน-วรรณคดี
รูปแบบจำลอง งาช้างฉัททันต์พระเจ้าอุเทนถูกจับกินนร ๓ เผ่าพันธุ์จากพระไตรปิฎกรัศมีรอบศีรษะนาค
ตั้งกระทู้ใหม่