ขึ้นๆ-ลงๆ ราคาน้ำมัน ประเทศเพื่อนบ้านขายกันราคา เท่าไหร่? ใครรู้บ้างนิ?
“ข้อมูลพลังงานที่แพร่กระจายตามเว็บไซต์ คนที่ไม่รู้ข้อเท็จจริงอ่านแล้วอาจจะรู้สึกโมโห ปตท. แต่ถ้าไปดูโครงสร้างราคาน้ำมันจะทราบถึงต้นเหตุที่ทำให้น้ำมันในประเทศมีราคาแพง จริงๆ แล้วเป็นเพราะ ปตท. ขูดรีดประชาชน หรือมาจากนโยบายของรัฐบาล?”
นี่คือโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมัน ณ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2557 ราคาน้ำมันทุกชนิดที่ซื้อ-ขายกันที่หน้าโรงกลั่น ราคาจะอยู่ที่ลิตรละ 25-26 บาท ก่อนที่จะกลายมาเป็นราคาขายปลีกหน้าปั๊มต้องเสียภาษีสรรพสามิต, ภาษีเทศบาล, กองทุนน้ำมัน, กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) บวกไปบวกมาก็ได้ราคาน้ำมันอย่างที่เห็นในตาราง เช่น น้ำมันเบนซิน 95 ราคาหน้าโรงกลั่นลิตรละ 24.80 บาท เสียภาษีสรรพสามิตลิตรละ7 บาท ภาษีเทศบาลลิตรละ 0.70 บาท กองทุนน้ำมันลิตรละ 10 บาท กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน 0.25 บาทต่อลิตร และเสีย VAT ลิตรละ 3 บาท
ทำให้ราคาขายปลีกเบนซิน 95 สุดท้ายอยู่ที่ลิตรละ 48 บาท ในราคานี้ประกอบด้วยค่าภาษีและเงินกองทุน 21 บาทต่อลิตร แต่ถ้าเป็นแก๊สโซฮอล์ 95 ประเภทอี 10 ราคาขายปลีกลิตรละ 40 บาท ราคานี้มีค่าภาษีและเงินนำส่งกองทุนน้ำมัน 13 บาทต่อลิตร ส่วนดีเซลหมุนเร็วราคาหน้าโรงกลั่นอยู่ที่ 26.7 บาทต่อลิตร แพงกว่าเบนซิน แต่เสียภาษีสรรพสามิตและภาษีเทศบาลลิตรละ 0.0055 บาท นอกจากเสียภาษีอัตราต่ำมากแล้ว ยังได้รับเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันลิตรละ 0.5 บาท ราคาขายปลีกดีเซลจึงอยู่ที่ลิตรละ 29.99 บาท ซึ่งในราคานี้ได้รวมภาษีและเงินกองทุน 1.71 บาทเข้าไปแล้ว มาถึงตรงจุดนี้ คงได้คำตอบแล้วว่าน้ำมันราคาแพงเป็นเพราะ ปตท. ขูดรีด หรือนโยบายของรัฐ น้ำมันแต่ละชนิดออกจากโรงกลั่นมีราคาใกล้เคียงกัน แต่พอมาเป็นราคาขายปลีกราคาแตกต่างกัน สาเหตุมาจากภาษีและกองทุนน้ำมันนั่นเอง
ในอดีตที่ผ่านรัฐบาลเก็บภาษีน้ำมันโดยเฉลี่ยแพงกว่านี้ แต่เมื่อก้าวเข้าสู่ยุคประชานิยม ต้องการลดภาระให้ประชาชนโดยเฉพาะในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยใช้เงินจากกองทุนน้ำมันไปแทรกแซงราคาจนทำให้โครงสร้างราคาบิดเบือน กองทุนน้ำมันติดลบ 80,000 ล้านบาท พอมาถึงรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ตนเข้าไปล้างหนี้ให้กองทุนน้ำมัน จากนั้นรัฐบาลใหม่ที่เข้ามาตามระบอบประชาธิปไตย ก็เข้ามาก่อหนี้ใหม่อีก โดยใช้เงินกองทุนน้ำมันเข้าไปชดเชยราคาน้ำมันดีเซลและก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)
น้ำมันสำเร็จรูปถือเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของรัฐบาล แต่ละปีมีรายได้ประมาณ 1.3 แสนล้านบาท ถือว่าอยู่ในระดับที่พอใช้ได้ แต่ที่น่าตกใจคือ การกำหนดราคาขายปลีกน้ำมันให้แตกต่างกันโดยใช้กลไกภาษีและเงินกองทุน มันนำไปสู่ปัญหาความไม่เป็นธรรม และการใช้พลังงานขาดประสิทธิภาพ เพราะคนเปลี่ยนจากการใช้ของแพงมาใช้ของราคาถูก
เบนซิน 95 ราคาลิตรละ 48 บาททราบหรือไม่ว่ากลุ่มผู้ใช้เบนซิน 95 เป็นใคร? คำตอบคือคนที่ขับรถเบนซ์โบราณกับมอเตอร์ไซค์ตามหมู่บ้าน แต่ถ้าเป็นหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลจากความเจริญ อย่างที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ราคาขายปลีกเบนซิน 95 ไม่ใช่ราคาลิตรละ 48 บาท แต่ขายกันอยู่ที่ราคาลิตรละ 50 บาท ขณะที่กลุ่มคนรวยที่ใช้แก๊สโซฮอล์อี 85 รับเงินชดเชยจากรัฐบาลลิตรละ 11.60 บาท
“รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช นำแก๊สโซฮอล์อี 85 มาใช้ผิดจังหวะ เร็วเกินไป จริงๆควรจะส่งเสริมแก๊สโซฮอล์อี 20 มากกว่า เพราะจะช่วยสนับสนุนเกษตรกรและอุตสาหกรรมเอทานอลได้มากกว่า เนื่องจากรถยนต์ที่ใช้แก๊สโซฮอล์อี 85 มีอยู่ไม่กี่ยี่ห้อ เท่าที่ทราบก็มีวอลโว่ นอกจากน้ำมันจะได้รับเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันแล้ว ยังได้รับการชดเชยจากกองทุนในส่วนของราคารถยนต์ด้วย สรุปคนจนจ่ายภาษีและเงินนำส่งกองทุนน้ำมันมาก ส่วนคนรวยได้รับเงินชดเชย” นายปิยะสวัสดิ์กล่าว
นอกจากนั้น ในปัจจุบันยังมีการนำเงินกองทุนน้ำมันไปชดเชยก๊าซแอลพีจีเดือนละ 3,500 ล้านบาท ณ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 กองทุนน้ำมันยังคงติดลบ -3,436 ล้านบาท อีกประเด็นที่ตนไม่เข้าใจ ทำไมรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เก็บเงินกองทุนน้ำมันจากผู้ใช้เบนซิน 95 ในอัตราที่สูงและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เก็บเงินกองทุนจากผู้ใช้น้ำมันเบนซิน 95 ลิตรละ 7.5 บาท ก็ถือว่าหนักมากแล้ว หลังจากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์เข้ามาบริหารประเทศ ปรับลดเงินกองทุนน้ำมันที่เก็บจากเบนซิน 95 เหลือ 0 เพื่อลดราคาขายปลีกตามนโยบาย “กระชากค่าครองชีพ” ที่หาเสียงไว้ ปรากฏว่า ยอดขายเอทานอลลดลงทันที 30% ก็เลยปรับขึ้นไปใหม่ จากนั้นก็ทยอยปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเบนซิน 95 ถูกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันลิตรละ 10 บาท
นายปิยสวัสดิ์กล่าวต่อเมื่อ 12 ปีที่ผ่านมา ราคาน้ำมันเบนซินขายปลีกอยู่ที่ลิตรละ 11-13 บาทต่อลิตร ปัจจุบันอยู่ที่ลิตรละ 48 บาท รวม 12 ปี ปตท. กวาดกำไรไปกว่า 900,000 ล้านบาท ฟังดูแล้วก็น่าโมโห ปตท. น่ะ หากไปดูราคาน้ำมันเบนซินที่สิงคโปร์เมื่อ 12 ปีก่อนอยู่ที่บาร์เรลละ 22.8 ดอลลาร์สหรัฐ วันนี้เพิ่มขึ้นเป็น 115 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ภาษีสรรพสามิตเดิมเก็บที่ลิตรละ 3.68 บาท วันนี้เก็บลิตรละ 7 บาท กองทุนน้ำมันเก็บลิตรละ 0.50 บาท เพิ่มเป็น 10 บาท ขณะที่ค่าการตลาดไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก
“ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา ราคาขายลีกน้ำมันเบนซิน 95 ที่เพิ่มขึ้น 34 บาท เป็นผลมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น 17 บาท และมาจากนโยบายรัฐบาลปรับขึ้นอัตราภาษีและเงินกองทุนน้ำมันอีก 15 บาท น้ำมันดีเซลก็เช่นเดียวกัน ส่วนคำถามที่ว่าทำไมเราต้องอ้างอิงราคาน้ำมันในตลาดโลก คำตอบก็คือ ประเทศไทยนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ 85% ของปริมาณน้ำมันดิบที่ใช้ในการผลิต แล้วอย่างนี้จะไม่ให้อิงราคาตลาดโลกได้อย่างไร นี่คือคำอธิบายทั้งหมด” นายปิยสวัสดิ์กล่าว
อันนี้เป็นตารางจัดอันดับความเจ็บปวด โดยใช้ราคาขายปลีกน้ำมันและปริมาณการใช้แต่ละวันมาเปรียบเทียบกับรายได้ สรุปว่าคนไทยใช้น้ำมันอ้างอิงสิงคโปร์แล้วมีความทุกข์มากกว่าคนจีน อียิปต์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และอเมริกา ส่วนข้ออ้างที่ว่าประเทศไทยเป็นประเทศยากจน ต้องกำหนดราคาพลังงานให้ต่ำๆ เข้าไว้ นายปิยสวัสดิ์บอกว่า
“ผมว่ามันเป็นอะไรที่ไม่มีสาระ ถ้าเป็นอย่างนี้ อิตาลีรวยกว่าไทย ราคาทองคำน่าจะแพงกว่า คนไทยไปเที่ยวอิตาลีต้องขนทองคำไปขาย แต่ข้อเท็จจริงทองคำทั่วโลกราคาเท่ากันทั้งหมด ราคาซื้อ-ขายน้ำมันในตลาดโลกก็เช่นเดียวกัน ข้ออ้างที่ว่าประเทศไทยยากจน ควรกำหนดราคาน้ำมันถูกๆ เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น ทำไมลาวกำหนดราคาขายปลีกดีเซลลิตรละ 40 บาท ส่วนไทยไม่เกิน 30 บาท เป็นต้น แต่ถ้ารัฐต้องการจะทำก็ทำได้โดยการลดภาษีและเงินกองทุน แต่ผลที่ตามมาคือรายได้ของรัฐที่จะนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศก็ลดลง ต้องเก็บภาษีอื่นเพิ่ม หรือลดรายจ่ายหรือกู้เงินเพิ่ม ประเด็นอยู่ที่ว่า แล้วสมควรทำเช่นนั้นหรือไม่”
ทั้งนี้ หากนำราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน 95 ของไทยลิตรละ 48 บาท เปรียบเทียบประเทศอื่นๆ จริงๆ อาจจะไม่ค่อยถูกต้องสักเท่าไหร่ เนื่องจากเบนซิน 95 มีปริมาณการใช้ 1.6 ล้านลิตรต่อวันเท่านั้น ขณะที่ปริมาณการใช้เบนซินทั้งหมด 20 ล้านลิตรต่อวัน ที่ถูกต้อง ควรใช้ราคาขายปลีกแก๊สโซฮอล์อี 10 มากกว่า อย่างไรก็ตาม หากเราใช้เบนซิน 95 เป็นตัวเปรียบเทียบตามที่แสดงในตาราง เราจะพบว่า ราคาขายปลีกเบนซิน 95 ของไทยแพงที่สุดในอาเซียน ยกเว้นเขมรและลาว ขณะที่ยุโรปราคาน้ำมันแพงมาก แต่ราคาที่แพงไม่ได้มีสาเหตุมาจากเนื้อน้ำมัน น้ำมันที่ออกจากโรงกลั่นทั่วโลกราคาใกล้เคียงกัน แต่ที่ทำให้ราคาขายปลีกแตกต่างกันคือตัวภาษีและกองทุนน้ำมัน ส่วนดีเซลของไทยราคาถูกค่อนข้างถูก หากเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือประเทศที่กำลังพัฒนา ยกเว้นบรูไนและมาเลเซีย
“ที่น่าสนใจคือ ประเทศนอร์เวย์เป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน แต่กำหนดราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศแพงที่สุดในยุโรป เพราะนอร์เวย์เก็บภาษีและเก็บเงินเข้ากองทุนปิโตรเลียมในอัตราที่สูงมาก โดยกองทุนนี้จะนำเงินไปลงทุนทั่วโลก ทั้งนี้เพื่อหารายได้ให้กับประเทศนอร์เวย์ ไว้ใช้ในการพัฒนาประเทศในอนาคตเมื่อปริมาณสำรองปิโตรเลียมของเขาหมด ขณะที่ประเทศไทยสูบน้ำมันใต้ดินขึ้นมาใช้อย่างต่อเนื่องใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ ใช้แล้วก็หมดไป เมื่อวันนั้นมาถึง เราจะทำอย่างไร”