มหรสพสมโภช “ในหลวง ร.9” ถวายพระเกียรติ ส่งเสด็จสู่สรวงสวรรค์
ตามธรรมเนียมโบราณราชประเพณี ในการถวายพระเพลิงพระบรมศพและพระศพ จะจัดให้มีมหรสพขึ้น เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติยศสูงสุดและส่งเสด็จสู่สรวงสวรรค์ โดยมิได้ถือเป็นงานโศกเศร้าเสียใจ
ข้อมูลจากหนังสือธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย เขียนโดยนนทพร อยู่มั่งมี ได้อ้างถึงคำให้การขุนหลวงหาวัดเกี่ยวกับการมหรสพในสมัยกรุงศรีอยุธยาไว้อย่างน่าสนใจว่า
งานมหรสพจะมีความยิ่งใหญ่ขึ้นอยู่กับอิสริยยศของผู้วายชนม์ ซึ่งอยู่ในแบบแผนของการสร้างพระเมรุ กล่าวคือ ถ้าเป็นพระเมรุเอกขื่อ 7 วา เสายาว 20 วา จะมีมหรสพหน้าพระเมรุมี รทาใหญ่ สำหรับดอกไม้เพลิงสูง 12 วา 16 รทา ๆ นั้น ยกมณฑปทั้งสิ้น
ระหว่างรทามีโรงระบำ 15 โรง หน้ารทาใหญ่มีเสาไม้สามต่อ 12 ต้น หน้าเสาไม้สามต่อมีไม้ลอยเลวลวดลังกา มีคนคาบค้นนอนหอกนอนดาบ ลอดบ่วงเพลิง กะอั้วแทงควาย กุลาตีไม้ โมงครุ่ม และยังมีโขน หุ่น งิ้ว ละคร สิ่งละ 2 โรง ละครชาตรี เทพทองมอญรำ เพลงปรบไก่ เสภา เล่านิยาย อย่างละโรง
เเผนผังจัด 3 เวที การเเสดง ทิศเหนือของสนามหลวง
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีการจัดมหรสพ อาทิ ในงานพระศพพระจ้าน้องนางเธอเสมอสมัยหรรษา มีไม้ต่ำสูง โขน หุ่น งิ้ว มอญรำ หนัง ดอกไม้เพลิง และงานพระศพพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นภูมินทรภักดี มีไม้ลอย ไม้ต่ำสูง โขน หุ้น งิ้ว มอญรำ หนัง เชิดสิงโต มังกร ญวนรำกระถาง ดอกไม้เพลิง
หรือกีฬาบางชนิดยังถูกจัดเป็นมหรสพด้วย เช่น การชกมวย ซึ่งมีบันทึกไว้ผ่านบทพระราชนิพนธ์เรื่อง อิเหนา ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ตอนงานพระเมรุเมืองหมันหยา ซึ่งได้จัดให้มีกีฬาชกมวยหญิงขึ้น
การจัดมหรสพในการออกงานพระเมรุเริ่มจางหายไป หลังสิ้นแผ่นดินล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงเห็นว่า สมควรแสดงความเคารพต่อผู้ล่วงลับอย่างแท้จริง จึงให้งดจัดงานรื่นเริง จนกระทั่งปี พ.ศ. 2539 ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้มีการรื้อฟื้นขึ้นอีกครั้ง
ด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเห็นว่าเพื่อไม่ให้บรรยากาศเงียบเหงาเหมือนครั้งพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 เมื่อปี พ.ศ. 2528 ทั้งยังเป็นการรักษาโบราณราชประเพณีไว้ด้วย
สำหรับปัจจุบันในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรมจัดการแสดงมหรสพสมโภชตามโบราณราชประเพณี โดยการแสดงทั้งหมดจะจัดขึ้น 3 เวที บริเวณสนามหลวงด้านทิศเหนือ
เวทีที่ 1 การแสดงมหรสพ เป็นเวทีการแสดงหนังใหญ่เบิกหน้าพระ และโขน เรื่องรามเกียรติ์ โดยนาฏศิลปินของสำนักการสังคีต กรมศิลปากร ร่วมด้วยครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา วิทยาลัยนาฏศิลป 12 แห่ง สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ จำนวน 1,020 คน และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง ประมาณ 100 คน รวมทั้งสิ้น 1,120 คน นอกจากนี้ ยังมีการแสดงโขนพระราชทานของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ประมาณ 200 – 300 คน
โขนหน้าจอเเละโขนชักรอก
มีตั้งแต่หนังใหญ่เบิกหน้าพระ และการแสดงเบิกโรงหนังใหญ่ ชุดจับลิงหัวค่ำ, การแสดงโขนหน้าจอ และโขนชักรอก เรื่องรามเกียรติ์ ชุดพระรามข้ามสมุทร ชุดศึกทศกัณฐ์ครั้งแรก ทัพสิบขุนสิบรถ ชุดท้าวมาลีวราชว่าความ ชุดนางมณโฑหุงน้ำทิพย์ ชุดศึกทศกัณฐ์ขาดเศียรขาดกร และชุดสีดาลุยไฟ พระรามคืนนคร เป็นการแสดงของกรมศิลปากร
รวมถึงการแสดงโขนหน้าจอ และโขนชักรอก เรื่องรามเกียรติ์ ชุดรามาวตาร ทศกัณฐ์รบสดายุ หนุมานถวายพล พิเภกสวามิภักดิ์ ซึ่งเป็นการแสดงของโขนพระราชทาน (มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ)
เวทีที่ 2 การแสดงละคร หุ่นหลวง หุ่นกระบอก ประกอบด้วย ละคร เรื่องพระมหาชนก การแสดงหุ่นหลวง ตอนหนุมานเข้าห้องนางวานรินทร์ การแสดงหุ่นกระบอก เรื่องพระอภัยมณี ตอนกำเนิดสุดสาครจนถึงเข้าเมืองการะเวก รำกิ่งไม้เงินทอง ละครใน เรื่องอิเหนา ตอนบุษบาชมศาล – อิเหนาตัดดอกไม้ – ฉายกริช – ท้าวดาหาบวงสรวง
การเเสดงชุดพระมหาชนก
การเเสดงชุดอิเหนา
นอกจากนี้ยังมีละคร เรื่องมโนห์รา ซึ่งผู้แสดง บรรเลง ขับร้อง จากสำนักการสังคีต กรมศิลปากร และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ 322 คน และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง ประมาณ 100 คน รวมทั้งสิ้น 422 คน
การเเสดงชุดมโนราห์
รำกิ่งไม้เงินกิ่งไม้ทอง
เวทีสุดท้าย การแสดงดนตรีสากล บรรเลงและขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์เพลงเทิดพระเกียรติ และบทเพลงถวายอาลัย และบทเพลง ที่สื่อความหมายสอดคล้องกับการแสดงแต่ละองก์ 7 องก์ โดยผู้บรรเลง ขับร้อง และผู้แสดงจาก สำนักการสังคีต กรมศิลปากร สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ วงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ วงสหายพัฒนา โรงเรียนราชินี กรมดุริยางค์ทหารบก กองดุริยางค์ทหารเรือ กองดุริยางค์ทหารอากาศ กองสวัสดิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งใช้ผู้บรรเลง ขับร้อง และผู้แสดง 753 คน ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง 189 คน รวมทั้งสิ้น 942 คน
การเเสดงดนตรีวงออเคสตร้า
การเเสดงโขนหน้าพระที่นั่งทรงธรรม
นอกจากการแสดงทั้ง 3 เวทีแล้ว ยังได้กำหนดการแสดงที่สำคัญยิ่งคือ การแสดงหน้าพระที่นั่งทรงธรรม หรือพระเมรุมาศ ที่เรียกกันว่า โขนหน้าไฟ จัดการแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ชุดพระรามข้ามสมุทร–ยกรบ–รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอีกด้วย
ทั้งนี้ จะเริ่มแสดง 18.00 น. ในวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ จนถึงเวลา 06.00 น. ของวันรุ่งขึ้น โดยการแสดงของทุกเวทีจะหยุดการแสดงเมื่อมีพระราชพิธีในพระเมรุมาศ
การแสดงมหรสพในงานออกพระเมรุถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติต่อพระบรมศพและพระศพเจ้านายมาแต่โบราณกาล แม้จะเป็นงานรื่นเริง และถือเป็นการออกทุกข์ แต่เชื่อว่า พสกนิกรทุกหมู่เหล่าหาได้คลายความโศกเศร้าหมดไป เมื่อภาพพระเมรุมาศตรงหน้า คือ พระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่รักยิ่ง...ภูมิพล .