เคล็ดลับ !! วิธีต้มมะระ ไม่ให้ขม วันนี้มีวิธีมาบอกกัน รับรอง จะเป็นเมนูที่คนทั้งครอบครัวโปรดปราน
เกี่ยวกับ มะระ …… ก่อนอื่น มรู้จัก กับ ผักที่ประโยน์กันก่อนดีกว่านะคะ ^^
เพราะในมะระมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย เช่น แคลเซียม ช่วยเสริมสร้างการทำงานของกระดูกและฟัน ช่วยให้เลือดแข็งตัว มีฟอสฟอรัสซึ่งทำงานสัมพันธ์กับแคลเซียมในการบำรุงกระดูกและฟัน บำรุงสมอง กล้ามเนื้อ วิตามินซีที่ช่วยให้ผิวพรรณผ่องใส
อีกทั้งยังมีเบต้าแคโรทีนในปริมาณสูง ช่วยในการสร้างภูมิคุ้มกันโรคและปกป้องเซลล์จากการทำลายของสารก่อมะเร็ง แต่ถึงกระนั้นแล้วความขมของมะระก็ยังทำให้หลายคนลังเลที่จะกิน วันนี้เรามีเคล็ดลับวิธีลดความขมของมะระ ให้กินได้ง่ายและอร่อยขึ้น มาฝากกันค่ะ
มะระเป็นพืชล้มลุกชนิดไม้เถา จัดเป็นผักตระกูลเดียวกับ ฟัก แตงกวา บวบ เชื่อว่ามีแหล่งกำเนิดในประเทศจีน ก่อนที่แพร่ขยายไปในแถบทวีปเอเชียและอินเดีย และทั่วไปรวมถึงประเทศไทย ปัจจุบันมะระที่นิยมกินมีสองชนิด คือ มะระขี้นก ซึ่งมีขนาดเล็ก ผิวขรุขระ สีเขียวแก่ หัวและท้ายเรียวแหลม มีรสชาติขม และมะระจีน ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ชาวจีนนำเข้ามาในประเทศไทย ลักษณะผลมีขนาดใหญ่ สีเขียวอ่อน น้ำหนักมาก แต่มีความขมน้อยกว่า
รสชาติขมในมะระ
การที่มะระมีรสขม เพราะในมะระมีสารเคมีชนิดหนึ่งชื่อ Momodicine ซึ่งมีสรรพคุณในการช่วยกระตุ้นความรู้สึกให้อยากอาหาร ขณะเดียวกันก็ยังช่วยให้น้ำย่อยในกระเพาะอาหารทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งรสขมที่แฝงอยู่ในผลมะระยังมีสรรพคุณเป็นยาระบายอย่างอ่อนๆ จึงดีสำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องท้องผูกเป็นประจำ กินมะระบ่อยๆ ช่วยแก้ปัญหาได้
เคล็ดลับวิธีลดความขมของมะระ
1. การเลือกมะระ ควรเลือกที่ลูกอวบๆ รูปร่างตรงๆ ไม่งอ (เพื่อจะได้หั่นง่าย) ผิวออกสีเขียวอ่อนๆ ไม่ขาวไม่เหลือง ริ้วใหญ่และห่าง สิ่งสำคัญคือ จับดูแล้วเนื้อต้องแข็ง ถ้าริ้วเล็ก ผิวเขียวจัด ยังอ่อน ไม่อร่อยค่ะ แต่ถ้าเริ่มออกสีเหลืองส้ม เนื้อเริ่มนิ่ม คือ มะระเริ่มแก่แล้ว รสชาติจะขมมาก
2. ลดความขมด้วยเกลือ หลังจากหั่นมะระเป็นชิ้นตามความต้องการแล้ว ให้ใช้ช้อนขูดไส้และเมล็ดออก จึงนำมาคลุกกับเกลือ มะระ 1 ลูก ก็ใช้เกลือประมาณ 2 ช้อน โรยให้ทั่ว คลุกเคล้าให้เข้ากัน ทิ้งไว้สัก 10 นาที จึงล้างออก ลวกในน้ำเดือด แล้วจึงนำไปปรุงตามขั้นตอน
3. ลวกด้วยน้ำเกลือ เหมาะสำหรับเมนูผัด เริ่มจากต้มน้ำให้เดือด ใส่เกลือลงไป นำมะระที่ซอยแล้วลงไปลวก พอเริ่มออกสีเขียวเข้ม รีบตักขึ้นล้างในน้ำเย็น ยิ่งเย็นจัดยิ่งดี เพราะมะระจะกรอบอร่อยและมีสีสวย แล้วจึงตักขึ้นพักให้สะเด็ดน้ำ จึงนำไปผัดตามปกติหรือเป็นจะใช้เป็นเครื่องเคียงกับขนมจีนก็ได้ค่ะ
4. ขยำเกลือ เหมาะสำหรับมะระที่มีรสขมมากๆ ใช้วิธีซอยบางๆ แล้วขยำกับเกลือจนเนื้อนุ่ม หรือนำไปแช่ในน้ำเกลือสักพัก ล้างออกด้วยน้ำสะอาดสัก 2-3 น้ำ ให้หายเค็ม แล้วจึงนำไปปรุงอาหาร
5. ต้มน้ำหลายครั้ง นำมะระต้มในน้ำเดือด เปลี่ยนน้ำหลายๆ ครั้ง จนเหลือความขมมากน้อยตามต้องการ ยิ่งเปลี่ยนน้ำหลายครั้ง ความขมจะลดน้อยลงไปเรื่อยๆ เนื้อมะระจะนุ่มเหมาะสำหรับต้มหรือตุ๋น และไม่ควรต้มหลายครั้งเกินไปนะคะ เพราะจะทำให้จืดจนไม่อร่อยค่ะ
6. ต้มโดยไม่ปิดฝาหม้อ เหมาะสำหรับคนที่ชอบรสขมของมะระติดปลายลิ้นเล็กน้อย เช่น เมนูมะระยัดไส้ หลังจากยัดไส้ในมะระสดๆ แล้ว ปรุงรสน้ำซุปด้วย กระเทียม รากผักชีและพริกไทย ต้มไปเรื่อยๆ ด้วยไฟอ่อนๆ และไม่ต้องปิดฝาหม้อนะคะ ยิ่งเนื้อมะระจะนุ่มมาก มีรสชาตินุ่มนวล เหลือรสขมเพียงเล็กน้อย
ข้อควรระวัง : มะระที่กินได้คือมะระที่ดิบๆ ห้ามรับประทานมะระที่มีผลสุก เพราะอาจทำให้คลื่นไส้ อาเจียนได้ เนื่องจากมีสารซาโปนินอยู่มาก ซึ่งสารนี้จะทำให้เป็นพิษต่อร่างกายได้ และระวังอย่าทานมะระมากจนเกินไป เพราะจะทำให้ท้องเสีย เนื่องจากมีฤทธิ์เป็นยาระบาย
ทั้งมะระจีนและมะระขี้นกสามารถนำมาประกอบอาหารได้มากมายหลายชนิด เช่น มะระต้มจืด แกงจืดมะระยัดไส้ มะระผัด ยำมะระสด หรือลวกจิ้มน้ำพริก แถมราคาก็ไม่แพงมาก หาซื้อได้ทั่วไปตามท้องตลาด และเคล็ดลับวิธีที่เราได้แนะนำนั้นจะช่วยลดความขมของมะระอย่างได้ผล คราวนี้คุณก็จะทานมะระได้บ่อยๆ ได้ประโยชน์ ส่งเสริมสุขภาพที่ดีนะคะ