ถ้าเป็นในสากล ปาร์คนายเลิศต้องเสียภาษีเท่าไหร่
ข่าวการขายโรงแรมปาร์คนายเลิศ 10,800 ล้านบาทนั้น ดังกระฉ่อนไปทั่ว เจ้าของก็มุ่งคืนกำไรแก่สังคม มีน้ำใจงามกับพนักงานและสังคม แต่ในบริบทสากลนั้น การครองทรัพย์มูลค่านี้ ต้องเสียภาษีปีละ 144 ล้านบาท หากเป็นเวลา 20 ปี ก็รวม 3,869 ล้านบาท และยังต้องเสียภาษีส่วนเพิ่มมูลค่าอีก 1,008 ล้านบาท
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ในฐานะที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับระบบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และภาษีมรดกในประเทศต่างๆ ทั่วโลก มองแง่มุมหนึ่งของการคืนกำไรต่อสังคม ก็คือการเสียภาษี และระบบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในสากล และภาษีมรดกเป็นระบบที่พยายามทำให้สังคมมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น
ในที่นี้เป็นการยกตัวอย่างให้เห็นในมาตรฐานสากล ไม่ได้มุ่งร้ายต่อเจ้าของทรัพย์ซึ่งเป็นผู้ที่ทำดีเพื่อสังคมมากมาย เช่น เคยร่วมกิจกรรมปลูกป่าชายเลน 100 ไร่ พร้อมบริจาคเงินรายได้ 700,000 บาท จากการจัดงานดอกไม้ประจำปี ครั้งที่ 25 (http://bit.ly/2dKNJMd) เป็นต้น ยิ่งกว่านั้นยังดูแลพนักงานเป็นอย่างดี เช่น ตามประกาศปิดกิจการโรงแรม ก็ระบุว่า "จะรับผิดชอบค่าชดเชยตามอัตราที่กฎหมายกำหนด พร้อมโบนัสอีก 1 เดือน สำหรับพนักงานที่มีสิทธิ์ได้รับโบนัสตามกฎของบริษัท และสินน้ำใจจากครอบครัวอีกจำนวนหนึ่งให้กับพนักงาน" (http://bit.ly/2cL7vdy) อดีตพนักงานก็ยังรักและรู้สึกเสียดายเป็นอย่างยิ่งเช่นกัน (http://bit.ly/2do4xZE)
แต่ในอีกแง่หนึ่ง การคืนกำไรที่แท้ก็คือการเสียภาษีนั่นเอง (ในประเทศไทยของเรา คนรวย ๆ อาจเสียภาษีไม่มากนักเพราะมีโอกาสลดหย่อน แถมยังหาช่องทางหลีกเลี่ยงได้มากมาย จึงทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำในสังคมสูงมาก) โดยในกรณีการขายที่ดินนี้ สมมติไม่คิดตัวอาคาร คิดแต่ที่ดินติดถนนวิทยุ 15 ไร่ หรือ 6,000 ตารางวา ประมาณว่าตารางวาละ 1.2 ล้านบาท (ถ้าที่ดิน 4 ไร่แถวนั้น ราคาตลาด 1.7 ล้านบาท) ก็เป็นเงิน 7,200 ล้านบาทแล้ว
ถ้าเป็นในสากล ที่ดินราคานี้ ต้องเสียภาษีดังนี้:
1. แต่ละปี เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปีละ 2% หรือเป็นเงิน 144 ล้านบาท และหากนับจากนี้ไปอีก 20 ปี ผู้ที่ซื้อต่อไปพึงเสียตามอัตรานี้ ณ อัตราดอกเบี้ย 3% ก็เท่ากับเงิน 3,869 ล้านบาท
2. เมื่อขาย นอกจากต้องเสียภาษีและค่าธรรมเนียมโอนตามปกติแล้ว ยังต้องเสียภาษีส่วนเพิ่มมูลค่า หรือ Betterment Tax ในกรณีนี้ถือครองมานานมาก ก็อาจคิดจากการเพิ่มขึ้นของราคาที่ดินในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 100% เป็นประมาณ 333% แสดงว่ามูลค่า 7,200 ล้านบาทนี้ เมื่อปี 2548 เป็นเงินเพียง 2,162 ล้านบาท เพิ่งได้เพิ่มจากการที่แถวนั้นมีรถไฟฟ้าบีทีเอส และสาธารณูปโภคอื่นอีกถึง 5,038 ล้านบาท ในกรณีนี้หากรัฐเก็บภาษี 20% ของส่วนเพิ่ม (ไม่ใช่ส่วนที่เป็นทุนของตนเอง) ก็จะได้เงินเข้าหลวงถึง 1,008 ล้านบาท
โดยเฉพาะในเงินส่วนที่ 2 นี้ถือว่าพึงจ่ายเพราะเป็นผลพวงการพัฒนาแถวนั้น หากแม้ที่ดินแปลงนี้จะปล่อยรกร้างไว้ 10 ปีก็ตาม การพัฒนาแถวนั้นส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะภาคเอกชน แต่หากไม่มีรถไฟฟ้าผ่านแถวนั้น (ซึ่งตามแผนเดิม ไม่มีสายสุขุมวิท) ราคาที่ดินก็คงไม่ขึ้นอะไรมากนัก และหากรัฐไม่ทำนุบำรุงแถวนั้นเป็นอย่างดี ราคาที่ดินแถวนั้นก็คงไม่งอกเงยเช่นนี้
3. ในกรณีรับมรดก ก็ยิ่งต้องเสียภาษีกันมาก เช่น มีข่าวว่า "ไต้หวันขูดภาษีมรดกหมื่นล้าน" (http://bit.ly/2dkz3Vr) โดยประเมินภาษีไว้ประมาณ 15,180 ล้านบาทจากกิจการทั้งหมดมูลค่า 224,400 ล้านบาท เป็นต้น
การที่เขาเก็บภาษีจากคนรวย ๆ มาก ๆ นั้น ไม่ใช่เป็นการ "ปล้นคนรวย ช่วยคนจน" ใครมีทรัพย์มาก ได้ประโยชน์จากการพัฒนาของรัฐมาก ก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมาก ย่อมเป็นธรรมอยู่แล้ว ในสังคมทุนนิยม เขาไม่ได้ห้ามให้คนรวยล้นฟ้า แต่ต้องเสียภาษี และต้องพยายามทำให้ความเหลื่อมล้ำน้อยลงด้วย แต่ถ้าเป็นในสังคมศักดินา เขาจะปล่อยให้รวยล้นฟ้าโดยไม่นำพาพวกสามัญชน
ถึงตรงนี้เราจึงจะเห็นได้ว่า ใครก็ตามยิ่งเสียภาษีมาก ยิ่งแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมมาก ยิ่งแสดงถึงความรักชาติมาก ส่วนการคืนกำไรแก่สังคม บริจาคหรือบำเพ็ญประโยชน์ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทำแล้วได้กับตนเอง เช่น จิตใจตนเองก็สบาย และได้จากสังคมในรูปลาภ ยศ สักการะตามควร ทั้งสองอย่างนี้จึงไม่ใช่เรื่องเดียวกันเสียทีเดียว เพียงแต่คนที่รับผิดชอบต่อสังคมมาก ๆ ก็ควรที่จะบริจาคมาก ๆ ด้วย หาไม่ก็จะถูกตราหน้าว่าใจดำ-ขี้เหนียว
การเสียภาษีมาก แสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมมากนั่นเอง