ไทยบางคนยังเข้าใจผิดเรื่องการไหว้
หลายคนเป็นคนไทย แต่ยังไม่รู้จักการไหว้ ยังมีความเข้าใจไขว้เขวไปต่าง ๆ นานา ยิ่งไหว้ใครก่อน ยิ่งเสียศักดิ์ศรี วันนี้ผมขอพูดว่าด้วยการไหว้แสดงความเคารพสักเล็กน้อย
วันก่อนผมไปงานระลึก 6 ตุลาคม 2519 (วันที่เผด็จการทรราชเข่นฆ่านักศึกษาประชาชน) ผมดีใจที่ยังมีชีวิตรอดมาอีก 40 ปีหลังเหตุการณ์ดังกล่าว ผมได้มีโอกาสพบปะกันรุ่นพี่ รุ่นน้อง รุ่นลูก รุ่นหลาน และยังมีเหลือรุ่นพ่ออยู่บ้างบางคน ก็เป็นธรรมเนียมของผม ผมพบใคร ผมก็ไหว้เขา เพราะปกติผมอยู่ที่บริษัทของผมในฐานะประธานและเจ้าของบริษัท ผมก็ไหว้ตั้งแต่แม่บ้าน เด็กคราวลูกหลานที่จบมาใหม่ จนถึงคนที่แก่กว่าผมเพียงไม่กี่คนในบริษัท ผมถือว่าใครเห็นใครก่อนก็ไหว้ก่อน ไม่ได้คิดแบบศักดินาที่ว่าคนที่เด็กกว่าต้องไหว้ก่อนแต่อย่างใด
ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นในบางกรณีศึกษา
- ที่ผ่านมาก็มีป้าเสื้อแดงบางคน กลับทำตัวเป็นศักดินา ชอบรอให้คนอื่นไหว้ก่อน รอแต่จะรับไหว้ ผมว่าแบบนี้ไม่ไหว ถ้าเรามีจิตใจเห็นคนเท่าเทียมกัน เราต้องไหว้ก่อน ถ้าเราเห็นเขาก่อน แม้เขาเห็นเราก่อน แต่ไม่ไหว้ทักทายเราก่อน เราก็ไหว้ก่อนได้ จะได้ลดอัตตาลงบ้างไง บรรยากาศจะได้ตลบอบอวลด้วยความรักและความเอื้ออาทรต่อกัน
- แต่ในอีกแง่หนึ่งก็มีพี่เสื้อเหลืองบางคนที่ไม่ชอบหน้าผม แม้ผมจะไหว้ ก็แสร้งทำเป็นมองไม่เห็น ผมก็ไม่ถือสา ตามไปไหว้เขา จนเขาหันมามอง บางคนก็รับไหว้ บางคนก็ไม่รับไหว้ ผมก็ถือว่าเป็นสิทธิของแต่ละคน
- ยังมีเพื่อนรุ่นเดียวกันบางคน เห็นผมไหว้เขา กลับยังต่อว่าผมอีกว่า ไหว้เขาทำไม เรารุ่นเดียวกัน เธอคนนั้นคงมีนิยามการไหว้ที่คับแคบ การไหว้ถือเป็นการทักทายกันอย่างหนึ่ง เช่นเดียวกับการจับมือหรือหอมแก้มกันแบบฝรั่ง ไม่ใช่ไปตีความว่าการไหว้ใครเป็นการยอมศิโรราบกับอีกฝ่ายหนึ่ง
- ยังมีอาจารย์อีกคนหนึ่ง ไหว้เขา เขาก็ไม่รับไหว้ ยิ่งขืนใครไปล้อเล่นนวดเฟ้นเขา เขาจะโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ หาว่ามาประจบสอพลอ นี่ก็เป็นทัศนคติที่คับแคบยิ่ง เขาไม่เข้าใจการล้อเล่น แต่ความจริงก็คือสังคมไม่เคยได้ประโยชน์อะไรจากเขา เขาไม่เคยให้อะไรใคร เงินทองไม่เคยกระเด็น เขาก็ไม่เคยออกเงินสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคมสักบาท เคยแต่มารับเกียรติจนชินในฐานะอาจมอาจารย์
จริงอยู่ในบางสังคมเช่นเมียนมา การไหว้นั้นมีไว้สำหรับพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์เท่านั้น ชาวบ้านด้วยกันเองไม่ไหว้กันและกัน เขาจับมือกันตามที่ฝรั่งสอน ซึ่งตอนแรกที่ฝรั่งสอนแบบนี้เมื่อสองร้อยปีก่อน สาวๆ พม่าที่ไม่คุ้นชินกับการแตะเนื้อต้องตัวกัน ก็รู้สึกกระอักกระอ่วนยิ่งเหมือนกัน อย่างไรก็ตามในสังคมพุทธ-ฮินดูในอนุทวีปและสุวรรณภูมิมาแต่ก่อน ก็ใช้การไหว้แสดงการทักทาย (และความเคารพ) ต่อบุคคลอื่นเช่นกัน เพียงแต่มักไหว้บุคคลที่สูงกว่า ต่อบุคคลที่เท่ากัน และที่ต่ำกว่า ไม่ไหว้ หรือพูดให้ชัด ๆ ก็คือไม่มีความกล้าที่จะไหว้
ในสังคมยุคใหม่ ที่เราเห็นแก่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เราควรส่งเสริมให้ไหว้กันและกันเพื่อแสดงความเคารพต่อศักดิ์ศรีที่ทุกคนมีเสมอหน้ากันโดยไม่มีเรื่องคุณวุฒิ วัยวุฒิ วรรณะ ฐานะทางการเงินมาเกี่ยวข้อง การไหว้ใครก่อนไม่ใช่การแสดงออกถึงความต้อยต่ำกว่า การไม่ไหว้ใครก่อนแสดงถึงความคิดแบบศักดินาล้าหลัง เห็นแก่ตัวเอง เห็นคนอื่นด้อยกว่าตน
ต้องคิดแบบก้าวหน้าเห็นหัวคนเท่าเทียมกัน ประเทศชาติจึงจะเจริญ
ที่มา: http://area.co.th/thai/area_announce/area_press.php?strquey=press_announcement1608.htm