ถุงพลาสติกใบนี้...ควรฟรีหรือ (บังคับ) จ่าย
คงผ่านหูผ่านตากันมาบ้างกับโครงการ “รวมพลังสร้างวินัย ลดใช้ถุงพลาสติก” ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ที่ขอความร่วมมือจากห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ฯลฯ งดให้บริการถุงพลาสติกหูหิ้วแก่ลูกค้าในวันที่ 15 ของทุกเดือน ตั้งแต่สิงหาคม 2558 ก่อนจะขยับความถี่เป็นวันที่ 15 กับ 30 ของทุกเดือน และเพิ่มความเข้มข้นเป็น “ทุกวันพุธ” เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว
หากถามว่า มาตรการแบบนี้สามารถสร้างความเคยชินในการลดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วของคุณลูกค้าได้อย่างเป็นรูปธรรมหรือไม่
คำตอบเป็นไปได้หลากหลาย ขึ้นอยู่กับว่าใครตอบ
ทส. ซึ่งตั้งเป้าลดใช้ถุงพลาสติก 89 ล้านใบภายใน 4 ธันวาคม 2559 จัดนิทรรศการความสำเร็จของโครงการฯ ที่อาคารอิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมไทย 4 ธันวาคม 2559 โดยแจ้งตัวเลข 166,775,853 ใบเป็นจำนวนการใช้ถุงพลาสติกที่ลดลง[1] นั่นนับว่าเกินเป้าไปเกือบเท่าตัว
ครั้นลองสุ่มสอบถามจากพนักงานแคชเชียร์บางรายก็พบว่า ลูกค้าไม่ได้ให้ความร่วมมือเสมอไป และเมื่อผู้ซื้อร้องขอถุงพลาสติกหูหิ้ว พวกเขาก็ยากจะปฏิเสธ
...หรือการแจกแต้ม แจกคะแนน แจกพ้อยต์ รวมถึงมอบเปอร์เซ็นต์ส่วนลดจะยังไม่จูงใจมากพอให้เปลี่ยนพฤติกรรม
ถ้าขอความร่วมมืองดแจกถุงพลาสติกหูหิ้วทุกวันเลยล่ะจะเป็นไปได้รึ
ประเทศไทยมีกรณีตัวอย่างเกิดขึ้นแล้วจริงๆ ในโครงการ “มหิดล Reduce & Reuse ถุงพลาสติก” ซึ่งขอความร่วมมือจากร้านสะดวกซื้อจำนวน 12 ร้านใน ม.มหิดล วิทยาเขตศาลายา และศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก งดให้บริการถุงพลาสติกแก่ลูกค้าตั้งแต่ 25 กรกฎาคม 2559 โดยประชาสัมพันธ์และจัดกิจกรรมรณรงค์รับบริจาคถุงพลาสติกใช้แล้วสภาพดีอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 เดือนก่อนเริ่มโครงการ
เมื่อไม่แจกถุงพลาสติกย่อมต้องมีทางเลือกให้ผู้ซื้อ
หนึ่ง...ซื้อถุงพลาสติกใหม่ใบละ 2 บาท
สอง...เตรียมถุงผ้า ถุงพลาสติก หรือถุงอะไรก็ได้มาใส่เอง
สาม...หยิบถุงพลาสติกรียูสจาก drop box ในร้านมาใช้ซ้ำ
เจ้าหน้าที่กองกายภาพและสิ่งแวดล้อม ม.มหิดล ให้ข้อมูลจากการสุ่มสังเกตว่า ร้านสะดวกซื้อส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือดี นับจากวันแรกจนถึงเดือนตุลาคม 2559 สามารถลดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วได้ 288,861 ใบ แต่ตอนนี้เริ่มขาดแคลนถุงพลาสติกรียูส จึงต้องเร่งรับบริจาคให้มากขึ้น ซึ่งหากแก้ปัญหาสำเร็จก็อาจขยายการดำเนินงานไปยังวิทยาเขตพญาไท ศิริราช ฯลฯ
ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ เจ้าหน้าที่กองกายภาพฯ แอบหวังให้สังคมของชาวมหิดลเดินไปถึงจุดที่ไม่ต้องมีจุดบริการถุงพลาสติกรียูส เพราะทุกคนพกถุงพลาสติกใช้ซ้ำหรือถุงผ้าติดตัวจนกลายเป็นนิสัยนั่นเอง[2]
ไม่ใช่แค่ที่เดียว สถาบันอุดมศึกษาใจกลางเมืองอย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ประชาสัมพันธ์และเตรียมงานโครงการ “Chula Zero Waste” กันอย่างคึกคักตั้งแต่ปลายปี 59 ก่อนเริ่มมาตรการงดแจกถุงพลาสติกในร้านสหกรณ์และร้านสะดวกซื้อทุกสาขาในมหาวิทยาลัยวันที่ 1 ก.พ. 60 โดยรับบริจาคถุงผ้าและถุงพลาสติกใช้แล้วเพื่อหมุนเวียนใช้และเป็นทางเลือกสำหรับลูกค้าที่ไม่ต้องการซื้อถุงพลาสติกใหม่เอี่ยมในราคาใบละ 2 บาท
แล้วถ้าเพิ่มดีกรีความเข้มข้นด้วยการเก็บค่าถุงพลาสติกโดยให้ลูกค้าที่ต้องการใช้งานเป็นผู้จ่ายล่ะ ไม้แข็งแบบนี้ต้องตามไปดูตัวอย่างของต่างประเทศ
ไอร์แลนด์เป็นประเทศแรกที่ริเริ่มมาตรการทางกฎหมายกับถุงพลาสติกทุกชนิด ยกเว้นถุงพลาสติกใส่เนื้อสด เมื่อมีนาคม 2545 ปรากฏว่า ปริมาณการใช้ถุงพลาสติกลดลงถึงร้อยละ 90 ในช่วงแรก แต่เมื่อผ่านไป 5 ปีผู้บริโภคชักจะตื่นตัวน้อยลง จึงเพิ่มราคาถุงจากใบละ 0.15 ยูโรเป็น 0.22 ยูโร การประเมินผลภาพรวมพบว่า ผู้ประกอบการร้านค้าตอบรับดี ปริมาณการใช้ถุงพลาสติกลดลงจริง เก็บภาษีได้ปีละประมาณ 20 ล้านยูโร และมีโรงงานผลิตถุงพลาสติกบางแห่งต้องปิดกิจการ
ไต้หวันเป็นอีกประเทศที่เริ่มเก็บค่าถุงพลาสติกในปีเดียวกัน รัฐบาลสั่งห้ามใช้ถุงที่มีความหนาน้อยกว่า 0.06 มิลลิเมตรแต่ไม่กำหนดอัตราภาษีตายตัว ร้านค้าส่วนใหญ่คิดค่าถุงใบละ 1-3 ดอลลาร์ไต้หวัน ผ่านไปหนึ่งปีอัตราการใช้ถุงพลาสติกลดลงกว่าร้อยละ 80 หลังจากนั้นมีแนวโน้มการใช้เพิ่มขึ้นบ้างเล็กน้อย
นิวซีแลนด์ แคนาดา สเปน เบลเยียมก็เลือกใช้การเก็บค่าธรรมเนียมหรือภาษีสิ่งแวดล้อมเพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมเช่นกัน แต่ยังไม่สุดขีดถึงขั้นออกกฎหมายห้ามผลิตและจำหน่ายถุงพลาสติกจากโพลีเอทธีลีนเหมือนประเทศบังคลาเทศ หรือห้ามใช้ถุงพลาสติกเหมือนกลุ่มประเทศแถบแอฟริกา อาทิ แอฟริกาใต้ เอธิโอเปีย เคนยา รวันดา แทนซาเนีย ฯลฯ
ใช่ว่าการบังคับเข้มงวดจะประสบผลสำเร็จเสมอไป...
ภูฏานและจีนเป็นกรณีตัวอย่างที่ออกมาตรการห้ามใช้ถุงพลาสติก แต่ยังไม่ได้ผลนักหรือลดได้ในช่วงแรกแต่หลังจากนั้นก็มีแนวโน้มการใช้ที่เพิ่มขึ้นด้วยหลายสาเหตุ ได้แก่ ไม่จริงจังในการบังคับใช้กฎหมายต่อเนื่อง ไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่ามาทดแทนถุงพลาสติก และขาดการสร้างจิตสำนึกแก่ประชาชนซึ่งควรทำควบคู่กัน[3],[4]
ถึงบรรทัดนี้ เอ๊ะ...สมัครใจ? กฎหมาย? มาตรการแบบไหนที่จะเหมาะกับบ้านเรา
คำถามคาใจพาให้ต้องไปนั่งคุยกับอาจารย์ชาคริต สิทธิเวช คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ “อิน” กับเรื่องเขียวๆ ถึงขั้นลงมือปฏิบัติตั้งแต่แยกขยะ เลือกใช้ถ่านไฟฉายชาร์จได้ พกถุงผ้า กระทั่งพกรถเข็นเล็กติดรถไว้สำหรับขนของที่ซื้อจากซูเปอร์มาร์เก็ต ฯลฯ
อาจารย์ชาคริต สิทธิเวช คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ©ฐิตินันท์ ศรีสถิต
อาจารย์ชาคริตเปิดบทสนทนาด้วยการเล่าประสบการณ์ตรงจากซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อในประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งงดแจกถุงพลาสติกแก่ลูกค้า โดยเปลี่ยนมาจำหน่ายในราคาใบละ 100 วอน หรือประมาณ 3 บาท ตั้งแต่ประมาณปี 2541-2542 โดยไม่ใช้กฎหมายบังคับ
ระยะแรกผู้คนแสดงความไม่พอใจด้วยการด่าทอร้านค้า ลูกค้าหลายคนไม่แยแสการเก็บค่าถุงด้วยซ้ำ เพราะตั้งราคาขายถูกมาก กระทั่งวิเคราะห์กันว่า มาตรการนี้น่าจะล้มเหลว เพราะปริมาณการใช้ถุงพลาสติกไม่ลดลงเลย
แต่หลังจากนั้น เมื่อพยายามอธิบายเหตุผลความจำเป็นในการทำเพื่อส่วนรวมและแก้ปัญหาขยะ ความเข้าใจก็งอกงาม กลายเป็นพลังมวลชนที่ค่อยๆ สร้างความเปลี่ยนแปลงในช่วงเกือบสองทศวรรษและพัฒนาเป็นค่านิยมที่เข้มแข็งในปัจจุบัน
“ตอนนี้คนด่าร้านค้าที่ยังแจกถุงพลาสติก และไม่มีคนเกาหลีที่ซื้อถุงพลาสติกอีกแล้ว ทุกคนเตรียมถุงผ้ามาเอง”
แล้วเราควรบังคับใช้มาตรการเก็บภาษีถุงพลาสติกในเมืองไทยหรือไม่
“พูดยากนะ ตอบไม่ได้จริงๆ เพราะคนไทยมีนิสัยไม่เหมือนใคร ใครทำอะไรดีงามเห็นด้วยหมด ไม่ขวางนะแต่อย่ามายุ่งกับฉัน บางครั้งคนอื่นไม่ทำก็ต่อว่าเขา แต่พอตัวเองก็ยังขอถุงอยู่ดี”
อาจารย์ชาคริตมองว่า การบังคับช่วยให้ผู้ประกอบการสบายใจที่จะเก็บค่าถุงพลาสติก สามารถอ้างการทำหน้าที่ตามกฎหมายโดยไม่ต้องกลัวเสียลูกค้า เพราะทุกแห่งต้องปฏิบัติเหมือนกันหมด ต่างจากการขอความร่วมมือหรือมาตรการสมัครใจที่ผู้ประกอบการบางแห่งอาจละเว้นปฏิบัติ ซึ่งกลายเป็นดึงดูดลูกค้าที่ยังต้องการใช้ถุงพลาสติกจากคู่แข่งที่ให้ความร่วมมือไปโดยปริยาย
“แต่ฝ่ายที่จะไม่ทำคือการเมือง การเมืองไทยมักไม่ทะเลาะกับชาวบ้านและนี่คือต้นตอของปัญหาสิ่งแวดล้อมไทย”
ยิ่งเคยมีงานวิจัยบ่งชี้ว่า ผู้บริโภคของไทยมีแนวโน้มที่จะต่อต้านมาตรการเก็บภาษีการใช้ถุงพลาสติกด้วยแล้ว ยิ่งเป็นไปได้ยากที่เรื่องนี้จะริเริ่มจากฝั่งการเมือง
ทั้งนี้ควรทำความเข้าใจด้วยว่า การเขียนกฎหมายแต่ละฉบับต้องใช้เวลาศึกษานานเพื่อให้รัดกุม แถมยังมีค่าใช้จ่ายมหาศาล ซึ่งในทัศนะของนักกฎหมายท่านนี้ กฎหมายไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์อะไรเลย กฎหมายที่ออกมาจะดีหรือไม่ล้วนขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของคนในสังคม ถ้าคนไม่สนใจ ไม่ปฏิบัติตาม ขณะที่เจ้าหน้าที่ก็ไม่บังคับใช้ให้เข้มงวด เหมือนที่เกิดขึ้นกับกฎหมายดูแลสิ่งแวดล้อมหลายฉบับในบ้านเรา ท้ายที่สุดกฎหมายก็จะกลายเป็นขยะ
...หัวใจหลักของการเปลี่ยนแปลงจึงอยู่ที่ “คน” ไม่ใช่กฎหมาย
“สังคมที่ดีคือสังคมที่ไม่มี กม.เลย สังคมไหนมี กม. ยิ่งเยอะ แสดงว่าสังคมนั้นยิ่งแย่ และใช่ว่าจะได้ผล คนไทยทุกคนทำให้ประเทศเป็นอย่างนี้ ต้องถามพวกเราทุกคนว่าจะเอายังไงกับบ้านเมือง” อาจารย์ชาคริตทิ้งท้าย[5]
ผู้เขียนมิบังอาจชี้ชัดว่า กฎหมายภาษีถุงพลาสติกจะเวิร์กกับผู้บริโภคไทยหรือไม่
แต่คำถาม “จะเอายังไงกับบ้านเมือง” ยังก้องอยู่ในหัว นำมาซึ่งคำตอบส่วนตัว ถึงวันนี้ถุงพลาสติกหูหิ้วไม่ควรฟรีแล้ว
เป็นไปได้หรือไม่ที่โครงการ “มหิดล Reduce & Reuse ถุงพลาสติก” และ “Chula Zero Waste” จะเป็นต้นแบบของการขอความร่วมมือจ่ายค่าถุงพลาสติกซึ่งจุดประกายให้สถาบันการศึกษาอื่น ชุมชนอื่น เกิดแรงบันดาลใจที่จะลุกขึ้นมาเดินตาม
และจะน่าดีใจยิ่งกว่านั้น หาก ทส. นำไปใช้ต่อยอด “โครงการรวมพลังสร้างวินัย ลดใช้ถุงพลาสติก” ให้ทวีความเข้มข้นขึ้น ควบคู่กับการเผยแพร่ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับผลกระทบของถุงพลาสติก อาจนำร่องทดลอง 3-6 เดือนแล้วสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจว่า จะเดินหน้าอย่างไร
หากมองด้วยสายตาเป็นกลาง ถุงพลาสติกมีข้อดีเฉพาะตัวที่หาไม่ได้ในถุงผ้าหรือถุงกระดาษ มันเหนียวทนทาน (ไม่นับรวมถุงก๊อบแก๊บเนื้อบางจ๋อยจากซูเปอร์มาร์เก็ตสมัยนี้นะ) น้ำหนักเบา พับให้เล็กลงได้เพื่อความสะดวกพกพา แม้จะเปียกชื้นก็ยังใช้งานได้ดีไม่มีเปื่อยขาด
และเมื่อพิจารณาศักยภาพการก่อสภาวะโลกร้อนในขั้นตอนผลิต ขนส่ง ใช้งาน และกำจัด โดยเปรียบเทียบกับถุงผ้าและถุงกระดาษ ถุงพลาสติกกลับสร้างผลกระทบในแง่นี้น้อยกว่าใครเพื่อน
รายงานวิจัยการวิเคราะห์วัฏจักรชีวิตของถุงพลาสติกหูหิ้วจากซูเปอร์มาร์เก็ต (Life cycle assessment of supermarket carrier bags: a review of the bags available in 2006) โดย Dr. Chris Edwards และ Jonna Meyhoff Fry ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารของสำนักงานสิ่งแวดล้อมประเทศอังกฤษเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 ระบุว่า
ถุงพลาสติกเนื้อบางใสผลิตจากโพลีเอทธิลีนความหนาแน่นสูง (High-Density Polyethylene หรือ HDPE) 1 ใบที่ใช้งานเพียงครั้งเดียวจะปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1.57 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยจะลดลงเหลือ 1.4 กิโลกรัมคาร์บอนเทียบเท่าเมื่อใช้งานซ้ำอีก 1 ครั้ง ซึ่งคิดเป็นปริมาณใกล้เคียงกับถุงกระดาษและถุงผ้าฝ้ายที่ใช้งานซ้ำ 4 ครั้งและ 173 ครั้งตามลำดับ[6]
ใช้ซ้ำถุงพลาสติกหลายๆ ครั้ง กับหยิบถุงผ้ามาใช้แค่ 2-3 ที...อย่างไหนจะดีกว่า
วลีสั้นห้วนแบบ “ลดใช้ถุงพลาสติก ลดโลกร้อน” จึงสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ไม่แพ้การแห่ผลิตถุงผ้าตามถ้อยคำรณรงค์ “ใช้ถุงผ้าลดโลกร้อน” ตั้งแต่เมื่อสิบปีที่แล้ว
ขอย้ำชัดๆ อีกครั้ง ถุงพลาสติกจะก่อปัญหาหนักเมื่อโดนทิ้งขว้าง เพราะคุณสมบัติไม่ย่อยสลายตามธรรมชาติทำให้ขยะถุงพลาสติกอุดตันท่อระบายน้ำ จนก่อปัญหาน้ำท่วมเมื่อฝนตกหนัก ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับบังคลาเทศในปี 2541
มันร้ายกาจยิ่งกว่าเมื่อปลิวลงแหล่งน้ำและไหลออกสู่ทะเล ทำให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและนกทะเลจำนวนมากหลงกินถุงพลาสติกเพราะเข้าใจผิดว่ามันคืออาหาร
ถุงพลาสติกแผลงฤทธิ์อีกครั้งเมื่อสัมผัสแสงแดดจนแตกเป็นชิ้นพลาสติกเล็กๆ แม้ไซซ์จิ๋วกระทั่งมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า อนุภาคพวกนี้ยังคงความเป็นพิษไว้ครบถ้วนและพร้อมจะเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารผ่านลำดับขั้นการกินต่อเป็นทอดๆ โดยเริ่มต้นที่แพลงก์ตอน ไล่มาจนถึงปลายสุด ซึ่งก็คือพวกเรานั่นเอง
คนที่เข้าใจผลกระทบนี้ถ่องแท้จะไม่นิ่งเฉยกับปัญหาขยะถุงพลาสติก
ระหว่างที่ยังไม่มีวี่แววความเปลี่ยนแปลงวงกว้างในสังคม ผู้เขียนซึ่งเชื่อมั่นในพลังของคนตัวเล็กๆ ก็หวังว่า บทความนี้จะสะกิดใจให้บางคนเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หันมาพกถุงพลาสติกใช้ซ้ำหรือถุงผ้าและหยิบขึ้นมาใช้ทุกครั้งที่จับจ่ายในร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า หรือตลาดสด
คงจะดีมาก ถ้าสังคมไทยเดินไปถึงจุดที่ไม่ว่าจะยังแจกฟรีหรือต้องจ่ายเงิน ก็ไม่มีนัยสำคัญต่อการพกถุงส่วนตัวไปซื้อของ หรือการตัดสินใจเลือกอุดหนุนซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านสะดวกซื้อใดใด
ต้องยอมรับความจริง เราเปลี่ยนแปลงใครไม่ได้หรอก...นอกจากตัวเอง
และสังคมก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้เช่นกัน...ถ้าไม่เริ่มต้นจากหน่วยเล็กๆ ที่เรียกว่า “คน”
[1] กองส่งเสริมและเผยแพร่, “กิจกรรมเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมไทยและวันอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) แห่งชาติ ประจำปี ๒๕๕๙”, 7 ธันวาคม 2559, เว็บไซต์กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม. www.deqp.go.th/service-portal/news-system/news-detail/?id=131459
[2] อิสสรียา จิตวรานนท์. (17 มกราคม 2560). นักวิชาการโสตทัศนศึกษา กองกายภาพและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล. สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์.
[3] วรางคณา ศรนิล. “มาตรการทางนโยบายเพื่อลดการใช้ถุงพลาสติก : ประสบการณ์ของต่างประเทศกับการประยุกต์ใช้ในประเทศไทย” ในวารสารการจัดการสิ่งแวดล้อม ปีที่ 8 ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน 2555.
[4] “สำรวจเพื่อนร่วมโลก กลยุทธ์ลด “ถุงพลาสติก” – บทเรียนนานาชาติ”, THAIPUBLICA, 28 มีนาคม 2555. thaipublica.org/2012/03/strategy-reduce-plastic-bag
[5] ชาคริต สิทธิเวช. (18 มกราคม 2560). อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. สัมภาษณ์.
[6] Dr. Chris Edwards and Jonna Meyhoff Fry. “Life cycle assessment of supermarket carrier bags: a review of the bags available in 2006”, Environment Agency, February 2011. www.gov.uk/government/publications/life-cycle-assessment-of-supermarket-carrierbags-a-review-of-the-bags-available-in-2006
ที่มา: www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/58586