เลิกทำบ้านประชารัฐได้แล้ว
ตามที่มีข่าวว่า "คลังดื้อ 'บ้านประชารัฐ' ปล่อยกู้อืด! ต้นตอสร้างบ้านบนที่ตัวเอง" นั้นแสดงให้เห็นว่าเราควรเลิกนโยบายบ้านประชารัฐทื่ถือว่าผิดพลาดได้แล้ว รับความจริงแล้วไปต่อดีกว่า
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) แสดงความเห็นว่า การที่โครงการนี้มีเป้าหมายให้กู้รวม 40,000 ล้านบาท โดยธนาคารของรัฐ 2 แห่งคือธนาคารอาคารสงเคราะห์และธนาคารออมสิน ทั้งนี้คาดหวังให้ปล่อยกู้ได้หมดภายใน 3-4 เดือนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่จนถึงขณะนี้ ปล่อยกู้แล้ว 7,735 ราย วงเงิน 7,700 ล้านบาท นี่จึงเป็นความล้มเหลวที่ไมได้กระตุ้นเศรษฐกิจใด ๆ เลย
ธนาคารทั้งสองให้ความเห็นว่า "ไม่ควรนำราคาที่ดินมานับรวมกับค่าก่อสร้าง เพราะโครงการนี้ กำหนดชัดว่า บ้านและที่ดินเมื่อรวมกันแล้วไม่เกิน 1.5 ล้านบาท แต่ประชาชนในต่างจังหวัดและหัวเมืองใหญ่ ที่เป็นลูกค้าของ ธอส.ต้องการปลูกบ้านบนที่ดินตนเอง ทำให้การยื่นเรื่องขอกู้เงินทำได้อย่างจำกัด เช่น ราคาที่ดินในต่างจังหวัดสำหรับที่อยู่อาศัย 800,000-1 ล้านบาท จึงเหลือวงเงินที่ยื่นกู้ได้อีกไม่เกิน 500,000 บาท รวมแล้วไม่เกิน 1.5 ล้านบาท แต่ค่าก่อสร้างบ้านปัจจุบันหลังละ 700,000-800,000บาท ทำให้ลูกค้าจำนวนหนึ่งที่ต้องการกู้เงิน ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้ ธอส.แก้ปัญหาโดยเสนอให้ลูกค้ากลุ่มนี้ใช้บริการสินเชื่อตามปกติของธนาคารที่มีอัตราดอกเบี้ยแพงกว่าเล็กน้อย”
แต่ ดร.โสภณ พรโชคชัย เห็นว่า
1. ในกรณีที่ลูกค้ากู้ไปปลูกบ้านเอง แสดงว่าไม่ได้มีความต้องการที่อยู่อาศัยจริง เพียงแต่จะขยายครอบครัวเลยจะสร้างบ้านบนที่ดินของตนเองใหม่ ไม่มีความจำเป็นต้องช่วยเหลือ
2. โครงการบ้านประชารัฐก็ไม่ได้เอื้อดอกเบี้ยต่ำกว่านัก ดังนั้นคนจึงไปกู้ตามปกติ ซึ่งก็ไม่เสียดอกเบี้ยมากอยู่แล้ว แสดงว่าในความเป็นจริง ประชาชนไม่ได้มีปัญหาว่าบ้านแพง ซื้อไม่ไหวแต่อย่างใด
3. แม้ว่าทางราชการให้ตัดค่าที่ดินออกไปจากการกู้เพื่อสร้างบ้านใหม่ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นการช่วยผู้มีบ้านหลังแรก ประชาชนเหล่านี้คงมีบ้านแล้ว แต่จะสร้างเพิ่ม
4. การส่งเสริมให้คนกู้ไปต่อเติมหรือสร้างบ้านใหม่ อาจมีการฉ้อฉลเกิดขึ้นโดยกู้เงินเกินวงเงินก่อสร้างจริง และนำเงินไปใช้ในทางอื่น ไม่ได้มีความจำเป็นต้องปล่อยกู้สร้างบ้านเลย ในปัจจุบันการสร้างบ้านเองก็ไม่ได้เป็นที่นิยม
ดร.โสภณ เคยเสนอหนทางง่าย ๆ อย่างหนึ่งก็คือการส่งเสริมการซื้อบ้านมือสองซึ่งเป็นบ้านที่มีอยู่แล้ว ไม่ต้องเสียต้นทุนในการผลิตใหม่ (bit.ly/1S9YmDN) โดยประกาศให้ผู้ที่มีบ้านที่จะขายในราคาถูก ที่อาจเป็นทั้งผู้ประกอบการที่มีหน่วยขายเหลืออยู่น้อย ไม่มีงบประมาณในการโฆษณา หรือประชาชนทั่วไปผู้มีบ้านหรือห้องชุดเป็นของตนเองในราคาไม่เกิน 1,500,000 บาท เพื่อให้โอกาสคนซื้อบ้านได้ซื้อบ้านในราคาถูก และคนขายบ้านได้เงินสดไปหมุนเวียนโดยไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินหรือไม่ต้องไปขอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาล เป็นการแบ่งเบาภาระของรัฐบาล
ทั้งนี้ให้ผู้สนใจขายบ้านลงทะเบียนไว้กับกรมบังคับคดี การเคหะแห่งชาติ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค บสก. หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง โดยต้องเสียค่าธรรมเนียมในการว่าจ้างบริษัทประเมินที่เป็นกลางไปประเมินหน่วยละประมาณ 3,000 บาท เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจกับผู้ซื้อบ้านว่า จะได้บ้านที่มีราคาที่เป็นธรรม และเพื่อป้องกันการทุจริต ก็ให้บริษัทประเมินทำประกันไว้ว่า หากประเมินผิดไปจากความเป็นจริงเกิน 10% ต้องเสียค่าปรับ 20 เท่าของค่าจ้าง
แล้วให้ใช้หอประชุมกองทัพบก ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ หรือสถานที่อื่นใดจัดการขายบ้านเหล่านี้ โดยให้ผู้จะขายรายย่อยตั้งโต๊ะขายโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือให้บริษัทพัฒนาที่ดิน บสก. สถาบันการเงินที่มีทรัพย์สินจะขายจัดบูธได้โดยเสียค่าใช้จ่าย เพื่อสนับสนุนผู้ขายบ้านรายย่อย หรือให้บริษัทพัฒนาที่ดินที่มีสินค้าถูกเหล่านี้ขายมาขายกับผู้สนใจซื้อโดยตรง
ให้ผู้ขายบ้านตั้งราคาขายตามราคาที่ประเมินได้ ใครมาก่อนได้ไปก่อน
โดยผู้จะซื้อแต่ละรายต้องวางเงินจองไว้ 50,000 บาท โดยสถาบันการเงินที่เป็นกลาง เป็นผู้เก็บรักษาเงินดังกล่าว หากตกลงกันแล้วแต่ผู้ซื้อกลับ 'เบี้ยว' ให้ยกเงินนี้ให้กับผู้ขาย ทั้งนี้ในการซื้อขายนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นการซื้อขายเฉพาะบ้านมือหนึ่งบ้านหลังแรกเท่านั้น เพราะวัตถุประสงค์หลักคือการกระตุ้นให้มีการซื้อบ้านเหล่านี้ได้โดยง่ายซึ่งจะทำให้เกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจเป็นสำคัญ และในกรณีที่ยังมีหน่วยขายเหลือ ให้ตกลงกับเจ้าของบ้านเพื่อลดราคาเหลือ 80% แล้วนำออกมาประมูลเพื่อส่งเสริมการขายในอีก 1 เดือนให้หลัง
อย่ามัวส่งเสริมให้สร้างบ้านใหม่ ซื้อบ้านใหม่ ยังมีบ้านสร้างเสร็จแต่ไม่มีคนอยู่มากมาย ที่ไม่ควรทิ้งให้เป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจ