อย่าปลื้มที่กรุงเทพฯ เป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับหนึ่ง
ดร.โสภณ เตือนอย่าเพิ่งปลื้มที่ว่ากรุงเทพมหานครเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวอันดับหนึ่งในโลก อย่าเข้าใจผิด เดี๋ยวจะพากันลงเหว มาสเตอร์การ์ดเป็นการ์ดเล็ก ๆ เท่านั้น
ตามที่มีข่าวว่า "'บิ๊กตู่'ปลื้ม'กทม.'ขึ้นแท่น สุดยอดจุดหมายปลายทางโลก" (http://bit.ly/2dhi6JM) จำนวน 21.47 ล้านคน แซงหน้าลอนดอนที่มีผู้ไปเยือน 19.9 ล้านคน และปารีสที่ 18.0 ล้านคน กรณีนี้ในด้านหนึ่งเป็นสิ่งที่น่าดีใจสำหรับประเทศไทย แต่ในอีกด้านหนึ่ง คงต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจน หาไม่อาจนำไปสู่การทุ่มทุนลงทุนโรงแรมแบบผิด ๆ จนเจ๊งกันระนาวในวันหน้าได้
1. การใช้จ่ายเงินผ่านบัตรของ MasterCard ไม่ได้ครอบคลุมไปทั่วโลก ไม่ได้เป็นแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ เนื่องจาก MasterCard มีสัดส่วนในตลาดเพียง 23% และที่ผ่านมาก็ลดลงตามลำดับจาก 29% ในปี 2549 บัตรหลักที่ผู้คนทั่วโลกใช้คือ Visa ซึ่งมีสัดส่วนในตลาดถึง 47% (http://bit.ly/2diL0xb)
2. จากสถิติของ Telegraph (http://bit.ly/2c4evjN) เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2559 ระบุว่าฮ่องกงเป็นนครที่มีผู้ไปเยือนมากที่สุด 27.78 ล้านคน (สถิติปี 2557) ส่วน Euromonitor เมื่อต้นปี 2559 นี้ ให้ฮ่องกงเป็นอันดับหนึ่ง เช่นกัน ตามด้วยลอนดอน สิงคโปร์ กรุงเทพฯ และปารีส โดยมีผู้ไปเยือนเป็น 27.8, 17.4 17.1 16.2 และ 15.0 ล้านคนตามลำดับ (http://bit.ly/1Qu8TeU) การที่ไทยขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งจึงน่าฉงนอยู่เช่นกัน
3. หากพิจารณาจากประเทศที่มีผู้ไปเยือนมากที่สุด 10 อันดับแรกของ World Tourism Organization ณ กลางปี 2559 (http://bit.ly/2cF1g6e) นั้น มีตั้งแต่ 31.3 ล้านคน (รัสเซีย) - 84.5 ล้านคน (ฝรั่งเศส) ไม่มีประเทศไทยติดอันดับเลย การที่ตัวเลขของไทยที่ 21.47 ล้านคน (ถ้าเป็นจริง) ก็แสดงว่าเป็นการเข้ามาในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเมืองโตเดี่ยว (Primate City) ไม่ได้ไปเมืองอื่น หรือในอีกทางหนึ่งเป็นแค่การผ่านไปเมืองอื่น อย่างไรก็ตามรายได้จากการท่องเที่ยวของไทยสูงถึง 44,600 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นอันดับที่ 6 ของโลกเลยทีเดียว
4. อย่างไรก็ตามหากวิเคราะห์ในรายละเอียดจะพบว่า นักท่องเที่ยวหลักของไทยคือคนจีน โดยในปี 2559 สูงถึง 30% ของทั้งหมด (ระหว่างเดือนมกราคม - กรกฎาคม) เพิ่มจาก 27% ในปี 2558 หรือเพิ่มจาก 4.8 เป็น 5.8 ล้านในห้วงเดียวกันระหว่างปี 2558-2559 ในขณะที่นักท่องเที่ยวจากยุโรป แม้จะมีจำนวนเพิ่มขึ้น (3.6 ล้านคนใน 7 เดือนแรกของปี 2559) แต่สัดส่วนกลับลดลงจาก 19% เหลือ 18% อาจกล่าวได้ว่านักท่องเที่ยวจากยุโรปที่กระเป๋าหนักกว่าคนจีน แม้มาเที่ยวเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังน้อยกว่าจีน
5. ดร.โสภณ เคยทำการสำรวจความเห็นของแท็กซี่สนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง ซึ่งพบปะกับนักท่องเที่ยวโดยตรง ปรากฏว่าในการประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวในรอบ 4 เดือนแรกของปี 2559 เทียบกับ 4 เดือนแรกของปี 2558 ผู้ขับขี่แท็กซี่ส่วนใหญ่ถึง 39% เห็นว่าลดลงมาก ที่เห็นว่าลดลงเล็กน้อยมี 26% แสดงให้เห็นว่าจำนวนถึง 65% หรือราวสองในสามของผู้ขับขี่แท็กซี่ในสนามบินสุวรรณภูมิเห็นว่าจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง สวนทางกับข้อมูลของทางราชการ ผลการประเมินโดยผู้ขับขี่แท็กซี่นั้นอาจต่างจากตัวเลขของทางราชการ ทั้งนี้เพราะนักท่อเที่ยวจีนที่เข้ามามากขึ้นแทนที่นักท่องเที่ยวชาติอื่นนั้น ไม่ค่อยใช้บริการแท็กซี่ (http://bit.ly/1TgPQra)
ดังนั้นการลงทุนในกิจการการท่องเที่ยวเป็นสิ่งที่พึงให้ความระมัดระวังเช่นกัน หากจีนประสบภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวอาจลดลง เช่นที่เคยเกิดขึ้นกับจำนวนนักท่องเที่ยวญี่ป่น รัสเซียและอื่น ๆ กิจการโรงแรมหรืออสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวเนื่องอื่นอาจได้รับผลกระทบเช่นกัน การลงทุนอสังหาริมทรัพย์เพื่อการท่องเที่ยวขนาดใหญ่ในระยะยาวจึงควรทำการศึกษาให้รอบคอบก่อนการดำเนินการ