เรื่องน่ารู้ “กระเบื้องปูพื้น”
กระเบื้องเซรามิก คือ วัสดุแผ่นบางที่ทำมาจากดินและสารอนินทรีย์อื่นๆ มาเป็นวัตถุดิบในการขึ้นรูปและผ่านความร้อนที่อุณหภูมิสูง โดยสามารถแบ่งได้ตามลักษณะของเนื้อกระเบื้อง และตามลักษณะการใช้งาน
การแบ่งตามลักษณะของเนื้อกระเบื้อง สามารถแบ่งได้ดังนี้
>>Earthenware Body (เนื้อดินเผา)
เนื้อกระเบื้องอาจเป็นสีขาวหรือสีแดง ขึ้นอยู่กับดินที่นำมาผสม เมื่อนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์เซรามิกมักจะเผา 2 ครั้ง มีความพรุนตัวและดูดซึมน้ำสูง
>>Stoneware Body (เนื้อหิน)
เนื้อแข็งแกร่งและทึบแสง โดยทั่วไปมักจะมีสีน้ำตาล แต่ก็อาจจะมีเนื้อสีขาวได้ มีการดูดซึมน้ำปานกลาง
>>Porcelain Body (เนื้อกระเบื้องเคลือบ)
เนื้อกระเบื้องมีสีขาว มีการใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพสูง และมีการดูดซึมน้ำที่ต่ำมาก
การแบ่งตามลักษณะการใช้งาน สามารถแบ่งได้ดังนี้
>>กระเบื้องปูพื้น (Floor Tiles)
มีการเคลือบสีที่ผิวหน้า เป็นเนื้อกระเบื้องแบบหินเหมาะสำหรับงานปูพื้นภายในบ้านพักอาศัยทั่วไป รวมถึงสามารถปูผนังได้ด้วย
>>กระเบื้องปูผนัง (Wall Tiles)
มีการเคลือบสีที่ผิวหน้า ที่มีเนื้อกระเบื้องเป็นแบบดินเผา เหมาะสำหรับงานกรุผนังภายในอาคารเท่านั้น เนื่องจากไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้รับน้ำหนักได้มากนัก (จึงไม่สามารถนำไปปูพื้นได้) และไม่ทนต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิภายนอกอาคาร
>>กระเบื้องแกรนิต (Homogeneous Tiles/Granite Tiles/Granito)
กระเบื้องที่ไม่มีการเคลือบสี มีเนื้อกระเบื้องเป็นแบบกระเบื้องเคลือบ เป็นเนื้อเดียวกันทั้งแผ่น มีความสามารถในการรับแรงได้มาก ทนต่อการขัดสีได้ดี จึงเหมาะสำหรับการใช้งานในพื้นที่ที่มีการสัญจรมาก
>>กระเบื้องเกลซพอร์ซเลน (Glazed Porcelain Tiles)
กระเบื้องที่มีการเคลือบสีที่ผิวหน้า ที่ผ่านกรรมวิธีการขึ้นรูปด้วยวิธีการปั๊มอัดองค์ประกอบ ทำให้ได้กระเบื้องเนื้อแน่น ละเอียด และเรียบ มีเนื้อกระเบื้องเป็นแบบกระเบื้องเคลือบ มีความสามารถในการรับแรงได้มาก ทนต่อการขัดสีได้ดี เหมาะสมกับการใช้งานในพื้นที่ที่มีการสัญจรมาก
จะเห็นได้ว่า กระเบื้องที่เหมาะสำหรับการปูทั้งพื้นและผนัง ทั้งภายในและภายนอก รวมถึงพื้นที่ที่มีการสัญจรสูง คือ กระเบื้องเกลซพอร์ซเลน และกระเบื้องแกรนิต เนื่องจากมีความแกร่ง ทนทาน สามารถรับน้ำหนักได้มาก นอกจากนี้ยังมีค่าการดูดซึมน้ำที่ต่ำมากอีกด้วย โดยกระเบื้องแกรนิตจะมีความพิเศษที่โดดเด่น คือ การเป็นเนื้อเดียวกันทั้งแผ่น หากสังเกตที่ขอบแผ่น ด้านข้างแผ่น หรือเมื่อถูกกะเทาะหรือตัดแบ่งออกมาแล้ว จะเห็นว่าเนื้อที่ผิวหน้ากับเนื้อด้านในจะเป็นสีเดียวกัน
เครดิต : THAIHOMEONLINE