เร่งสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง: วิพากษ์แนวคิดต่อต้านแบบดรามา
กระเช้าขึ้นภูกระดึงควรเร่งสร้างเพื่อประโยชน์ของการท่องเที่ยว โดยไม่ได้รบกวนสัตว์ป่าแม้แต่น้อย อย่าไปเชื่อแนวคิดดรามาที่อาจทำร้ายผลประโยชน์ของประชาชน
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ได้รวบรวมแนวคิดดรามาของพวกต้านการก่อสร้างกระเช้าภูกระดึงที่นำเสนอโดย อ.ศศิน เฉลิมลาภ อ.นณณ์ สหายา และคุณศรีสุวรรณ จรรยา และนำมาวิพากษ์ให้ชัดๆ ไว้ดังนี้:
1. แม้ อ.ศศิน จะยอมรับว่าการสร้างกระเช้าไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมีผลดีมากมาย แต่ก็กลับไพล่ไปกลัวว่ากระเช้าจะเพิ่มมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ ข้อนี้เราไม่พึงใจแคบ สิ่งใดมีศักยภาพมากขึ้น ก็ย่อมมีมูลค่าเพิ่ม เราไม่พึง "ใส่ร้าย" ลอยๆ ว่าหน่วยราชการว่าเอื้อประโยชน์ต่อเอกชนโดยไม่มีหลักฐานและขาดความรับผิดชอบเช่นนี้
2. อ.ศศินบอกว่าภูกระดึงเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเดินขึ้นเขาที่เป็น Trekking trail ที่ดีที่สุดของประเทศ ก็ไม่มีใครห้ามเดิน แต่การเดินทำลายธรรมชาติมากกว่ากระเช้า และเราไม่ควรจำกัดสิทธิของผู้สูงวัย ผู้ที่ไม่แข็งแรง ผู้พิการ ผู้มีเวลาน้อย รวมทั้งการขนส่งผู้บาดเจ็บ เครื่องใช้ อาหาร และขยะ โปรดอย่าไล่ให้คนไปใช้บริการที่อื่นที่ถนนเข้าถึง
3. อ.ศศินบอกว่า ระยะทางที่ไม่ไกลมาก ซึ่งเป็นการบิดเบือนระยะทางจากฐานถึงศูนย์บริการนักท่องเที่ยวประมาณ 9 กิโลเมตร พอๆ กับเดินจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปถึงแยกเกษตรศาสตร์ ซึ่งใช้เวลาเดิน 2 ชั่วโมง แต่การขึ้นเขาใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมง หรือเท่ากับเดินจากอนุสาวรีย์ชัยถึงเซียร์รังสิต ระยะทาง 25 กิโลเมตรเลยทีเดียว
4. อ.ศศินบอกว่าแทบไม่มีอันตราย แต่ในความเป็นจริงทุกปีมีคนตาย แม้แต่ลูกหาบก็ยังเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ก็ยังมี
5. อ.ศศินสร้างภาพว่าคนมาศึกษาธรรมชาติ แต่คุณดำรงค์ พิเดช อดีตอธิบดีกรมอุทยานฯ และนักต้านกระเช้าสรุปจากผลสำรวจพบว่า นักท่องเที่ยวส่วนมากนั้น มุ่งไป "พิชิตภูกระดึง" มากกว่าไปศึกษาธรรมชาติที่เป็นแค่ข้ออ้างสวยหรู ข้างบนเขาก็ยังมีร้านอาหารรสเลิศ สิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย ผิดวิสัยของผู้ที่ไปศึกษาธรรมชาติ
6. อ.ศศินพยายามตั้งแง่กฎหมาย ว่ากรมอุทยานฯ ควรเป็นผู้อนุมัติ ไม่ใช่ท้องถิ่นหรือองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน แต่จากผลการศึกษากรมอุทยานฯ เองก็พบว่าในผู้ที่เคยขึ้นไปเที่ยวมาแล้วจากทั่วประเทศและลูกหาบ ส่วนใหญ่อยากให้สร้างกระเช้า
7. อ.ศศิน พยายามเอาความกลัวต่างๆ มายับยั้งการสร้างกระเช้า แต่ในความเป็นจริง เราสามารถควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยวได้ มีรายได้เพิ่มขึ้นเพื่อรัฐนำมาดูแลรักษา-ปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าในพื้นที่ภูกระดึงได้มากขึ้นต่างหาก
8. อ.นณณ์ กลัวว่าคนจะขึ้นมากเกินไป คือประมาณ 250,000 คน แต่เชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะขึ้นไปเยี่ยมชมแล้วก็ลงภายในเวลา 2-6 ชั่วโมง ไม่ได้ค้างคืน และรัฐบาลยังอาจให้เลิกค้างคืนหรือลดจำนวนลง ทำให้รักษาสภาพป่าได้ดีกว่าเดิมเสียอีก
9. อ.นณณ์ กลัวว่าค่าก่อสร้าง 600 ล้านบาท อาจไม่คุ้ม แต่ท่านก็บอกเองว่าจะมีคนขึ้น 250,000 คนต่อปี หากค่าโดยสารประมาณ 500 บาท ก็เท่ากับ 125 ล้านต่อปี คิดได้ไม่ยากภายในเวลาไม่กี่ปีก็เกินคุ้มแล้ว
10. คุณศรีสุวรรณ บอกว่าจำนวนคนลงชื่อค้านมีถึง 17,000 คน แต่รายชื่อพวกนี้เป็น Account จริงหรือ จะไปเชื่อถือได้อย่างไร เป็นคนที่อาจไม่มีความรู้ใด ๆ ในเรื่องนี้ เพียงถูกปลุกปั่น เราต้องเชื่อคนส่วนใหญ่ที่เคยไปมาแล้ว เชื่อลูกหาบส่วนใหญ่ที่ขึ้นลงมาตลอดชีวิต เชื่อชาวภูกระดึงที่ได้เรียนรู้จากภูมิปัญญาชาวบ้าน
11. คุณศรีสุวรรณ เสนอให้ทำประชามติ แต่ค่าทำประชามติใช้เงิน 3,000 - 4,000 ล้านบาท แพงกว่าค่าทำกระเช้า 5-6 เท่า อย่างนี้เท่ากับเป็นการ "โบ้ย" เพื่อเตะถ่วงความเจริญของประเทศชาติและประชาชนหรือไม่
โปรดดูเพิ่มเติมคือ
1. จดหมายของ ดร.โสภณ ถึงนายกฯ เพื่อรณรงค์ให้สร้างกระเช้าภูกระดึง http://bit.ly/1povC3l
2. บทความของ ดร.โสภณ เรื่อง กระเช้าขึ้นภูกระดึง: อารมณ์และความจริง http://bit.ly/1nj4G3e
3. Clip กระเช้าภูกระดึง เพื่อทุกคนและป่าไม้ www.youtube.com/watch?v=Jebl1k6keuQ
4. Fanpage กระเช้าภูกระดึง เพื่อทุกคนและป่าไม้ www.facebook.com/phukradungcable
ที่มา: http://www.area.co.th/thai/area_announce/area_press.php?strquey=press_announcement1556.htm