ตอบ อ.ชาญวิทย์ รื้อผู้บุกรุกป้อมมหากาฬ จะได้อะไรมากมาย
นักประวัติศาสตร์เยี่ยงศาสตราจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ถามว่าไล่ชุมชนป้อมมหากาฬแล้วได้อะไร ดร.โสภณ ในฐานะศิษย์และผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน ขอตอบ
ตามที่มีข่าวว่า "'ชาญวิทย์' ชี้ กทม. ไม่แคร์ประวัติศาสตร์ ถามซ้ำไล่ชุมชน ‘ป้อมมหากาฬ’ แล้วได้อะไร?" (http://bit.ly/2d2UABx) ทั้งนี้ศาสตราจารย์ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักประวัติศาสตร์ชื่อดัง อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า "ตนมองไม่เห็นว่าหากกทม.ไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ สังคมจะได้ประโยชน์อะไรจากการกระทำเช่นนี้ ไม่เพียงเท่านั้น ชุมชนดังกล่าวยังอยู่อาศัยกันมาเป็นร้อยปี เหตุใดจะมาไล่ให้ออกนอกพื้นที่ถิ่นฐานบ้านเรือน การที่ชาวบ้านต่อสู้อย่างอหิงสากับอำนาจรัฐ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี . . . ควรจะทำให้ชุมชนป้อมมหากาฬเป็น “มิวเซียม” กลางกรุงรัตนโกสินทร์ กลับพยายามไล่รื้อ ในอนาคตจะเป็นจุดด่างพร้อยในประวัติศาสตร์ของตนเอง"
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ในฐานะศิษย์ของ อ.ชาญวิทย์ เรียนวิชาพื้นฐาน ปี 1 "อารยธรรมตะวันออก" เมื่อ ปี 2519 ขออนุญาตมองต่างมุมกับอาจารย์ แม้อาจารย์จะเป็นนักประวัติศาสตร์ และแม้ ดร.โสภณ จะเป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินและนักผังเมือง แต่ก็เชื่อแน่ว่าอาจารย์เข้าใจผิดเรื่องประวัติศาสตร์ของป้อมมหากาฬอย่างแน่นอน
1. ชุมชนดังกล่าวไม่ได้อยู่มานับร้อยปี แทบทั้งหมดไม่ได้อยู่สืบมานับร้อยปี เพิ่งมาอยู่แทบทั้งหมดก็ว่าได้ แม้แต่ผู้นำชุมชนก็ยังมีบ้านพักอาศัยอยู่นอกชุมชน ผู้เป็นแม่ก็ได้รับเงินทดแทนไปแล้ว ป้อมมหากาฬต่างจากชุมชนโบราณเดิม เช่น บ้านครัว บ้านช่างหล่อ นางเลิ้ง ฯลฯ ที่อยู่กันมาทั้งชุมชนมานานบนที่ของตนเอง แต่ที่แทบทั้งหมดกรุงเทพมหานครได้ซื้อไว้แล้ว อาชีพก็แตกต่างกัน ขายอาหาร 5 ราย ร้านค้าในชุมชน 3 ราย ร้านขาย พลุ 2 ราย ร้านซักอบรีด 2 ราย นอกนั้นเป็น ครู ค้าขายทั่วไป/ของมือสอง ปั้นฤษีขาย พนักงานบริษัท รับราชการ ร้านขายอาหารนก และเลี้ยงไก่ชนขายอย่างละ 1 ราย รายได้ของครอบครัวเฉลี่ยอยู่ที่ 25,895 บาทต่อเดือน (http://bit.ly/2aYm8Eh)
2. กรณีโรงลิเกที่ว่ามีอยู่ในชุมชนมาก่อน แท้จริงแล้ว ที่ตั้งแห่งแรกกลับอยู่ที่บ้านหม้อ พิพิธภัณฑ์ซานดิเอโกเจ้าของภาพถ่ายโบราณภาพถ่ายป้ายวิกลิเกระบุชัดว่าถ่ายจากงานวัดสระเกศ แสดงวิกลิเกเปลี่ยนไปเรื่อย มีเพียงคำพูดจากสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า "อาจจะเป็นพระยาเพชรปาณี (ตรี) คิดตั้งโรงลิเก" (เป็นแห่งแรก) แต่ไม่ใช่ที่ป้อมมหากาฬ และแม้แต่ที่อ้างว่าเป็นที่ตั้งวิกลิเก ก็กลับมีบ้านเลขที่ 127 ตั้งอยู่ เจ้าของเดิมได้รับค่าเวนคืนจากกรุงเทพมหานครและย้ายออกไปแล้ว การนี้แสดงว่าแม้แต่คนในชุมชนก็ยังไม่ได้รักษา "มรดก" ดังกล่าว (ถ้ามีจริง) แต่ที่แน่ๆ ก็คือ ไม่เคยมีโฉนดที่ดินฉบับใดในที่นี้ระบุว่าเป็นของพระยาเพชรปาณีเลย (http://bit.ly/2cKayi0)
3. ที่ผ่านมามีการเสนอประวัติศาสตร์เท็จ ทำไม อ.ชาญวิทย์ไม่นำพา เช่นบอกว่า บ้านเลขที่ 99 “เป็นบ้านของตระกูลอึ๊งภากรณ์ โดยป๋วย อึ๊งภากรณ์ เคยอยู่ 2 ปี แล้วย้ายออกไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2” แต่เมื่อปี 2548 ทายาท 'อึ๊งภากรณ์' ก็ออกมาปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้อง ดร.ป๋วย พร้อมชี้แจงว่า บ้านหลังนี้เป็นบ้านของญาติทางฝ่ายแม่ และ "ส่วนเรื่องของมีค่าไม่ว่าจะเป็นลวดลายต่างๆ ที่ตกแต่งบนตัวบ้านนั้น ก็ถูกแกะขายไปหมดแล้ว และคนที่อยู่ที่นั่นในตอนนี้ก็เป็นคนที่ย้ายเข้ามาอยู่ใหม่ ไม่ใช่คนเก่า. . . ทางเจ้าของบ้านยินยอมให้ทาง กทม. รื้อถอนไปแล้วแต่ผู้อยู่อาศัยยังไม่ยอมไป" (http://bit.ly/2c736Sm)
ส่วนที่ อ.ชาญวิทย์ถามว่าถ้าไล่ชุมชนป้อมมหากาฬแล้วได้อะไร ผมขอตอบชัด ๆ ว่าที่เหลืออยู่ไม่กี่ครอบครัวนั้น ถ้าเชิญออกไปสำเร็จ ก็จะสามารถพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว และสถานที่พักผ่อนออกกำลังกาย แทนที่จะเป็นคล้าย "ซ่องโจร" ดังที่มีผู้ร้องเรียนว่าเป็นแหล่งอบายมุข ขายสินค้าผิดกฎหมาย หากทำเป็นสวนสาธารณะได้ จะทำให้สังคมและประชาชนได้ประโยชน์ปีละ 19 ล้านบาท ในระยะเวลา 10 ปีก็เป็นเงิน 144 ล้านบาท ดังนี้:
1. สวนสันติชัยปราการนี้มีผู้เข้าใช้สอยวันละ 2,000 ราย (http://bit.ly/2cMpblp) ดังนั้นจึงสมมติให้ในกรณีสวนสาธารณะ "ป้อมมหากาฬ" ซึ่งมีขนาด 6 ไร่เศษ น่าจะมีผู้เข้าใช้สอยในขนาดใกล้เคียงกัน แต่ลดลงไปสัก 20% เหลือ 1,600 คน เพราะในบริเวณนี้รายล้อมด้วยสถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียงมากมายเช่นกัน
2. ในกรณีไม่มีสวนสาธารณะนี้ อาจจัดให้ไปใช้บริการสถานออกกำลังกาย Fitness First ซึ่งเสียเงินเดือนละ 2,400 บาท หรือวันละ 80 บาท อย่างไรก็ตามสถานออกกำลังกายมีเครื่องออกกำลังกายมากมายที่ป้อมมหากาฬ ไม่มี แต่เป็นแหล่งที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ในกรณีอาจให้ค่าใช้จ่ายลดลง 30% และมีต้นทุนการดำเนินการอีก 30% รวม ค่าใช้จ่ายสุทธิคนละ 32 บาทต่อวัน (80% x (1-60%))
3. ดังนั้นในกรณีคนมาใช้วันละ 1,600 คน ณ ค่าใช้จ่ายหรือรายได้คนละ 32 บาทต่อวัน ก็เท่ากับวันละ 51,200 บาท หรือปีละ 18.69 ล้านบาท หากถูกผู้บุกรุกครอบครองไปใช้อีก 10 ปี ณ อัตราดอกเบี้ย 5% ก็เท่ากับว่าส่วนรวมต้องสูญเงินไป 144.32 ล้านบาท ตามสูตร (1-(1/(1+i)n))/i โดยที่ i คืออัตราดอกเบี้ย 5% ส่วน n คือระยะเวลา 10 ปีนั่นเอง (http://bit.ly/2cxNCok)
4. นี่ยังไม่รวมรายได้ที่จะได้จากการให้มีการเช่าที่ขายของเพื่อหารายได้มาบำรุงและพัฒนาสาธารณูปโภค และเผื่อมีส่วนเหลือไปใช้ในการพัฒนาท้องถิ่นให้เจริญเพื่อประโยชน์ของประชาชนและส่วนรวมในวันหน้า
การดื้อแพ่งของ "กฎหมู่" ที่ไม่นำพาต่อกฎหมาย บุกรุกที่ดินของกรุงเทพมหานคร ของส่วนรวมอย่างไม่มีหิริโอตตัปปะเช่นนี้ ทำให้สังคมสูญเสียจากการดื้อแพงของ "กฎหมู่" ควรหรือที่ อ.ชาญวิทย์ ผู้เป็นปูชนียบุคคลทางประวัติศาสตร์ จะไปร่วมเห็นด้วย พวก "กฎหมู่" นี้ไม่ใช่ "มวลมหาประชาชน" ของ กปปส. ไม่ใช่ "ไพร่แดง" ของ นปช. แต่เป็นผู้ที่ทำผิดกฎหมาย ที่สัญญาว่าจะย้ายออกมาตั้งแต่รุ่นพ่อ แต่ก็เตะถ่วงเรื่อยมา พวกนี้ไปฟ้องศาลแต่ศาลก็สั่งให้ย้ายออก แต่กลับไม่นำพาด้วยซ้ำ
ดร.โสภณ ขอให้ อ.ชาญวิทย์ ศึกษาประวัติศาสตร์และข้อเท็จจริงให้ถ่องแท้ จริงๆ มีเพียง 16 ครัวเรือนที่ไม่ยอมย้าย นอกนั้นเป็นคนนอกที่ถูกปลุกปั่น โปรดคิดใหม่เสียบ้างว่าตนได้อยู่อาศัยฟรีๆ มานานแสนนานแล้ว เลิกเอาเปรียบสังคมได้แล้ว คืนสมบัติของแผ่นดินให้แก่ประชาชนไทยใช้ร่วมกันโดยรวมเถอะ