อย่ากล่าวหาคนเร่ร่อน ณ ท้องสนามหลวง
ตามที่มีข่าวว่าในการแจกของตามกิจกรรม "จิตอาสา" ณ ท้องสนามหลวง ปรากฏว่ามีผู้รับบริจาคแล้วเอาไปขายต่อ บ้างก็ว่าเป็นพวกคนเร่ร่อน ข้อนี้ไม่จริง คนเร่ร่อนเป็นคนดีกว่านั้นมาก
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ในฐานะประธานมูลนิธิอิสรชน ที่ให้การช่วยเหลือคนเร่ร่อนหรือ "ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ" มาอย่างต่อเนื่อง กล่าวว่า คนที่ถูกจับได้ว่าเป็นคนนำอาหารหรือของใช้ต่าง ๆ ที่ได้รับจากการบริจาคไปขายนั้น ไม่ใช่คนเร่ร่อน แต่เป็นบุคคลอื่นที่ "เวียนเทียน" มาขอรับบริจาค คนเร่ร่อน ไม่มีศักยภาพพอที่จะนำของเหล่านี้มาขาย การแต่งกายก็อาจมอมแมมบ้าง คงไม่สามารถประกอบการค้าแบบนี้ได้
ปกติคนเร่ร่อนนั้นค่อนข้างจะกลัวคนธรรมดาด้วยซ้ำไป ไม่ค่อยกล้าสู้หน้าเพราะรู้สึกตนเองต่ำต้อยในสังคม จะสังเกตได้ว่าผู้ที่ให้ความช่วยเหลือสังคมนั้น มักไม่ได้ให้ความช่วยเหลือคนเร่ร่อน คนกลุ่มนี้จึงอยู่ตาม "ชายขอบ" ของสังคม พวก "จิตอาสา" ชอบเข้าไปในชุมชนมากกว่า นัยหนึ่งเป็นเพราะประชาชนเป็นกลุ่มก้อน เหมาะแก่การ "หาเสียง" แต่คนเร่ร่อนนั้น จะปลีกตัวในสังคม ไม่ได้รวมกลุ่มกัน แต่ก็มีการช่วยเหลือเจือจานต่อกันและกันดี
คนเร่ร่อนไม่ใช่พวกขอทาน (อาชีพ) ซึ่งมีทั้งคนไทยเอง และคนต่างชาติ (ที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน) พวกขอทานจะมีรายได้วันละ 500 - 1,500 บาท หรืออาจมากกว่านั้น ในการเดินทางมา "ทำงาน" ขอทาน ก็มักจะมีรถรับส่งโดยว่าจ้างมาเอง หรือมี "แก๊ง" มารับส่ง มีบ้านอาหารเป็นหลักแหล่งแน่นอน เช่น เช่าบ้านในชุมชนแออัด หรือบ้านเช่าอื่น ๆ ส่วนคนเร่ร่อนนั้น นอนอยู่ตามที่สาธารณะ เช่น สนามหลวงหรืออื่น ๆ
คนเร่ร่อนนั้นมักจะเป็นผู้ที่มีปัญหาสังคม ถูกทอดทิ้ง ขาดการเหลียวแล ไม่มีญาติมิตรหรือมีแต่ไม่มีใครดูแล จึง "ประท้วงชีวิต" หรือ "จนตรอก" จนต้องมานอนข้างถนน คนที่นอนในที่สาธารณะได้นั้น มักจะต้องมีอาการผิดปกติทางจิตใจบ้าง เพราะการนอนในลักษณะนี้ ไม่ถูกสุขลักษณะ ไม่มีความเป็นบ้าน จึงต้องสร้างมาตรการป้องกันตนเอง (Defense Mechanism) โดยไม่ค่อยพูดคุยกับใคร มีความระมัดระวังตัวเป็นพิเศษ เพราะที่ผ่านมาก็มีผู้นำอาหารที่มีพิษมาให้รับประทาน ทำให้เสียชีวิตหรือเจ็บป่วย
ดร.โสภณ มีโครงการที่จะขอ "ยืม" ที่ดินเพื่อสร้างเป็นที่อยู่อาศัยชั่วคราว (ระยะเวลา 6 เดือน - 3 ปี) แต่ปลอดภัยสำหรับคนเร่ร่อน โดยอาจเป็นที่ดินขนาด 100-400 ตารางวา โดยจะนำคอนเทนเนอร์ หรือสร้างเป็นเตนท์ เพื่อให้พัก ดูแลความปลอดภัย เพื่อให้เขาสามารถค่อย ๆ กลับคืนสู่สังคมในฐานะพลเมืองที่ดี ที่ดินนี้ควรอยู่ในเขตพระนคร ป้อมปราบฯ สัมพันธวงศ์ นอกจากนี้มูลนิธิยังมีกิจกรรมส่งคนไข้ไปยังส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ส่งกลับบ้านต่างจังหวัด เลี้ยงอาหารแก่คนเร่ร่อนรายสัปดาห์ ฯลฯ
ท่านใดประสงค์จะช่วยเหลือผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ติดต่อ มูลนิธิอิสรชน (www.issarachon.org) 72 วัดสุขใจ 12 แขวงทรายกองดิน เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร 10510 โทรศัพท์ : 02-915-6227 , 086-687-0902 โทรสาร : 02-915-6227 อีเมล์ : jasminjaja5@gmail.com
ที่มา: http://www.area.co.th/thai/area_announce/area_press.php?strquey=press_announcement1662.htm