ข้อดีและข้อเสียของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ ดร.สมคิดไม่บอก
เรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีหลายประเด็นที่น่าสนใจแต่รัฐบาลไม่ได้บอก ดร.โสภณ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีทรัพย์สิน จึงขออนุญาตแจกแจง
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) เป็นผู้ที่มีความรอบรู้ทางด้านนี้ โดยได้นำคณะข้าราชการและภาคเอกชนดูงานการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในสหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และอื่นๆ มาอย่างต่อเนื่อง เห็น ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์และคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจดำเนินการเรื่องนี้แล้ว เชื่อว่าอาจทำให้เป็นผลเสียต่อรัฐบาล จึงได้เสนอความคิดเห็นเพื่อประโยชน์สาธารณะดังนี้:
1. ดร.สมคิดและคณะไม่ได้รณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจภาษีนี้ ปกติประชาชนมักผวากับการถูกเก็บภาษีเนื่องจากในภาวะขณะนี้ ต่างก็รู้สึกว่าเศรษฐกิจไม่ดี สวนทางกับการนำบอกของรัฐมนตรี ท่านนายกฯ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลควรจะชี้แจงกับประชาชนโดยตรงเลยว่า ภาษีนี้เป็นภาษีที่ "ยิ่งจ่าย ยิ่งได้" เพราะนำมาพัฒนาท้องถิ่นโดยตรง เมื่อท้องถิ่นเจริญ ราคาทรัพย์สินของเราก็ยิ่งเพิ่มพูนกว่าภาษีที่ต้องจ่ายเสียอีก ถ้านายกฯ ชี้แจงกับประชาชนแบบนี้ ประชาชนก็จะยินดีให้เก็บภาษี
2. ดร.สมคิดและคณะไม่ได้ชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจเรื่องการคลังท้องถิ่น โดยทั่วไปประชาชนยังมักวิตกว่าภาษีทั้งหลายที่รัฐเก็บไป ไม่คืนสู่สังคมบ้าง ถูกข้าราชการประจำและข้าราชการการเมืองโกงกินบ้าง ท่านนายกฯ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลจึงพึงทำความเข้าใจกับประชาชนว่า ภาษีนี้ใช้ในท้องถิ่น ไม่ถูกส่งเข้าส่วนกลาง ประชาชนจะรู้สึกเป็นเจ้าของ ไม่ยอมให้ใครโกงไป แรกๆ ยังอาจมีการโกง แต่เมื่อประชาชนตรวจสอบใกล้ชิด การโกงก็จะหมดไป ทุกวันนี้รายได้ 85% ของท้องถิ่นมาจากส่วนกลาง ซึ่งเมื่อนำส่งมา ก็อาจเกิดอาการ "วัดครึ่งหนึ่ง กรรมการครึ่งหนึ่ง" นั่นเอง นอกจากนี้การนำเงินจากส่วนกลางสู่ส่วนท้องถิ่นยังเป็นการทำให้ท้องถิ่นถูกครอบงำ
3. ดร.สมคิดและคณะเองก็คงไม่เข้าใจภาษีนี้ หรือเข้าใจน้อยกว่า มรว.ปรีดิยาธรและนายสมหมาย (ทีมเศรษฐกิจชุดก่อน) ที่ถูกปลดออกไป จึงลดหย่อนให้บ้านราคาไม่เกิน 50 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษี ทั้งที่ในสมัยทีมเศรษฐกิจชุดก่อน ลดหย่อนสำหรับบ้านไม่เกิน 3 แสนบาทบ้าง หรือ 1 ล้านบาทบ้าง เป็นต้น การลดหย่อนถึงขนาดนี้ ย่อมทำให้แทบเก็บภาษีกันไม่ได้เลย ทำให้ต้นทุนการเก็บภาษีอาจสูงกว่าภาษีที่เก็บได้เสียอีก จากฐานข้อมูลของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย ที่เก็บข้อมูลโครงการอาคารชุดและบ้านจัดสรรแนวราบในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมาตั้งแต่ปี 2537 หรือ 22 ปีที่ผ่านมาพบว่า มีบ้านที่มีราคาเกิน 50 ล้านบาทในตลาดอยู่เพียง 1,351 หน่วย (บ้านเดี่ยว 572 หน่วย ห้องชุด 764 หน่วย และอื่นๆ) จากทั้งหมดที่สำรวจ 1.85 ล้านหน่วย อย่างไรก็ตามในพื้นที่นี้มีบ้านทั้งหมดราว 4.7 ล้านหน่วย (เช่น บ้านนอกโครงการจัดสรรและที่สร้างเสร็จก่อนปี 2537) ดังนั้นจึงอนุมานได้ว่ามีบ้านที่ราคาเกิน 50 ล้านอยู่ 3,000 หน่วย และหากนับรวมทั่วประเทศก็คงมีไม่เกิน 6,000 หน่วย ยิ่งถ้าคิดตามราคาประเมินของทางราชการที่ต่ำกว่าราคาตลาด ก็คงมีเหลือบ้านเกิน 50 ล้านบาท ไม่เกิน 4,000 หน่วย
4. ดร.สมคิดและคณะไม่พยายามชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจว่าไม่ควรมีข้อยกเว้น การยกเว้นโน่นนี่เป็นการเปิดช่องทุจริตจากการตีความ และการยกเว้นทั้งหลายก็เพื่อเอื้อต่อผู้มีรายได้สูง ๆ ส่วนผู้มีรายได้น้อยถึงแม้ต้องเสียภาษีบ้างแต่ก็น้อยมาก แต่หากเก็บจากฐานทุกคน ก็จะได้ภาษีมาบำรุงประเทศให้เจริญก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญ เช่น บ้านราคา 1 ล้านบาท ถ้าจ่ายภาษีเพียง 0.1% ก็จะเป็นเงินเพียงปีละ 1,000 บาท หรือเดือนละ 83 บาท ถูกกว่าค่าจัดเก็บขยะ หรือเงินทำบุญหลังคืนฝันร้ายเสียอีก ท่านนายกฯ จึงควรออกมาให้ความรู้กับประชาชนเองในแง่นี้ เพื่อที่รัฐบาลจะไม่ได้ไม่ถูกประชาชนเข้าใจผิด
5. ดร.สมคิดและคณะก็ไม่เคยพูดให้ชัดเจนว่า หากจัดเก็บภาษีนี้แล้วภาษีค่าธรรมเนียมโอนหรือภาษีโรงเรือนก็จะถูกยกเลิกหรือมีเพียงค่าเขียนคำร้องไม่กี่บาทเท่านั้น ประชาชนจะได้รู้สึกว่าไม่ถูก "ถอนขนห่าน" การที่รัฐมนตรีไม่พูด ทำให้ประชาชนต่อต้านภาษีนี้ และอาจต่อต้านรัฐบาล ท่านนายกฯ จึงควรออกมาพูดเองในเรื่องนี้ เพื่อภาพพจน์ที่ดีของรัฐบาล
ดร.โสภณ ยังเสนอว่ารัฐบาลยังอาจพิจารณาปรับคณะรัฐมนตรี นำผู้รอบรู้ด้านภาษีทรัพย์สิน มากำกับด้านการเงิน การคลังของประเทศ หรืออาจพิจารณานำ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร และนายสมหมายกลับมาทำหน้าที่ใหม่อีกครั้งหนึ่ง เป็นต้น
ที่มา: http://www.area.co.th/thai/area_announce/area_press.php?strquey=press_announcement1441.htm