หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม คำคม Glitter เกมถอดรหัสภาพ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

ถุงพลาสติกใบนี้...ควรฟรีหรือ (บังคับ) จ่าย

โพสท์โดย greenpeaceth
บทความ โดย ฐิตินันท์ ศรีสถิต

คงผ่านหูผ่านตากันมาบ้างกับโครงการ “รวมพลังสร้างวินัย ลดใช้ถุงพลาสติก” ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ที่ขอความร่วมมือจากห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ฯลฯ งดให้บริการถุงพลาสติกหูหิ้วแก่ลูกค้าในวันที่ 15 ของทุกเดือน ตั้งแต่สิงหาคม 2558 ก่อนจะขยับความถี่เป็นวันที่ 15 กับ 30 ของทุกเดือน และเพิ่มความเข้มข้นเป็น “ทุกวันพุธ” เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว

หากถามว่า มาตรการแบบนี้สามารถสร้างความเคยชินในการลดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วของคุณลูกค้าได้อย่างเป็นรูปธรรมหรือไม่

คำตอบเป็นไปได้หลากหลาย ขึ้นอยู่กับว่าใครตอบ

ทส. ซึ่งตั้งเป้าลดใช้ถุงพลาสติก 89 ล้านใบภายใน 4 ธันวาคม 2559 จัดนิทรรศการความสำเร็จของโครงการฯ ที่อาคารอิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมไทย 4 ธันวาคม 2559 โดยแจ้งตัวเลข 166,775,853 ใบเป็นจำนวนการใช้ถุงพลาสติกที่ลดลง[1] นั่นนับว่าเกินเป้าไปเกือบเท่าตัว

ครั้นลองสุ่มสอบถามจากพนักงานแคชเชียร์บางรายก็พบว่า ลูกค้าไม่ได้ให้ความร่วมมือเสมอไป และเมื่อผู้ซื้อร้องขอถุงพลาสติกหูหิ้ว พวกเขาก็ยากจะปฏิเสธ

...หรือการแจกแต้ม แจกคะแนน แจกพ้อยต์ รวมถึงมอบเปอร์เซ็นต์ส่วนลดจะยังไม่จูงใจมากพอให้เปลี่ยนพฤติกรรม

ถ้าขอความร่วมมืองดแจกถุงพลาสติกหูหิ้วทุกวันเลยล่ะจะเป็นไปได้รึ

ประเทศไทยมีกรณีตัวอย่างเกิดขึ้นแล้วจริงๆ ในโครงการ “มหิดล Reduce & Reuse ถุงพลาสติก” ซึ่งขอความร่วมมือจากร้านสะดวกซื้อจำนวน 12 ร้านใน ม.มหิดล วิทยาเขตศาลายา และศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก งดให้บริการถุงพลาสติกแก่ลูกค้าตั้งแต่ 25 กรกฎาคม 2559 โดยประชาสัมพันธ์และจัดกิจกรรมรณรงค์รับบริจาคถุงพลาสติกใช้แล้วสภาพดีอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 เดือนก่อนเริ่มโครงการ

เมื่อไม่แจกถุงพลาสติกย่อมต้องมีทางเลือกให้ผู้ซื้อ

หนึ่ง...ซื้อถุงพลาสติกใหม่ใบละ 2 บาท

สอง...เตรียมถุงผ้า ถุงพลาสติก หรือถุงอะไรก็ได้มาใส่เอง

สาม...หยิบถุงพลาสติกรียูสจาก drop box ในร้านมาใช้ซ้ำ

เจ้าหน้าที่กองกายภาพและสิ่งแวดล้อม ม.มหิดล ให้ข้อมูลจากการสุ่มสังเกตว่า ร้านสะดวกซื้อส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือดี นับจากวันแรกจนถึงเดือนตุลาคม 2559 สามารถลดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วได้ 288,861 ใบ แต่ตอนนี้เริ่มขาดแคลนถุงพลาสติกรียูส จึงต้องเร่งรับบริจาคให้มากขึ้น ซึ่งหากแก้ปัญหาสำเร็จก็อาจขยายการดำเนินงานไปยังวิทยาเขตพญาไท ศิริราช ฯลฯ

ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ เจ้าหน้าที่กองกายภาพฯ แอบหวังให้สังคมของชาวมหิดลเดินไปถึงจุดที่ไม่ต้องมีจุดบริการถุงพลาสติกรียูส เพราะทุกคนพกถุงพลาสติกใช้ซ้ำหรือถุงผ้าติดตัวจนกลายเป็นนิสัยนั่นเอง[2]

ไม่ใช่แค่ที่เดียว สถาบันอุดมศึกษาใจกลางเมืองอย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ประชาสัมพันธ์และเตรียมงานโครงการ “Chula Zero Waste” กันอย่างคึกคักตั้งแต่ปลายปี 59 ก่อนเริ่มมาตรการงดแจกถุงพลาสติกในร้านสหกรณ์และร้านสะดวกซื้อทุกสาขาในมหาวิทยาลัยวันที่ 1 ก.พ. 60 โดยรับบริจาคถุงผ้าและถุงพลาสติกใช้แล้วเพื่อหมุนเวียนใช้และเป็นทางเลือกสำหรับลูกค้าที่ไม่ต้องการซื้อถุงพลาสติกใหม่เอี่ยมในราคาใบละ 2 บาท

แล้วถ้าเพิ่มดีกรีความเข้มข้นด้วยการเก็บค่าถุงพลาสติกโดยให้ลูกค้าที่ต้องการใช้งานเป็นผู้จ่ายล่ะ ไม้แข็งแบบนี้ต้องตามไปดูตัวอย่างของต่างประเทศ

ไอร์แลนด์เป็นประเทศแรกที่ริเริ่มมาตรการทางกฎหมายกับถุงพลาสติกทุกชนิด ยกเว้นถุงพลาสติกใส่เนื้อสด เมื่อมีนาคม 2545 ปรากฏว่า ปริมาณการใช้ถุงพลาสติกลดลงถึงร้อยละ 90 ในช่วงแรก แต่เมื่อผ่านไป 5 ปีผู้บริโภคชักจะตื่นตัวน้อยลง จึงเพิ่มราคาถุงจากใบละ 0.15 ยูโรเป็น 0.22 ยูโร การประเมินผลภาพรวมพบว่า ผู้ประกอบการร้านค้าตอบรับดี ปริมาณการใช้ถุงพลาสติกลดลงจริง เก็บภาษีได้ปีละประมาณ 20 ล้านยูโร และมีโรงงานผลิตถุงพลาสติกบางแห่งต้องปิดกิจการ

ไต้หวันเป็นอีกประเทศที่เริ่มเก็บค่าถุงพลาสติกในปีเดียวกัน รัฐบาลสั่งห้ามใช้ถุงที่มีความหนาน้อยกว่า 0.06 มิลลิเมตรแต่ไม่กำหนดอัตราภาษีตายตัว ร้านค้าส่วนใหญ่คิดค่าถุงใบละ 1-3 ดอลลาร์ไต้หวัน ผ่านไปหนึ่งปีอัตราการใช้ถุงพลาสติกลดลงกว่าร้อยละ 80 หลังจากนั้นมีแนวโน้มการใช้เพิ่มขึ้นบ้างเล็กน้อย

นิวซีแลนด์ แคนาดา สเปน เบลเยียมก็เลือกใช้การเก็บค่าธรรมเนียมหรือภาษีสิ่งแวดล้อมเพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมเช่นกัน แต่ยังไม่สุดขีดถึงขั้นออกกฎหมายห้ามผลิตและจำหน่ายถุงพลาสติกจากโพลีเอทธีลีนเหมือนประเทศบังคลาเทศ หรือห้ามใช้ถุงพลาสติกเหมือนกลุ่มประเทศแถบแอฟริกา อาทิ แอฟริกาใต้ เอธิโอเปีย เคนยา รวันดา แทนซาเนีย ฯลฯ

ใช่ว่าการบังคับเข้มงวดจะประสบผลสำเร็จเสมอไป...

ภูฏานและจีนเป็นกรณีตัวอย่างที่ออกมาตรการห้ามใช้ถุงพลาสติก แต่ยังไม่ได้ผลนักหรือลดได้ในช่วงแรกแต่หลังจากนั้นก็มีแนวโน้มการใช้ที่เพิ่มขึ้นด้วยหลายสาเหตุ ได้แก่ ไม่จริงจังในการบังคับใช้กฎหมายต่อเนื่อง ไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่ามาทดแทนถุงพลาสติก และขาดการสร้างจิตสำนึกแก่ประชาชนซึ่งควรทำควบคู่กัน[3],[4]

ถึงบรรทัดนี้ เอ๊ะ...สมัครใจ? กฎหมาย? มาตรการแบบไหนที่จะเหมาะกับบ้านเรา

คำถามคาใจพาให้ต้องไปนั่งคุยกับอาจารย์ชาคริต สิทธิเวช คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ “อิน” กับเรื่องเขียวๆ ถึงขั้นลงมือปฏิบัติตั้งแต่แยกขยะ เลือกใช้ถ่านไฟฉายชาร์จได้ พกถุงผ้า กระทั่งพกรถเข็นเล็กติดรถไว้สำหรับขนของที่ซื้อจากซูเปอร์มาร์เก็ต ฯลฯ


อาจารย์ชาคริต สิทธิเวช คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ©ฐิตินันท์ ศรีสถิต

อาจารย์ชาคริตเปิดบทสนทนาด้วยการเล่าประสบการณ์ตรงจากซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อในประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งงดแจกถุงพลาสติกแก่ลูกค้า โดยเปลี่ยนมาจำหน่ายในราคาใบละ 100 วอน หรือประมาณ 3 บาท ตั้งแต่ประมาณปี 2541-2542 โดยไม่ใช้กฎหมายบังคับ

ระยะแรกผู้คนแสดงความไม่พอใจด้วยการด่าทอร้านค้า ลูกค้าหลายคนไม่แยแสการเก็บค่าถุงด้วยซ้ำ เพราะตั้งราคาขายถูกมาก กระทั่งวิเคราะห์กันว่า มาตรการนี้น่าจะล้มเหลว เพราะปริมาณการใช้ถุงพลาสติกไม่ลดลงเลย

แต่หลังจากนั้น เมื่อพยายามอธิบายเหตุผลความจำเป็นในการทำเพื่อส่วนรวมและแก้ปัญหาขยะ ความเข้าใจก็งอกงาม กลายเป็นพลังมวลชนที่ค่อยๆ สร้างความเปลี่ยนแปลงในช่วงเกือบสองทศวรรษและพัฒนาเป็นค่านิยมที่เข้มแข็งในปัจจุบัน

“ตอนนี้คนด่าร้านค้าที่ยังแจกถุงพลาสติก และไม่มีคนเกาหลีที่ซื้อถุงพลาสติกอีกแล้ว ทุกคนเตรียมถุงผ้ามาเอง”

แล้วเราควรบังคับใช้มาตรการเก็บภาษีถุงพลาสติกในเมืองไทยหรือไม่

“พูดยากนะ ตอบไม่ได้จริงๆ เพราะคนไทยมีนิสัยไม่เหมือนใคร ใครทำอะไรดีงามเห็นด้วยหมด ไม่ขวางนะแต่อย่ามายุ่งกับฉัน บางครั้งคนอื่นไม่ทำก็ต่อว่าเขา แต่พอตัวเองก็ยังขอถุงอยู่ดี”

อาจารย์ชาคริตมองว่า การบังคับช่วยให้ผู้ประกอบการสบายใจที่จะเก็บค่าถุงพลาสติก สามารถอ้างการทำหน้าที่ตามกฎหมายโดยไม่ต้องกลัวเสียลูกค้า เพราะทุกแห่งต้องปฏิบัติเหมือนกันหมด ต่างจากการขอความร่วมมือหรือมาตรการสมัครใจที่ผู้ประกอบการบางแห่งอาจละเว้นปฏิบัติ ซึ่งกลายเป็นดึงดูดลูกค้าที่ยังต้องการใช้ถุงพลาสติกจากคู่แข่งที่ให้ความร่วมมือไปโดยปริยาย

“แต่ฝ่ายที่จะไม่ทำคือการเมือง การเมืองไทยมักไม่ทะเลาะกับชาวบ้านและนี่คือต้นตอของปัญหาสิ่งแวดล้อมไทย”

ยิ่งเคยมีงานวิจัยบ่งชี้ว่า ผู้บริโภคของไทยมีแนวโน้มที่จะต่อต้านมาตรการเก็บภาษีการใช้ถุงพลาสติกด้วยแล้ว ยิ่งเป็นไปได้ยากที่เรื่องนี้จะริเริ่มจากฝั่งการเมือง

ทั้งนี้ควรทำความเข้าใจด้วยว่า การเขียนกฎหมายแต่ละฉบับต้องใช้เวลาศึกษานานเพื่อให้รัดกุม แถมยังมีค่าใช้จ่ายมหาศาล ซึ่งในทัศนะของนักกฎหมายท่านนี้ กฎหมายไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์อะไรเลย กฎหมายที่ออกมาจะดีหรือไม่ล้วนขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของคนในสังคม ถ้าคนไม่สนใจ ไม่ปฏิบัติตาม ขณะที่เจ้าหน้าที่ก็ไม่บังคับใช้ให้เข้มงวด เหมือนที่เกิดขึ้นกับกฎหมายดูแลสิ่งแวดล้อมหลายฉบับในบ้านเรา ท้ายที่สุดกฎหมายก็จะกลายเป็นขยะ

...หัวใจหลักของการเปลี่ยนแปลงจึงอยู่ที่ “คน” ไม่ใช่กฎหมาย

“สังคมที่ดีคือสังคมที่ไม่มี กม.เลย สังคมไหนมี กม. ยิ่งเยอะ แสดงว่าสังคมนั้นยิ่งแย่ และใช่ว่าจะได้ผล คนไทยทุกคนทำให้ประเทศเป็นอย่างนี้ ต้องถามพวกเราทุกคนว่าจะเอายังไงกับบ้านเมือง” อาจารย์ชาคริตทิ้งท้าย[5]

ผู้เขียนมิบังอาจชี้ชัดว่า กฎหมายภาษีถุงพลาสติกจะเวิร์กกับผู้บริโภคไทยหรือไม่

แต่คำถาม “จะเอายังไงกับบ้านเมือง” ยังก้องอยู่ในหัว นำมาซึ่งคำตอบส่วนตัว ถึงวันนี้ถุงพลาสติกหูหิ้วไม่ควรฟรีแล้ว

เป็นไปได้หรือไม่ที่โครงการ “มหิดล Reduce & Reuse ถุงพลาสติก” และ “Chula Zero Waste” จะเป็นต้นแบบของการขอความร่วมมือจ่ายค่าถุงพลาสติกซึ่งจุดประกายให้สถาบันการศึกษาอื่น ชุมชนอื่น เกิดแรงบันดาลใจที่จะลุกขึ้นมาเดินตาม

และจะน่าดีใจยิ่งกว่านั้น หาก ทส. นำไปใช้ต่อยอด “โครงการรวมพลังสร้างวินัย ลดใช้ถุงพลาสติก” ให้ทวีความเข้มข้นขึ้น ควบคู่กับการเผยแพร่ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับผลกระทบของถุงพลาสติก อาจนำร่องทดลอง 3-6 เดือนแล้วสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจว่า จะเดินหน้าอย่างไร

หากมองด้วยสายตาเป็นกลาง ถุงพลาสติกมีข้อดีเฉพาะตัวที่หาไม่ได้ในถุงผ้าหรือถุงกระดาษ มันเหนียวทนทาน (ไม่นับรวมถุงก๊อบแก๊บเนื้อบางจ๋อยจากซูเปอร์มาร์เก็ตสมัยนี้นะ) น้ำหนักเบา พับให้เล็กลงได้เพื่อความสะดวกพกพา แม้จะเปียกชื้นก็ยังใช้งานได้ดีไม่มีเปื่อยขาด

และเมื่อพิจารณาศักยภาพการก่อสภาวะโลกร้อนในขั้นตอนผลิต ขนส่ง ใช้งาน และกำจัด โดยเปรียบเทียบกับถุงผ้าและถุงกระดาษ ถุงพลาสติกกลับสร้างผลกระทบในแง่นี้น้อยกว่าใครเพื่อน

รายงานวิจัยการวิเคราะห์วัฏจักรชีวิตของถุงพลาสติกหูหิ้วจากซูเปอร์มาร์เก็ต (Life cycle assessment of supermarket carrier bags: a review of the bags available in 2006) โดย Dr. Chris Edwards และ Jonna Meyhoff Fry ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารของสำนักงานสิ่งแวดล้อมประเทศอังกฤษเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 ระบุว่า

ถุงพลาสติกเนื้อบางใสผลิตจากโพลีเอทธิลีนความหนาแน่นสูง (High-Density Polyethylene หรือ HDPE) 1 ใบที่ใช้งานเพียงครั้งเดียวจะปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1.57 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยจะลดลงเหลือ 1.4 กิโลกรัมคาร์บอนเทียบเท่าเมื่อใช้งานซ้ำอีก 1 ครั้ง ซึ่งคิดเป็นปริมาณใกล้เคียงกับถุงกระดาษและถุงผ้าฝ้ายที่ใช้งานซ้ำ 4 ครั้งและ 173 ครั้งตามลำดับ[6]

ใช้ซ้ำถุงพลาสติกหลายๆ ครั้ง กับหยิบถุงผ้ามาใช้แค่ 2-3 ที...อย่างไหนจะดีกว่า

วลีสั้นห้วนแบบ “ลดใช้ถุงพลาสติก ลดโลกร้อน” จึงสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ไม่แพ้การแห่ผลิตถุงผ้าตามถ้อยคำรณรงค์ “ใช้ถุงผ้าลดโลกร้อน” ตั้งแต่เมื่อสิบปีที่แล้ว

ขอย้ำชัดๆ อีกครั้ง ถุงพลาสติกจะก่อปัญหาหนักเมื่อโดนทิ้งขว้าง เพราะคุณสมบัติไม่ย่อยสลายตามธรรมชาติทำให้ขยะถุงพลาสติกอุดตันท่อระบายน้ำ จนก่อปัญหาน้ำท่วมเมื่อฝนตกหนัก ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับบังคลาเทศในปี 2541

มันร้ายกาจยิ่งกว่าเมื่อปลิวลงแหล่งน้ำและไหลออกสู่ทะเล ทำให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและนกทะเลจำนวนมากหลงกินถุงพลาสติกเพราะเข้าใจผิดว่ามันคืออาหาร

ถุงพลาสติกแผลงฤทธิ์อีกครั้งเมื่อสัมผัสแสงแดดจนแตกเป็นชิ้นพลาสติกเล็กๆ แม้ไซซ์จิ๋วกระทั่งมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า อนุภาคพวกนี้ยังคงความเป็นพิษไว้ครบถ้วนและพร้อมจะเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารผ่านลำดับขั้นการกินต่อเป็นทอดๆ โดยเริ่มต้นที่แพลงก์ตอน ไล่มาจนถึงปลายสุด ซึ่งก็คือพวกเรานั่นเอง

คนที่เข้าใจผลกระทบนี้ถ่องแท้จะไม่นิ่งเฉยกับปัญหาขยะถุงพลาสติก

ระหว่างที่ยังไม่มีวี่แววความเปลี่ยนแปลงวงกว้างในสังคม ผู้เขียนซึ่งเชื่อมั่นในพลังของคนตัวเล็กๆ ก็หวังว่า บทความนี้จะสะกิดใจให้บางคนเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หันมาพกถุงพลาสติกใช้ซ้ำหรือถุงผ้าและหยิบขึ้นมาใช้ทุกครั้งที่จับจ่ายในร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า หรือตลาดสด

คงจะดีมาก ถ้าสังคมไทยเดินไปถึงจุดที่ไม่ว่าจะยังแจกฟรีหรือต้องจ่ายเงิน ก็ไม่มีนัยสำคัญต่อการพกถุงส่วนตัวไปซื้อของ หรือการตัดสินใจเลือกอุดหนุนซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านสะดวกซื้อใดใด

ต้องยอมรับความจริง เราเปลี่ยนแปลงใครไม่ได้หรอก...นอกจากตัวเอง

และสังคมก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้เช่นกัน...ถ้าไม่เริ่มต้นจากหน่วยเล็กๆ ที่เรียกว่า “คน”


[1] กองส่งเสริมและเผยแพร่, “กิจกรรมเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมไทยและวันอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) แห่งชาติ ประจำปี ๒๕๕๙”, 7 ธันวาคม 2559, เว็บไซต์กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม. www.deqp.go.th/service-portal/news-system/news-detail/?id=131459

[2] อิสสรียา จิตวรานนท์. (17 มกราคม 2560). นักวิชาการโสตทัศนศึกษา กองกายภาพและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล. สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์.

[3] วรางคณา ศรนิล. “มาตรการทางนโยบายเพื่อลดการใช้ถุงพลาสติก : ประสบการณ์ของต่างประเทศกับการประยุกต์ใช้ในประเทศไทย” ในวารสารการจัดการสิ่งแวดล้อม ปีที่ 8 ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน 2555.

[4] “สำรวจเพื่อนร่วมโลก กลยุทธ์ลด “ถุงพลาสติก” – บทเรียนนานาชาติ”, THAIPUBLICA, 28 มีนาคม 2555. thaipublica.org/2012/03/strategy-reduce-plastic-bag

[5] ชาคริต สิทธิเวช. (18 มกราคม 2560). อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. สัมภาษณ์.

[6] Dr. Chris Edwards and Jonna Meyhoff Fry. “Life cycle assessment of supermarket carrier bags: a review of the bags available in 2006”, Environment Agency, February 2011. www.gov.uk/government/publications/life-cycle-assessment-of-supermarket-carrierbags-a-review-of-the-bags-available-in-2006

ที่มา: www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/58586


ติดตามกรีนพีซเพิ่มเติมที่

⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
greenpeaceth's profile


โพสท์โดย: greenpeaceth
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
16 VOTES (4/5 จาก 4 คน)
VOTED: น้องขนุน, zerotype, todaysayhi, ฮั่วชวี่ปิ้ง
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
ภาวะอุจจาระตกค้าง ขับถ่ายอุจจาระออกไม่หมดทำให้มีการตกค้างอยู่ภายในลำไส้10 อันดับเลข ยอดฮิต หวยแม่จำเนียร 16/11/67ดราม่าอีก ฟอร์ด แฟนเก่า แพรรี่ ไพรวัลย์ โพสต์ตัดพ้อการจัดดอกไม้ บำบัดใจ ผ่อนคลายความเครียด ดีต่อสุขภาพจิต กิจกรรมที่ทำให้ได้อยู่กับตัวเองมากขึ้นเต้นงานบุญกฐิน5 อาชีพสายช่างมาแรง! Gen Z แห่เรียน สอดรับเทรนด์ New Collar Workforceราคาทองร่วงหนักฝันหญิงแต่งสไบ ยืนในน้ำสวนยางพารา แบ็กโฮขุด อึ้ง!เจอต้นตะเคียนยักษ์"บุกจับหลวงตา 'เวิร์คฟอร์มโฮม' สึกซ้ำรอบที่สาม!"หัวใจเต้นผิดจังหวะ...หรือเปล่า? เช็กอาการ เสี่ยงโรคหัวใจแบบไหน?
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
"บุกจับหลวงตา 'เวิร์คฟอร์มโฮม' สึกซ้ำรอบที่สาม!"ไล่หอยทากด้วยเปลือกไข่คั่วโอปอล ลั่นกลองรบ ! สวมชุดประจำชาติไทยสู้ศึกจักรวาล - แรงบันดาลใจจากสมเด็จพระสุริโยทัยฝันหญิงแต่งสไบ ยืนในน้ำสวนยางพารา แบ็กโฮขุด อึ้ง!เจอต้นตะเคียนยักษ์5 อาชีพสายช่างมาแรง! Gen Z แห่เรียน สอดรับเทรนด์ New Collar Workforceเต้นงานบุญกฐิน
กระทู้อื่นๆในบอร์ด สาระ เกร็ดน่ารู้
รู้หรือไม่ 3 สิ่งนี้ ไม่ควรใส่แก้วเก็บความเย็นเด็ดขาดรู้จักโรคไอกรน: อาการที่ไม่ควรมองข้ามและการป้องกันที่คุณควรรู้5 อาชีพสายช่างมาแรง! Gen Z แห่เรียน สอดรับเทรนด์ New Collar Workforceหัวใจเต้นผิดจังหวะ...หรือเปล่า? เช็กอาการ เสี่ยงโรคหัวใจแบบไหน?
ตั้งกระทู้ใหม่