รู้ยัง? เรียนรามฯยังไงให้จบเร็ว
“เรียนรามคำแหง จบยาก” เมื่อรู้ว่า “เรียนรามฯนั้นยากและจบยากแล้ว” ดังนั้น “เรา” (ที่เป็นและที่กำลังจะเป็นนักศึกษารามฯ) จะต้องมีวิธีการเรียนอย่างไร.....สำหรับการเรียนรามฯ นั้น การวางแผน (Planning) เป็นสิ่งสำคัญมาก ถ้าวางแผนไว้ดี นักศึกษาสามารถจบการศึกษาได้ด้วยระยะเวลาที่ไวที่สุด คือ “สองปีครึ่ง” [ 2 ปี 1 เทอม]
เป็นเรื่องที่พูดคุยกันทั่วไปว่า “เรียนรามฯ จบยาก เพราะรามฯไม่สอบเข้า แต่สอบออก (จบ)” หรือไม่ก็ “8 ปีสมัครใหม่” ซึ่งก็เป็นความจริง เพราะมหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นมหาวิทยาลัยเปิด (Open University) ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2514 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับนักศึกษาที่ไม่สามารถสอบเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยปิดของรัฐได้ เพราะจำนวนผู้สมัครสอบเข้าเรียนมีจำนวนมาก แต่จำนวนมหาวิทยาลัย (ในขณะนั้น) มีเพียงไม่กี่มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเอกชนก็ยังไม่มี ประกอบกับความสามารถของแต่ละมหาวิทยาลัยในการรับนักศึกษาเข้าสู่กระบวนการเรียนการสอนก็ยังมีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้น ทางออกสำหรับความต้องการด้านนี้ของสังคม มหาวิทยาลัยรามคำแหงจึงเป็นทางเลือกที่ดี (ไม่เฉพาะกลุ่มนักศึกษาที่พลาดหวังจากการสอบเอ็นทรานซ์แล้ว ยังมีกลุ่มนักศึกษาอีกไม่น้อยที่ไม่เข้าสู่กระบวนการสอบคัดเลือกตั้งแต่ต้น แต่เลือกที่จะศึกษาที่รามฯ โดยตรง)
ทีนี้กลับมาที่ วลีสำคัญของประโยคที่เกริ่นไว้บรรทัดแรกของบทความนี้ว่า “เรียนรามฯ จบยาก” เมื่อรู้ว่า “เรียนรามฯนั้นยากและจบยากแล้ว” ดังนั้น “เรา” (ที่เป็นและที่กำลังจะเป็นนักศึกษารามฯ) จะต้องมีวิธีการเรียนอย่างไร เพื่อที่จะได้จบรามฯได้ตามที่หวัง ซึ่งคงมีหลายคำตอบและหลายวิธีการ แต่สิ่งที่อยากจะเสนอในบทความนี้ คือ “การวางแผนการเรียน” เพราะจากประสบการณ์ส่วนตัวของผมเอง (รหัส 37) ก็เป็นคนหนึ่ง ที่จบปริญญาตรีจากรามฯ ด้วยระยะเวลาที่ไม่ไวเกินไปและไม่นานเกินไป คือ 3 ปี กับอีก 1 เทอม [ภาคการเรียน] ซึ่งนักศึกษารามฯจะนับกันเองว่าเป็นการจบด้วยระยะเวลา “สามปีครึ่ง” (ระบบการจัดการศึกษาของรามฯ ประกอบด้วย 3 เทอม คือ เทอมที่ 1, 2 และ 3 (ภาคฤดูร้อน เรียกกันติดปากว่า “ซัมเมอร์”) แต่ถ้าใครจบในเทอมที่ 2 และ 3 ของปีที่ 4 ก็จะนับว่า “จบสี่ปีเต็ม”) โดยมีจำนวนหน่วยกิตสะสมสำหรับระดับปริญญาตรีไม่น้อยกว่า 144 หน่วยกิต มีเกรดวัดผลการศึกษา 3 ระดับ คือ G (4.00) P (2.25) และ F (0.00) [จะเห็นได้ว่าระยะห่าง (gap) ของคะแนนต่อเกรด G กับ P ห่างกันหลายขุม ฉะนั้น ผมก็อยากจะให้ท่านที่ทำงานด้านทรัพยากรบุคคล เข้าใจว่า การที่คนจบจากรามฯ มีเกรดเฉลี่ย (GPA) ไม่ถึง 2.75 ตามมาตรฐานสังคมนิยมนั้น ก็ไม่ได้ขี้ริ้วขี่เหร่เลยนะครับ เพราะถ้ารามฯ มีเกรดมากกว่านี้ อาจจะได้เกรดเฉลี่ยใกล้เคียงกับมหาวิทยาลัยปิดทั้งหลายที่มีคะแนนเก็บและการสอบวัดผลถึงเทอมละ 2 ครั้ง]
"น้องป๊อบ" มนสินี ชูสุวรรณ อายุ 19 ปี บัณฑิตพรีดีกรีคณะรัฐศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับ 1 สอบแข่งขันได้ในตำแหน่งข้าราชการทหารชั้นสัญญาบัตร ปัจจุบันรอบรรจุแต่งตั้งเป็นเรืออากาศตรีหญิงแห่งกองทัพอากาศไทย
ด้วยมีนักศึกษารามฯจำนวนไม่น้อยที่จบด้วยระยะเวลา “3 ปีครึ่ง” หรืออย่างเร็วที่สุด คือ “2 ปีครึ่ง” แต่ผมก็เห็นว่ายังไม่มีใครที่ออกมาให้คำแนะนำเพื่อเป็นแนวทางสำหรับการเรียนต่อที่รามฯให้แก่คนที่สนใจเรียนรามฯให้เป็นที่ทราบกันในวงกว้าง แต่มักจะเป็นการแนะนำแบบ “ตัว-ตัว” เสียมากกว่า ดังผมจะสาธยายให้เป็นที่รับทราบกันในลำดับต่อไปนี้ ซึ่งผมจะไม่ขอกล่าวถึงการกำหนดเป้าหมาย (Goal) เพราะเป้าหมายการเรียนรามฯ ก็คือการเรียนแล้วจบ ได้รับปริญญาบัตร และระยะเวลาที่จะจบ ก็ไม่จำเป็นต้องกำหนด เพราะระยะเวลาการเรียนก็เช่นเดียวกับการเรียนที่มหาวิทยาลัยรัฐ และเอกชนอื่น ๆ คือ 4 ปี (มาตรฐาน) ผมจะพุ่งตรงไปที่ การวางแผน เพื่อการเรียนรามฯที่สามารถจบได้ในระยะเวลา 2 ปีครึ่งเพียงอย่างเดียว
สำหรับการเรียนรามฯ นั้น การวางแผน (Planning) เป็นสิ่งสำคัญมาก ถ้าวางแผนไว้ดี นักศึกษาสามารถจบการศึกษาได้ด้วยระยะเวลาที่ไวที่สุด คือ “สองปีครึ่ง” [ 2 ปี 1 เทอม] ผ่านสิ่งที่ต้องตระหนักให้มาก ดังต่อไปนี้
การลงทะเบียนวิชาเรียน ในแต่ละเทอมนักศึกษาสามารถลงทะเบียนรายวิชาในเทอม 1 และ 2 ได้สูงสุดไม่เกิน 24 หน่วยกิต ถ้าคิดเป็น “เล่ม” [วิชา] ตามที่ชาวรามฯนับกัน ก็จะได้ 8 เล่ม ๆ ละ 3 หน่วยกิต มีบางคณะอนุญาตให้ลงได้ไม่เกิน 21 หน่วยกิต (คณะมนุษยศาสตร์) ส่วน ภาคการเรียนที่ 3 ลงได้ไม่เกิต 12 หน่วยกิต นั้นหมายความว่า ใน 1 ปีการศึกษา ถ้านักศึกษาสอบผ่านสามารถเก็บหน่วยกิตสะสมได้มากถึง 24+24+12=60 หน่วยกิต ถ้าเรียน 2 ปี 1 เทอม ก็เท่ากับว่า 60+60+24=144 หน่วยกิต จบพอดี...
การทำตารางเรียนล่วงหน้าสำหรับเทอมต่อไป นี่เป็นเทคนิคส่วนตัวครับเกี่ยวกับลงทะเบียนวิชาเรียน คือ ส่วนหนึ่งมหาวิทยาลัยจะกำหนดรายวิชาที่ต้องเรียนในแต่ละเทอมเอาไว้แล้วในคู่มือ (มร. 1) ดังนั้น เราจะต้อง “คิดว่า” เราสอบผ่านแล้วทุกวิชาในเทอมนั้น แล้วในเทอมถัดไป เราต้องเรียนและจะต้องเลือกลงวิชาอะไรดี ทำแผนการเรียนออกมาเลยครับ เป็น ตารางเรียนล่วงหน้า
การสอบ เพราะรามฯเป็นมหาวิทยาลัยเปิด นักศึกษามีอยู่ทั่วทุกหัวระแหงของประเทศและในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกนี้ เมื่อสอบผ่านรายวิชาที่ลงทะเบียนเรียนไว้ ก็ดีไป (ได้เกรดอะไรก็ขึ้นอยู่กับความขยัน ความจำ ความสามารถ) แต่ถ้าสอบไม่ผ่านล่ะ จะทำอย่างไรกันดี แน่นอนครับ...ก็ต้อง “ลงทะเบียนสอบซ่อม” ซึ่งในแต่ละปีการศึกษา รามฯจะมีการสอบซ่อม 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 สำหรับเทอมที่ 1 และครั้งที่ 2 สำหรับเทอมที่ 2 และเทอมที่ 3 พร้อมกันทีเดียว และที่สำคัญ “อย่าได้คิดที่จะเอาวิชาเดิมที่ลงทะเบียนไว้แต่สอบตก ไปเป็นวิชาที่ลงทะเบียนในภาคการเรียนปกติของปีถัดไปเด็ดขาด” เพราะจะทำให้เรา ท้อ เพราะลงวิชาเดิมซ้ำๆ ในเทอมถัดไปเรื่อย ๆ แล้วถ้าสอบไม่ผ่านอีกในภาคปกติ เราก็จะไม่สามารถเก็บหน่วยกิตสะสมให้เพิ่มขึ้นได้เลย ฉะนั้น จงสั่งตัวเราเองเอาไว้ว่า “ในการเรียนแต่เทอม จะต้องสอบผ่านให้หมดทุกเล่ม” [สำหรับผมตั้งเงื่อนไขให้กับตัวเองว่า “สอบตกก็ได้ แต่ต้องไม่เกิน 3 เล่ม และเมื่อลงสอบซ่อมแล้ว ต้องสอบให้ผ่าน” นั่นก็เท่ากับว่า ผมเก็บได้ทุก “เล่ม” ที่ลงทะเบียนเอาไว้ในแต่ละเทอม]
การศึกษาเกี่ยวกับเงื่อนไขการเรียนและเงื่อนไขรายวิชาจากคู่มือนักศึกษา หรือ “มร. 1” ซึ่งนักศึกษาทุกคนมีอยู่แล้ว แต่โดยมากมักจะไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจศึกษาเพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับเงื่อนไขการเรียนและการเลือกรายวิชาสำหรับสาขาวิชาเอก (Major) ทั้งที่เป็น “วิชาบังคับ” และ “วิชาเลือกเสรี” รวมไปถึง การเลือกสาขาวิชาโท (Minor) และมีนักศึกษาอีกจำนวนไม่น้อยที่มี “หน่วยกิตเกิน” เพราะลงรายวิชาโดยไม่มีการศึกษาและวางแผน ทำให้ไม่สามารถนับเข้าเป็นหน่วยกิตสะสมสำหรับขอจบการศึกษาได้ พอเห็นว่า ตนเองมีหน่วยกิตครบตามหลักสูตร ก็คิดว่าจบแน่ แต่ที่ไหนได้ กลับเป็นว่า จบช้าไปออกไปอีก ซึ่งหน่วยกิตที่ได้จะถูกนำมาคำนวณหาค่าเกรดเฉลี่ย แน่นอนว่า..หน่วยกิตที่เกินมา ก็จะไปฉุดเกรดเฉลี่ยลงไปด้วย
จาก 4 วิธีการข้างต้นที่ผมนำเสนอมานี้ น่าจะเป็นแนวทางที่ดี ที่ช่วยให้นักศึกษารามฯทุกคนสามารถบรรลุสู่ความฝันในการเป็น “บัณฑิตรามฯ” สมดังความตั้งใจของตน และความหวังของพ่อแม่ ผู้ปกครองได้ในที่สุด...แต่ก็อยากจะให้ข้อคิดไว้ด้วยว่า การจบด้วยเวลา 2 ปีครึ่งนี้ อาจจะไม่เป็นที่ยอมรับสำหรับบางบริษัทนะครับ...มันเร็วเกินไป...และท้ายนี้ ขอจบด้วย “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ” และ “เปลวเทียนให้แสง รามคำแหงให้ทาง...ขอให้โชคดีครับ
ตารางแผนการเรียนและจำนวนหน่วยกิตสะสมในแต่ละเทอมเพื่อสำเร็จการศึกษาได้ภายใน 2 ปี 1 เทอม