สัญญาณอันตรายตลาดที่อยู่อาศัยจากความคืบหน้าในการก่อสร้าง
ณ กลางปี 2559 มีที่อยู่อาศัยในมือผู้ประกอบการรอคนซื้ออยู่ทั้งหมด 174,750 หน่วย แต่ในจำนวนนี้สร้างเสร็จตั้งแต่ 60% ขึ้นไป มีอยู่ 92,045 หน่วย ที่เหลือยังเสร็จไม่ถึง 60% มีถึง 82,705 หน่วย ถ้าตลาดสะดุดขึ้นมา จะทำให้เกิดความเสียหายหนักได้
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ซึ่งได้เก็บข้อมูลตลาดอสังหาริมทรัพย์อย่างละเอียดและต่อเนื่องที่สุดตั้งแต่ พ.ศ.2537 พบว่า จำนวนหน่วยขายที่รอการขาย แต่ยังสร้างไม่เสร็จมีค่อนข้างมาก เป็นภาวะเปราะบางประการหนึ่ง ที่ควรได้รับการแก้ไข
ในจำนวนที่อยู่อาศัยของผู้ประกอบการที่รอผู้ซื้ออยู่นั้น มีเพียง 92,045 หน่วยที่เสร็จตั้งแต่ 60% ขึ้นไป ในกรณีที่อาจเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ หน่วยขายเหล่านี้ยังสามารถ "กัดฟัน" สร้างต่อให้แล้วเสร็จ พ้นจากปัญหาไปได้ ส่วนที่สร้างเสร็จไม่ถึง 60% ที่มีอีก 82,705 หน่วย ก็คงจะกลายเป็นอาคารสร้างค้าง และทิ้งไปกลายเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มที่สร้างได้ไม่ถึง 40% ซึ่งคงต้องล้มเลิกไป มีอยู่ 55,511 หน่วย ซึ่งจะได้รับผลกระทบหนัก ไม่สามารถสร้างต่อได้นั่นเอง
สำหรับในรายละเอียด ตามประเภทของที่อยู่อาศัย จะพบว่า
1. ในกรณีบ้านเดี่ยว ที่สร้างได้ตั้งแต่ 60% แล้ว มีอยู่ 23,981 หน่วย จากทั้งหมด 38,901 หน่วย หรือ 62% ของทั้งหมด แสดงว่าในกลุ่มบ้านเดี่ยวส่วนมากจะปลอดภัย
- ในกรณีบ้านแฝด ที่สร้างได้ตั้งแต่ 60% แล้ว มีอยู่ 7,348 หน่วย จากทั้งหมด 12,089 หน่วย หรือ 61% ของทั้งหมด แสดงว่าในกลุ่มบ้านแฝด ก็คล้ายกับบ้านเดี่ยวส่วนมากจะปลอดภัย
- ในกรณีทาวน์เฮาส์ ที่สร้างได้ตั้งแต่ 60% แล้ว มีอยู่ 26,269 หน่วย จากทั้งหมด 49,304 หน่วย หรือ 53% ของทั้งหมด แสดงว่าในกลุ่มทาวน์เฮาส์ราวครึ่งหนึ่งที่อยู่ในภาวะปลอดภัย
- ในกรณีตึกแถว ที่สร้างได้ตั้งแต่ 60% แล้ว มีอยู่ 2,091 หน่วย จากทั้งหมด 4,501 หน่วย หรือ 46% ของทั้งหมด แสดงว่าในกลุ่มตึกแถวจำนวนเกินครึ่งที่อยู่ในภาวะที่เสี่ยง
- ในกรณีห้องชุด ที่สร้างได้ตั้งแต่ 60% แล้ว มีอยู่ 31,275 หน่วย จากทั้งหมด 68,874 หน่วย หรือ 45% ของทั้งหมด แสดงว่าในกลุ่มห้องชุดจำนวนเกินครึ่งที่อยู่ในภาวะที่เสี่ยง ถือเป็นกลุ่มที่เสี่ยงมากที่สุด
ทางออกที่สมควรก็คือการคุ้มครองเงินดาวน์ของผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ. 2551 แต่ต้องแก้ไขให้เป็นภาคบังคับสำหรับผู้ประกอบการทุกรายเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค และเมื่อผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นแล้ว ก็จะซื้อบ้านในตลาดมากขึ้น อันจะช่วยเป็นการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจสำคัญประการหนึ่ง
ที่มา: http://www.area.co.th/thai/area_announce/area_press.php?strquey=press_announcement1589.htm