รู้หรือไม่? 300 ปีก่อน คนเคยมองการอ่านหนังสือเหมือนการติดสมาร์ทโฟน
ยุคเฟื่องฟูของสิ่งพิมพ์
ในช่วงคริสตศวรรษที่ 17-18 เป็นช่วงที่ธุรกิจการพิมพ์กำลังเฟื่องฟู โดยเฉพาะในประเทศยุโรป ประชากรส่วนใหญ่ในตอนนั้น
เริ่มสนใจการอ่านมากขึ้น และหลายคนที่ได้รับการศึกษา (โดยเฉพาะผู้ชาย) ก็เริ่มอ่านหนังสือมากขึ้น
ในยุคนั้นยังไม่มีร้านหนังสือแบบยุคนี้ วิธีการขายคือพ่อค้าต้องเอาหนังสือไปเดินเร่ขายตามบ้านต่างๆ
และความเฟื่องฟูของธุรกิจขายหนังสือก็ทำให้โรงพิมพ์น้อยใหญ่ต่างผลิตหนังสือหรือสื่อสิ่งพิมพ์บนกระดาษที่ราคาถูกมากๆ
เพื่อให้ชนชั้นล่างเข้าถึงได้ง่ายขึ้นด้วย ช่วงนั้นสิ่งที่ถูกตีพิมพ์มีทั้งหนังสือคำสอนทางศาสนาอย่างไบเบิล ซึ่งเป็นหนังสือสามัญ
ประจำบ้านของชาวคริสต์อยู่แล้ว หรือหนังสือรวมเรื่องเล่าพื้นบ้านไว้อ่านแก้เครียด หรือถ้าใครอยากเครียดหน่อยก็มีหนังสือ
ที่ตีพิมพ์งานเขียนของนักวิทยาศาสตร์หรือนักปรัชญาชื่อดังอย่างไอแซค นิวตัน โธมัส เพย์น หรือวอลแตร์ และที่ขาดไม่ได้คือ
"นิยาย"
การอ่านเคยถูกมองว่าเป็นเรื่องไม่ดี?
พอผู้คนเข้าถึงสิ่งพิมพ์เหล่านี้ได้มากขึ้น จนเรียกได้ว่าเกิดเป็นกระแส "Reading Mania" หรือกระแส "คลั่งการอ่าน" ก็เริ่มมีคนกังวล และมองว่าชักไม่ดีแล้ว การตีพิมพ์สื่อที่ให้ความรู้ เช่น งานเขียนของนักวิทยาศาสตร์ นักคณิตศาสตร์ นักปรัชญาต่างๆ ทำให้คนบางกลุ่ม เช่น ผู้นำทางศาสนาหรือชนชั้นศักดินาต่างๆ เริ่มกังวลใจว่าประชาชนจะรู้มากเกินไป และเริ่มตาสว่าง
ซึ่งพวกเขาก็เดาไม่ผิดนัก เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงที่หลายประเทศในยุโรปเริ่มใช้ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง มีตัวแทนประชาชน แต่หลายประเทศก็ยังไม่ได้ใช้ระบบนี้ ฝ่ายปฏิวัติก็ใช้สื่อสิ่งพิมพ์เหล่านี้แหละในการประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ ปลุกระดมประชาชนให้มาเปลี่ยนระบอบการปกครองกัน
คนอีกกลุ่มที่น่าจะโดนกีดกันจากการอ่านมากที่สุดคือ "ผู้หญิง" เพราะสมัยนั้นผู้หญิงยังไม่มีสิทธิมีเสียงทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น
และผู้หญิงน้อยคนมากที่อ่านหนังสือได้ พอผู้หญิงเข้าถึงสิ่งพิมพ์พวกนี้มากขึ้นก็ทำให้ผู้ชายบางคนเริ่มกลัวว่าพวกเธอจะลุกขึ้นมาขอโหวตขออะไรบ้าง....และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ
เห็นมั้ยคะว่าการอ่านทำให้เราเปิดหูเปิดตามากขนาดไหน?
และยังมีสื่ออีกกลุ่มที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษเหมือนกัน นั่นก็คือนิยาย
นิยายที่สร้างปรากฏการณ์เทียบเท่าแฮร์รี่ พอตเตอร์และก็โดนแบนอย่างรวดเร็วด้วย
ในขณะที่สิ่งพิมพ์ต่างๆ ขยายตัว วงการนิยายก็เฟื่องฟูมากขึ้นเรื่อยๆ นิยายที่ขายดิบขายดีเป็นพิเศษในสมัยนั้นเป็นนิยายเกี่ยวกับความรักที่ผิดหวัง ชื่อเรื่องคือ The Sorrows of Young Werther (ความชอกช้ำของพ่อหนุ่มเวอร์เธอร์)
เป็นงานเขียนของ โยฮันน์ วูล์ฟกัง วอน เกอเธ่ เรื่องราวเกี่ยวกับศิลปินหนุ่มนาม เวอร์เธอร์ ผู้หลงรักสาวน้อย ชาร์ล็อต
แต่เธอดันต้องแต่งงานกับอัลเบิร์ต เขาเขียนจดหมายเล่าเรื่องทั้งหมดให้เพื่อนฟังและพรรณนาว่าเขารู้สึกชอกช้ำเพียงใด
แม้จะออกจากหมู่บ้านไป แต่พอกลับมาอีกทีก็ต้องเห็นภาพบาดตา สุดท้ายเขาเลยคิดว่ารักครั้งนี้ต้องมีสักคนไป
และคงเป็นเขานั่นเอง เวอร์เธอร์จึงตัดสินใจฆ่าตัวตาย
พอได้อ่านนิยายเรื่องนี้ เหล่าวัยรุ่นถึงกับน้ำตาแตก และอินไปกับความรักของเวอร์เธอร์มากๆ มากเสียจนสังคมเริ่มกังวลว่า
นิยายเรื่องนี้อาจทำให้เกิดการ "ลอกเลียนแบบ"
วัยรุ่นที่อ่านนิยายเรื่องนี้ พออกหักแล้วอาจตัดสินใจฆ่าตัวตายเหมือนเวอร์เธอร์ก็ได้!
ในช่วงที่นิยายเรื่องนี้ตีพิมพ์ไปทั่วยุโรปก็เริ่มมีข่าววัยรุ่นฆ่าตัวตายหลายที่ แต่ก็ไม่มีที่ใดพิสูจน์ได้แน่ชัดว่าเป็นการฆ่าตัวตายเลียนแบบ ถึงอย่างนั้นหลายคนก็ออกมาต่อต้านนิยายเรื่องนี้ ทั้งบุคคลสำคัญทางศาสนาอย่างบิชอป บาทหลวงที่เรียกว่า "นิยายแห่งความชั่วร้าย" นักเขียน นักคิดทั้งหลายที่เริ่มกังวลว่านิยายเรื่องนี้อาจส่ง "ผลเสีย" มากกว่าผลดี
ถึงแม้จะโดนแบน แต่ก่อนหน้านั้นนิยายเรื่องนี้ผลตอบรับดีพอๆ กับแฮร์รี่ พอตเตอร์ของเจ เค โรว์ลิ่งเลยจ้า หนุ่มๆ ต่างแต่งตัวเลียนแบบเวอร์เธอร์ มีการทำของที่ระลึกขายสำหรับแฟนๆ ทั้ง ภาพวาด จานชาม มีผู้ประกอบการรีบตามกระแส ผลิตน้ำหอมกลิ่นเวอร์เธอร์ออกมา แถมในกลุ่มคนมีเงินหลายคนยังต้องมี "ทริปก่อนตาย" จุดหมายคือไวมาร์ ประเทศเยอรมนี สถานที่จากในนิยายเรื่องนี้เอง
เห็นมั้ยคะว่ากระแสตื่นตัวต่อสิ่งใหม่ๆ ในแต่ละยุคสมัย แม้สิ่งนั้นจะต่างกัน แต่ยังคงรูปแบบเดิม นั่นคือคนรุ่นใหม่ตามกระแส
มองว่าเป็นเรื่องปกติ คนรุ่นเก่าต่อต้าน มองว่าเป็นอันตราย เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ
จำได้ว่าสมัยที่ยังเด็ก ก่อนที่จะมีสมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ต คนติดทีวีกันมากๆ จนถึงกับรณรงค์ว่าให้ออกไปทำกิจกรรม
อย่างอื่นบ้าง และมีการทำภาพล้อเลียนว่าคนที่นั่งจมอยู่แต่กับทีวีจะเป็นยังไง (แบบในหนัง Wall-E ไง)
แต่ดูเหมือนว่าตอนนี้สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ คนเลิกดูทีวี หันมาจับสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์ที่พกติดตัวไปไหนมาไหนได้ ก็ยิ่งทำให้
คนติดสิ่งนั้นมากขึ้นไปอีก
....คนยุคหนึ่งก็โทษหนังสือว่าไม่ดี
....คนยุคถัดมาก็โทษโทรทัศน์ว่าไม่ดี
....คนยุคถัดมาก็โทษสมาร์ทโฟนกับอินเทอร์เน็ตว่าไม่ดี
เชื่อว่ายุคต่อไปซึ่งเป็นยุคที่รุ่นเด็กๆโตเป็นผู้ใหญ่ อาจจะได้โทษอะไรสักอย่างที่เข้ามามีบทบาทแทนสมาร์ทโฟน
เช่น หุ่นยนต์สาวสุดเซ็กส์หรือปัญญาประดิษฐ์ (AI) ก็ได้นะ