เก้าอี้ระงับประสาท กับการรักษาอาการทางจิตที่โหดร้ายทารุณในอดีต
เก้าอี้ระงับประสาท กับการรักษาอาการทางจิตที่โหดร้ายทารุณในอดีต
ในอดีตที่ผ่านมา การรักษาอาการป่วยทางจิตมักจะมีวิธีการที่น่ากลัว ซึ่งหากคุณได้มีโอกาสดูเรื่องตำราการแพทย์ทางด้านจิตวิทยาในอดีตแล้วล่ะก็ คุณจะพบว่าการรักษาอาการป่วยทางจิตนั้นป่าเถื่อนโหดร้ายจนคุณคาดไม่ถึงเลยทีเดียว
นี่คือภาพวาดเก้าอี้ที่มีชื่อเรียกว่า “Tranquilizing Chair” หรือ “เก้าอี้ระงับประสาท” ในช่วงปี 1810
นักวิทยาศาสตร์ในสมัยก่อนที่อยู่เบื้องหลังเก้าอี้ตัวนี้ มีรากฐานความเชื่อที่ว่า อาการทางประสาทเกิดจากการอักเสบของสมอง ดร.เบนจามิน รัช ผู้ออกแบบเก้าอี้ระงับประสาท ออกแบบมาเพื่อใช้ควบคุมการไหลเวียนของเลือดที่ส่งไปเลี้ยงสมอง ซึ่งเขาคิดว่านี่เป็นวิธีเดียวที่จะรักษาอาการทางจิตได้
แน่นอนว่ามันคือเครื่องทรมานดีๆ นี่เอง ซึ่งคุณอาจจะคิดว่าเก้าอี้นี้มันช่างไร้สาระ แต่ ดร.เบนจามิน ไม่ใช่หมอกระโหลกกะลาที่ไหน เพราะแกมีฉายา “บิดาแห่งจิตเวชอเมริกัน” เลยทีเดียว
นอกจากนั้น ดร. ยังมีความเชื่อว่า การบริโภคสารปรอทและทำให้เลือดออกเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพสำหรับอาการป่วยทางจิต ลองนึกภาพการรักษาด้วยเก้าอี้แบบนี้ แถมยังรักษาด้วยปรอทและทำให้เลือดออก แน่นอนว่าสภาพจิตของผู้ป่วยอาจแย่ลงหรืออาจมีผลในระยะยาวก็เป็นได้
ถึงแม้ ดร.เบนจามิน จะมีความเชื่อที่ฟังดูโหดร้ายไปสักหน่อย แต่เขาเองก็เป็นผู้สนับสนุนผู้ป่วยทางจิตก่อนช่วงการปฏิวัติอเมริกา โดยนำรณรงค์ในฟิลาเดลเฟีย เพื่อสร้างสถานที่แยกต่างหากของผู้ป่วยทางจิต เพื่ออำนวยความสะดวกและสำหรับการรักษาอย่างมีมนุษยธรรม อีกทั้งยังเป็นผู้นำในการบำบัดรักษาโรคติดยาเสพติด โดยเฉพาะอาการติดเหล้าเรื้อรังอีกด้วย
โชคดีที่ในปัจจุบันนี้ วิทยาการทางการแพทย์ของมนุษยชาตินั้นก้าวหน้าขึ้นมาก และที่สำคัญพวกเรารู้ว่า อะไรคือมนุษยธรรมที่แท้จริง ดังนั้นการปฏิบัติกับคนไข้ในยุคนี้ จึงแตกต่างจากในอดีตราวฟ้ากับเหว และไม่ต้องกังวลว่าผู้ป่วยทางจิตจะต้องไปเจอกับสภาพการทรมานแบบนั้นอีกต่อไป