10 วิธีรับมือ เมื่อเป็นมะเร็ง
เมื่อรู้ว่าเป็นมะเร็ง หลายคนจะนึกคิดไปต่างๆนาๆ ตกใจบ้าง กลัวบ้าง เสียใจบ้าง หรือไม่ก็วิตกกังวล ท้อแท้สิ้นหวัง และเป็นเรื่องจริงที่ว่าความรู้สึกเหล่านี้ เมื่อเกิดขึ้นแล้วเป็นไปได้ยากที่จะทุเลาเบาบางหรือกลับมาเป็นเหมือนเดิม ดังนั้นวิธีการปฏิบัติตัวเพื่อรับมือกับมะเร็ง ดูจะเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ความรู้สึกต่างๆเหล่านั้นได้ผ่อนคลายหรืออาจ จะหายไปในที่สุด
1. ยอมรับและเข้าใจกับความรู้สึกที่เกิดขึ้น
การรู้เท่าทันความรู้สึกที่เกิดขึ้นจะช่วยให้รับมือได้ง่าย เมื่อเสียใจก็ให้รู้ว่าเสียใจ เมื่อกลัวก็ให้รู้ว่ากลัว ยอมรับกับความรู้สึกและอารมณ์ที่เกิดขึ้น ให้เห็นว่าเป็นสิ่งปกติที่เกิดขึ้นได้ มีอยู่ และหายไปได้ จากนั้นจึงหาทางออกให้กับความรู้สึกเหล่านั้น เช่น ระบายให้คนใกล้ชิด คนที่ไว้ใจหรือแพทย์ได้รับรู้
2. พูดคุยและยอมรับการช่วยเหลือจากคนใกล้ชิดและผู้ที่ยินดีช่วย
บางคนเมื่อรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง มักจะซ่อนความรู้สึกกลัวไว้เพียงคนเดียว ไม่ยอมพูดให้ใครฟัง ไม่กล้าปรับทุกข์ หรือไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากคนอื่น ดังนั้นการพูดคุยอย่างเปิดใจกับคนที่เรารัก คนที่เราใกล้ชิด คนที่เราสนิทสนม หรือคนที่ให้การดูแลอย่างเข้าใจ ก็จะช่วยให้คลายกังวลจากความรู้สึกต่างๆ ลงไปได้ไม่มากก็น้อย
การเปิดโอกาสรับการช่วยเหลือจากคนที่เข้าใจเรานั้นจะช่วยให้เรามีกำลังใจ นำไปสู่การรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมั่นคงมากขึ้น
3. หาข้อมูลเพิ่มเติม
หาข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในเรื่องเกี่ยวกับมะเร็งที่เราเป็นว่าเกิดที่อวัยวะ ส่วนใด ชนิดใด แพร่กระจายหรือยัง จะรักษาอย่างไรถึงจะถูกวิธี รวมไปถึงจะปฏิบัติตัวหรือปรับตัวอย่างไรในกิจวัตรประจำวัน ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้เราเข้าใจในเบื้องต้น ลดความกลัวและความกังวลที่เกิดจากความเข้าใจผิด ทั้งยังช่วยให้วางแผนแก้ปัญหาและปรับตัวได้ดีขึ้น
ทว่าแต่ละคนมีความแตกต่างกันในการรับรู้ข้อมูล ดังนั้นจึงควรพูดคุยสอบถามข้อสงสัยกับผู้รู้ เช่นแพทย์ผู้ชำนาญ หรือแพทย์ผู้รักษา และในการไปพบแพทย์อาจจดคำถามที่สงสัยไว้ในกระดาษพร้อมนำติดตัวไปด้วยป้องกัน การหลงลืม หรืออาจให้คนใกล้ชิดไปเป็นเพื่อน
นอกจากนี้ คุณอาจได้รับข้อมูลการรักษาทางเลือกมาจากแหล่งต่างๆ เช่น มีสมุนไพรหรือยาที่ช่วยให้รักษาอาการป่วย หากคุณสนใจที่จะใช้ควบคู่กับการรักษาของแพทย์ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำมาปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ เพราะสมุนไพรหรือยาตัวนั้นอาจมีผลต่อการรักษาได้
4. เตรียมการล่วงหน้า
เพื่อเตรียมตัวและเตรียมใจรับมือกับสิ่งที่อาจเกิดขึ้นทั้งด้านบวกและด้านลบ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรึกษาพูดคุยกับแพทย์ผู้ดูแลถึงแนวทางการรักษา และผลต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการรักษา ซึ่งสิ่งเหล่านี้จำเป็นต่อการวางแผนแก้ปัญหาต่อไป เช่น จำเป็นต้องลางานหรือหยุดงานไว้ก่อนกี่สัปดาห์ จะต้องให้เคมีบำบัดหรือไม่ หรือหลังจากได้รับเคมีบำบัดแล้วอาจเกิดผมร่วงได้ ก็จะได้ซื้อผ้าโพกผมสวยๆ ที่เราชอบเตรียมไว้ใช้
หมอแนะนำว่าช่วงเวลาหลังจากทราบผลการวินิจฉัย ก่อนที่จะรับการบำบัดรักษา เป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการวางแผนรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น การเตรียมตัวให้พร้อมในวันนี้ จะช่วยให้เรารับมือได้ถูกต้องตามสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต
5. ดูแลเอาใจใส่ร่างกายให้แข็งแรง
รับ ประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายจนเป็นนิสัย หรือทำกิจกรรมเป็นประโยชน์ที่เราชอบ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้เราต่อสู้กับความเครียดและอ่อนเพลียจากมะเร็งและการ บำบัดรักษาแล้ว ยังช่วยให้รู้สึกดีขึ้นจากการมีบทบาทในการควบคุมความเจ็บป่วยของตนเองได้ เป็นอย่างดี
6. หาสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ
เมื่อได้รู้ว่าเป็นมะเร็ง เราอาจรู้สึกสิ้นหวัง ท้อแท้ หมดอาลัยตายอยาก ดังนั้นการมีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจจะช่วยเป็นพลังที่แข็งแกร่งในการต่อสู้ให้ กับเรา สิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจที่ว่านี้อาจเป็นหลักคิด หลักปรัชญา หลักศาสนา หลักแห่งความเป็นจริงของชีวิต แม้กระทั่งความเชื่อความศรัทธาต่างๆ ก็สามารถเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะช่วยให้เราผ่านพ้นช่วงวิกฤติของชีวิตไปได้อย่างน่า อัศจรรย์ ความเศร้า ความกังวล ความหมดกำลังใจ ก็จะผ่อนคลายหรือหายไปในที่สุด
7. ไม่หมกมุ่นกับปัญหา
ถ้าต้องเผชิญกับปัญหาอยู่ตลอดเวลา อาจทำให้รู้สึกเครียดมากจนรับไม่ไหว โปรดระลึกอยู่เสมอว่าการเจ็บป่วยเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตเท่านั้น ยังมีด้านอื่นๆ ที่ดีของชีวิตที่จะต้องดำเนินการต่อไปอย่างเป็นปกติสุข
ลองหัดเป็นคนขี้ลืมเสียบ้าง 'คนขี้ลืม' ที่ว่านี้คือลืมปัญหา ลืมความเจ็บป่วยไว้ชั่วคราว แล้วจากนั้นก็หาสิ่งดีๆมาทำเพื่อให้ใจสบายคลายกังวล เช่น การนั่งสมาธิ การฝึกโยคะ ฝึกชี่กง การฟังเพลง การอ่านหนังสือ การดูหนังดูละคร ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่เราอยากจะทำ หรือทำในสิ่งเราสบายใจ คนรอบข้างสบายใจ สังคมสบายใจ โดยอาจเริ่มต้นจากการทำสิ่งง่ายๆ ก่อน ค่อยๆ ทำวันละนิด แล้วเพิ่มขึ้นวันละหน่อย จนให้เป็นกิจวัตรประจำวัน
8. มีความหวังอยู่เสมอ
สิ่งสำคัญในการมีชีวิตอยู่คือความหวัง ความหวังเป็นพลังใจในการต่อสู้กับอุปสรรคทุกสิ่งอย่างไม่เว้นแม้แต่โรคร้าย ความหวังจะช่วยให้มีแรงบันดาลใจ มีพลัง มีความหมาย มองโลกในแง่ดี การเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสิ่งที่ทุกคนไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โรคมะเร็งก็เป็นเหมือนอุปสรรคท้าทายความแข็งแกร่งของชีวิต ดังนั้นจงมีความหวังอยู่เสมอ หากความหวังนั้นไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาหรือผลเสีย
9. ตั้งความหวังอย่างเป็นขั้นตอน
เราต้องตั้งเป้าหมายหรือความหวังในสิ่งที่มีโอกาสเป็นไปได้มากที่สุดในระยะ เวลาสั้นๆ และทำอย่างต่อเนื่องเป็นขั้นเป็นตอน เช่น เราตั้งความหวังว่าจะลดความเจ็บปวด จากที่ปวดจนนอนไม่หลับ ให้ปวดน้อยลงจนนอนหลับได้ แม้รักษาไม่หายก็ขอให้อาการดีขึ้นบ้าง เป็นต้น
การตั้งเป้าหมายในระยะสั้นๆ นี้ เป็นขั้นตอนที่จะช่วยให้เรารู้สึกไม่หมดหวัง และสามารถประสบความสำเร็จตามที่หวังได้เป็นขั้นๆไป
10. หาวิธีการรับมือในแบบที่ชอบ
แต่ละคนมีความแตกต่าง มีความเป็นตัวของตัวเอง เพราะฉะนั้นคุณลองหาวิธีการรับมือและปรับใช้ให้เหมาะกับตัวคุณ อาจเป็นวิธีการที่คุณเคยใช้ได้ดีเมื่อเกิดปัญหาต่างๆในอดีต เช่น เขียนบันทึกสิ่งที่คุณคิด พูดคุยปรึกษากับคนในครอบครัว เขียนข้อดีข้อเสียเวลาที่ต้องตัดสินใจ
แต่อย่าลืม...เปิดใจลองใช้วิธีการใหม่ๆดูบ้าง เพื่อความหลากหลายและอัตราความสำเร็จที่เพิ่มสูงขึ้น
-----------------------------------
กฤตชญา ฤทธิ์ฤๅชัย
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ "VOTE" และ "SHARE"
Followers https://page.postjung.com/beammc2