โรคกินไม่หยุด Binge Eating Disorder (BED) กินเยอะแบบไหนถึงเป็นโรคกินไม่หยุด
โรคกินไม่หยุด (Binge Eating Disorder) ผู้ป่วยจะควบคุมพฤติกรรมการทานอาหารของตนเองไม่ได้ ทำให้ทานเยอะทานมากกว่าปกติ และรู้สึกไม่ดีหลังทานอาหารไปแล้ว จะหยุดก็ต่อเมื่อไม่สามารถทานต่อได้แล้ว โดยจะส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยตรง เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย พบได้มากในเพศหญิงช่วงอายุ 20 ปีขึ้นไป
สาเหตุของโรคกินไม่หยุดเกิดจากอะไร
ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดขึ้นจากสาเหตุใด แต่คาดว่าอาจเกิดขึ้นจากหลายปัจจัยเป็นตัวกระตุ้น โดยโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย และปัจจัยที่อาจส่งผลให้เกิดโรคนี้ อย่างเช่น
- ปัจจัยความเสี่ยงด้านจิตใจ เกิดเหตุการณ์ที่กระทบความรู้สึก เคยถูกทำร้าย การสูญเสียบุคคลรอบตัว ไปจนถึงความผิดหวังจากการลดน้ำหนัก และไม่มีความมั่นใจวิตกกังวลในรูปร่างของตนเอง มีความพึงพอใจในรูปร่างของตนเองต่ำ เสพติดการลดน้ำหนัก เครียดกับการลดน้ำหนัก
- ปัจจัยความเสี่ยงจากโรค พบได้ในผู้ที่เป็นโรคอ้วน หรือคนในครอบครัวเคยเป็นโรคกินไม่หยุด และจากโรคทางจิตเวช อย่างเช่น โรคไบโพลาร์ โรคเครียด โรคซึมเศร้า เป็นต้น
- การดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
อาการของโรคกินไม่หยุด
- พฤติกรรมการทานอาหาร ผู้ป่วยจะกินอาหารในปริมาณมากกว่าปกติ แม้ไม่รู้สึกหิว รับประทานอาหารปริมาณมาก ๆ อย่างรวดเร็วในระยะเวลาไม่นาน หยุดรับประทานไม่ได้แม้จะอิ่มแล้วก็ตามโดยจะทานจนกว่าจะทานต่อเองไม่ไหว หลังจากทานไปแล้วจะรู้สึกผิด เศร้า โกรธ ละอายใจ รังเกียจ หรือโทษตนเองที่รับประทานมากเกินไป บางรายอาจจะมีพฤติกรรมสะสมของกินไว้ใกล้ตัว
- พฤติกรรมทางด้านอารมณ์ ผู้ป่วยโรคกินไม่หยุดจะอยากกินอาหารคนเดียว เพราะรู้สึกอายหากต้องกินอาหารกับผู้อื่นในปริมาณมาก
กินไม่หยุด กับปัญหาสุขภาพร้ายแรงที่อาจตามมา
- โรคความดันโลหิตสูง
- โรคหัวใจและหลอดเลือด อย่างเช่น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง
- ภาวะน้ำหนักเกิน และโรคอ้วน
- เบาหวานชนิดที่ 2
- ภาวะทางอารมณ์ อย่างเช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล
- ภาวะคอเลสเตอรอลสูง ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
- ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ อย่างเช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งตับอ่อน มะเร็งต่อไทรอยด์
- อาจทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ ไข่ไม่ตก จึงทำให้ตั้งครรภ์ได้ยากขึ้นด้วย
การรักษาโรคกินไม่หยุด
การใช้ยา หรือ การเข้ารับจิตบำบัด หากท่านพบว่าตนเองหรือคนในครอบครัวมีอาการเสี่ยง หรือเข้าข่ายอาการของโรคกินไม่หยุด (BED) สามารถเข้ามาปรึกษาแพทย์ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยเพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธี
- การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ออกกำลังกาย ทานอาหารที่เป็นประโยชน์ และไม่ปล่อยให้ตนเองตกอยู่ในสภาวะความเครียด
- การใช้ยา เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุดมีจุดประสงค์เพื่อจัดการสมดุลภายในสมอง และลดโอกาสเกิดอาการของโรคกินไม่หยุด แต่ด้วยผลข้างเคียงจากการใช้ยาจึงต้องทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- การทำจิตบำบัด มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ป่วยเรียนรู้สาเหตุ และอาการของโรคเพื่อรับมืออาการและสามารถจัดการกับความคิดด้านลบต่อร่างกายของตนเองได้
โรคกินไม่หยุดต้องใช้ความอดทนและความมีวินัยในการรักษา การได้รับกำลังใจและความเข้าใจจากคนรอบข้างจึงเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญที่จะทำให้การรักษาประสบผลสำเร็จ