เหตุการณ์สะเทือนใจ เมาแล้วขับ ที่ส่งผลให้กฏหมายจราจรของญี่ปุ่นถูกแก้ไขครั้งยิ่งใหญ่
ผมเคยนำบทความนี้ แบ่งเป็น 4 ตอนลงแชร์ให้อ่านกันไปแล้ว
แต่ติดว่าอ่านมีคนเป็นจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ได้อ่าน
เรื่องที่เขียนนี้ ผมคิดว่าเป็นข้อคิดที่ดีสำหรับพวกเราและสังคมไทยของพวกเรา
(ยาวหน่อย ค่อยๆอ่านไปนะครับ)
.
เมื่อปลายปีที่แล้ว ในประเทศไทยของเรา มีอุบัติเหตุที่น่าเศร้าเกิดขึ้นบ่อยครั้งมาก แม้กระทั่งทุกวันนี้ อุบัติเหตุต่างๆก็ไม่ได้มีวี่แววว่าจะลดน้อยลงไปเลย อุบัติเหตุบนท้องถนนเหล่านี้ ส่งผลให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินไม่มากก็น้อยในแต่ละวัน
ผมเชื่อว่า ทุกคนต่างก็สงสัยกันว่า ประเทศของพวกเราที่ใครๆต่างภูมิใจว่าเป็น "ประเทศที่พัฒนาแล้ว" ทำไมไม่มีการแก้ไขกฏหมายจราจรให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยบ้างเชียวหรือ? รวมถึงผู้ที่มีหน้าที่รักษากฎหมายด้วย อยากให้เป็นคนของประชาชนจริงๆ
เรื่องที่ยกขึ้นมาเล่าให้ทุกคนอ่านนี้ เป็นโศกนาฏกรรมอุบัติเหตุรถยนต์ซึ่งเกิดขึ้นจากการขับรถยนต์ขณะเมาสุราในวันที่ 25 เดือนสิงหาคม ปี2006 สถานที่เกิดเหตุอยู่ที่นะคะมิจิโอฮะชิ(中道大橋)ในทะเลฟุกุโอะกะ(福岡海) ในเมืองฟุกุโอกะ จังหวัดฟุกุโอกะ
เหตุการณ์นี้ส่งผลก่อให้เกิดการต่อต้านการดื่มสุราขณะที่ขับขี่รถยนต์อย่างจริงจัง ขนาดที่เรียกได้ว่าเป็นปัญหาทางสังคมของญี่ปุ่นในขณะนั้นเลยก็ว่าได้ ข่าวที่เกี่ยวกับอุบัติเหตุในครั้งนั้น ได้รับความสนใจอย่างมาก ถูกสื่อต่างๆ ยกขึ้นมาเป็นประเด็นถกเถียงอย่างต่อเนื่องนานพอสมควร ผมเชื่อว่าคนที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นในช่วงนั้น คงยังจะจำเหตุการณ์นี้ได้ดีเหมือนผม
เรื่องราวก็คือ ขณะที่ชายคนหนึ่งซึ่งประกอบอาชีพเป็นพนักงานบริษัทอาศัยอยู่ในเมืองฟุกุโอะกะกำลังขับรถยนต์อยู่นั้น ได้ถูกรถยนต์อีกคันหนึ่งชนซึ่งคนขับรถที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุเป็นเจ้าหน้าที่ของเขตฟุกุโอกะ สืบเนื่องจากอุบัติเหตุในครั้งนี้ ทำให้รถของพนักงานบริษัทดังกล่าวตกลงไปในทะเลจากสะพานที่อ่าวฮะคะตะ(博多湾) ส่งผลทำให้ลูกน้อย 3 คนที่นั่งไปด้วยกันเสียชีวิตทั้งหมดในที่เกิดเหตุ
◎รายละเอียด
เมื่อเวลาประมาณ 23 นาฬิกาของวันที่ 25 เดือนสิงหาคม ปี 2006 รถยนต์RVR ยี่ห้อมิตซูบิชิของพนักงานบริษัท(อายุในขณะนั้น 33ปี)ซึ่งเป็นคนขับ นั่งรถพร้อมกับภรรยา(29ปี)และลูกๆ 3 คน(4ขวบ, 3ขวบ,1ขวบ) ได้ถูกรถยนต์ของเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ควบคุมดูแลสัตว์เขตฟุกุโอกะชื่อ "อิมะบะยะชิ" ซึ่งขณะนั้นมีอายุ 22 ปีชนอย่างแรงโดยที่ไม่มีการเบรครถ ส่งผลทำให้รถยนต์ของพนักงานบริษัทดังกล่าวถูกกระแทกกระเด็นลอยไปชนและทะลุกำแพงของสะพาน ตกลงไปในทะเลของอ่าวฮะคะตะซึ่งอยู่ต่ำกว่าสะพานถึง 14 เมตร
รถคนนี้ได้จมลงไปในใต้ท้องทะเลท่ามกลางความมืด เด็ก 3 คนที่นั่งไปด้วยจมน้ำเสียชีวิตทั้งหมด ส่วนภรรยาของผู้เสียหายก็ได้รับบาดเจ็บ
หลังจากที่เกิดอุบัติเหตุแล้ว นายอิมะบะยะชิซึ่งเป็นคนขับรถได้พยายามหลบหนีไปจากที่เกิดเหตุ แต่เนื่องจากรถของ อิมะบะยะชิได้รับความเสียหายอย่างมากจากอุบัติเหตุที่ตัวเองก็ขึ้น ทำให้ต้องจอดรถทิ้ง ซึ่งตำแหน่งห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 300 เมตร
หลังจากที่รู้ว่าตัวเองหนีจากที่เกิดเหตุไม่พ้นแล้ว แทนที่จะกลับไปช่วยผู้เสียหายทั้งหลาย แต่กลับกัน ได้พยายามทำลายหลักฐาน เช่น ดื่มน้ำจำนวนมากก่อนจะถูกจับช่วงเวลาเช้ามืดของวันต่อมา
.
คืนเกิดเหตุ นายอิมะบะยะชิได้ทำดื่มสุราหลายแห่งไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน ร้านอาหารและร้านสุรา(อิสะกะยะ) นายอิมะบะยะชิยังให้การด้วยว่า ก่อนที่จะเกิดอุบัติเหตุในครั้งนี้ ที่สี่แยกใกล้ๆกับที่เกิดเหตุ ตนเองก็เกือบขับรถชนรถที่จอดอยู่แถวนั้นเหมือนกัน
นายอิมะบะยะชิยังให้ปากคำอีกว่า ตนเองได้ขับรถด้วยความเร็วประมาณ 80 กม.ต่อชั่วโมง ซึ่งบริเวณนั้นอนุญาตให้วิ่งได้เพียงแค่ 50 กม.ต่อชั่วโมงเท่านั้น แต่ดูจากสภาพบริเวณที่เกิดเหตุแล้ว คาดว่านายอิมะบะยะชิน่าจะขับรถด้วยความเร็วสูงถึง 120 กม.ต่อชั่วโมงเลยทีเดียว ส่วนรถของผู้เสียหายวิ่งด้วยความเร็วประมาณ 60 กม.ต่อชั่วโมง
(ที่ญี่ปุ่นจะรู้ๆกันว่าสามารถขับรถได้ด้วยความเร็วตามที่กฏหมายกำหนด+20 กม.)
.
นายอิมะบะยะชิอ้างว่า ขณะเกิดเหตุนั้น ตนเองได้คุยกับเพื่อนที่นั่งอยู่ในรถด้วยกัน จนทำให้ประมาทในการมองไปข้างหน้า แต่ความจริงแล้ว นายอิมะบะยะชิได้ดื่มสุราเป็นจำนวนมาก คือดื่มเบียร์หลายขวด จากนั้นก็ดื่มเหล้าญี่ปุ่นอีกหลายถ้วย(น่าจะเกือบลิตร) หลังจากที่เกิดเหตุแล้ว นายอิมะบะยะชิได้ทำการขอร้องเพื่อนที่นั่งรถไปด้วยและเพื่อนคนอื่นๆให้ช่วยมารับเคราะห์แทนหน่อย แต่ก็แน่นอนว่า ถูกทุกคนปฏิเสธหมด
.
◎ความคืบหน้าของเหตุการณ์หลังจากที่อุบัติเหตุเกิดขึ้น
(1) เพื่อนของนายอิมะบะยะชิ ซึ่งเป็นนักศึกษาอายุ 22 ปี(อายุในขณะนั้น)ที่ได้ให้การช่วยเหลือนายอิมะบะยะชิทำลายหลักฐาน โดยให้นาย อิมะบะยะชิ ดื่มน้ำเป็นจำนวนมาก เพื่อให้ระดับแอลกอฮอล์ในโลหิตจางลงไป
(2) พนักงานบริษัทอายุ 32 ปี(อายุในขณะนั้น)ที่นั่งรถไปด้วย ก็ถือว่าทำผิดกฏหมายจราจรบนท้องถนน
ทั้งสองคนถูกจับ แต่หลังจากนั้นก็ถูกปล่อยตัวไป และก็ไม่ถูกส่งฟ้อง เพราะกฏหมายจราจรบนท้องถนนของญี่ปุ่นยังมีข้อบกพร่องอยู่ ไม่สามารถจะเอาโทษกับทั้งสองคนได้
เหลือเพียงนายอิมะบะยะชิเท่านั้นที่ถูกส่งฟ้องโทษฐาน "ขับรถอันตรายทำให้ผู้อื่นเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บ" และ "ละเมิดกฎหมายจราจรบนท้องถนน(ชนแล้วหนี)"
.
◎คำพิพากษา
○ศาลแขวงฟุกุโอกะ
ศาลแขวงฟุกุโอกะตัดสินลงโทษเพียงแค่ "โทษที่ทำให้ผู้อื่นเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บโดยความประมาท" เท่านั้น
โดยตัดสินจำคุกเป็นเวลา 7 ปีกับอีก 6 เดือน ซึ่งอัยการได้ทำการยื่นอุทธรณ์
ตอนที่ผู้พิพากษาในศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จ ทางนายอิมะบะยะชิร้องไห้และกล่าวคำขอโทษอย่างมากมายว่า ตัวเองสำนึกผิดที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุแบบนี้ขึ้น
แต่ตัวนายอิมะบะยะชิเองก็ยังยื่นอุทธรณ์ต่อศาลชั้นสูงต่อไป ทำให้คนญี่ปุ่นเป็นจำนวนมากไม่พอใจกับการกระทำของนายอิมะบะยะชิซึ่งเป็นจำเลย ว่าที่แท้จริงแล้ว ไม่ได้สำนึกผิดอะไรเลย
○ศาลสูงฟุกุโอกะ
ศาลสูงฟุกุโอกะได้พิจารณาตัดสินลงโทษด้วย "โทษที่ขับรถอันตรายทำให้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บ" รวมกับโทษอีกหนึ่งกระทงคือ "โทษละเมิดกฎหมายจราจรบนท้องถนน" โดยตัดสินจำคุก 20 ปี ซึ่งโทษนี้เป็นโทษที่สูงที่สุดที่ทางอัยการจะสามารถยื่นขอให้ลงโทษได้ในขณะนั้น แน่นอนว่านายอิมะบะยะชิก็ยังยื่นอุทธรณ์ต่อไป
○ศาลฎีกา
เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2011 ศาลฎีกาตัดสินปฏิเสธรับการอุทธรณ์ของนายอิมะบะยะชิ
ผู้พิพากษา 4 คนใน 5 คนให้ความเห็นตรงกันสำหรับคำตัดสิน "โทษที่ขับรถอันตรายทำให้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บ"
เป็นอันว่าการตัดสินโทษทางกฏหมายอาญาเป็นที่สิ้นสุด
.
นอกเหนือจากนี้ ทางครอบครัวของผู้เสียหายได้ทำการฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายกับผู้ที่ก่อให้เกิดเรื่องนี้ขึ้นอีกทางศาลแพ่ง ด้วยจำนวนเงิน 350 ล้านเยน
ซึ่งเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2012 ทางผู้ก่อเหตุได้ขอขมาและเจรจากับทางครอบครัวของผู้เสียหายได้สำเร็จ(ไม่ทราบจำนวนเงิน)
.
ตามที่ได้เกริ่นไว้แล้วว่า คดีนี้ได้รับความสนใจจากประชาชนญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดแรงจูงใจและส่งผลอย่างไรต่อสังคมของญี่ปุ่นบ้าง ผมจะขอเล่าต่อข้างล่างนี้
.
○การลงโทษผู้บริหารปกครองเมือง
นายยามาซิกิซึ่งเป็นนายกเทศมนตรีเมืองฟุกุโอกะในตอนนั้น ได้ประกาศตัดเงินเดือนของตัวเองไป 20% เป็นเวลา 10 เดือน
นายนากาโมโตะรองนายกเทศมนตรีซึ่งเป็นผู้ที่ดูแลศูนย์การจัดการสัตว์ที่นายImabayashiทำงานอยู่ ได้ประกาศขอคืนเงินเดือน 20% ที่ตนเองจะได้รับเป็นเวลา 10 เดือน
ผู้อำนวยการสำนักงานสุขภาพและสวัสดิการได้ประกาศตัดเงินเดือนของตัวเอง 10% เป็นเวลา 10 เดือน
รวมถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆของเมืองฟุกูโอกะ แม้ว่าจะเป็นทางอ้อมก็ได้รับโทษตักเตือนเช่นกัน
.
○การลงโทษนายอิมะบะยะชิ
หลังจากที่นายอิมะบะยะชิได้ถูกส่งฟ้อง ทางเทศบาลเมืองฟุกุโอกะได้ลงโทษให้นายอิมะบะยะชิออกจากงานราชการ แต่ว่ามีการจ่ายเงินชดเชยการออกจากงาน ทำให้มีโทรศัพท์ประท้วงมากกว่า 900 สาย ทำให้นายยามาซิกิซึ่งเป็นนายกเทศมนตรีต้องออกมากล่าวขอโทษเกี่ยวกับการตัดสินใจลงโทษแบบนั้น หลังจากนั้น 3 เดือนทางเทศบาลเมืองฟุกุโอกะได้จัดเลือกตั้งนายกเทศมนตรีใหม่ นายยามาซิกิซึ่งเป็นนายกเทศมนตรีคนปัจจุบันได้พ่ายแพ้กับผู้สมัครหน้าใหม่คนอื่น
○งานเทศกาลต่างๆ
เนื่องจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของเทศบาลเมืองฟุกุโอกะ
จึงมีการงดการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่างๆตามสถานศึกษาตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา
○ปัญหาทางสังคมเนื่องจากการขับขี่พาหนะขณะที่ยังเมาสุราอยู่
อุบัติเหตุในครั้งนี้ทำให้สังคมเกิดการตระหนักถึงปัญหาการขับรถและการก่ออุบัติเหตุขณะที่ยังเมาสุราอยู่ ขนาดที่มีเดียต่างๆยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นสคูปพิเศษอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการพยายามที่จะหนีจากโทษขับรถอันตรายทำให้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บ ถึงขนาดที่ทำลายหลักฐาน รวมถึงโทษการชนแล้วหนีด้วย
การส่งฟ้องด้วยสำนวนที่เรียกร้องให้รับโทษขับรถอันตรายทำให้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บนั้นเป็นไปได้ยาก ถึงขนาดที่ว่าคนญี่ปุ่นด้วยกันเองยังวิพากษ์วิจารณ์ว่า [หนียังดีเสียกว่า] ดังนั้นเพื่อเป็นการลดช่องว่างของปัญหา [หนียังดีเสียกว่า] ให้น้อยลง จึงได้มีการแก้ไขเนื้อหาของพระราชบัญญัติจราจรทางบกในส่วนของบทลงโทษสำหรับการเมาแล้วขับรถยนต์ให้มีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้นในปี 2007 ทางญี่ปุ่นจึงได้มีการแก้ไขกฏหมายจราจรบนท้องถนน แล้วทำการเพิ่มโทษกรณีที่ขับรถขณะที่ยังเมาสุราอยู่ และ ชนแล้วหนีให้หนักขึ้นด้วย
.
จะเห็นว่า จากเรื่องที่ผมยกขึ้นมาเล่าให้ฟังนี้เป็นเรื่องที่น่าเศร้ามาก แน่นอนว่าไม่ว่าประเทศไหนก็จะมีปัญหากันทั้งนั้น ไม่มากก็น้อย ถึงแม้ว่าจะเป็นประเทศญี่ปุ่นเองก็ตาม ทางญี่ปุ่นเองก็ได้มีการแก้ไขกฏหมายจราจรบนท้องถนน โดยการเพิ่มโทษกรณีที่ขับรถขณะที่ดื่มสุราหรือยังเมาสุราอยู่ แล้วในกรณีที่ชนแล้วหนี ก็เพิ่มโทษให้หนักขึ้นอีกด้วย
.
ผม "อิจฉา" ญี่ปุ่นแทนคนไทยอีกเป็นจำนวนมาก เมื่อพวกเขาเกิดการสูญเสียอะไรไป พวกเขาจะหาพยายามหามาตรการต่างๆขึ้นมา เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหานั้นเกิดขึ้นมาซ้ำอีก หรือให้มีน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
แต่ของเมืองไทย ไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไร มากน้อยเพียงใด กฏหมายก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใดหรือได้รับการเปลี่ยนแปลงที่น้อยมาก
อยากให้ลองคิดถึงจิตใจของผู้สูญเสียบ้าง "ชีวิตของมนุษย์เรามันไร้ค่านักหรือ? โดยเฉพาะผู้บริสุทธิ์มักจะเป็นผู้ที่สูญเสียโดยฟรีๆเสมอ"
หวังว่าบ้านเมืองของเราคงจะพัฒนาก้าวต่อไปข้างหน้าสักวัน มาช่วยๆกันนะครับ
.
ปัจจุบันนี้โทษของผู้ทำผิดกฏหมายจราจรบนท้องถนน โดยขับรถขณะที่ยังเมาสุราอยู่นั้น มีดังต่อไปนี้
(1)เมาแล้วขับรถ : จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านเยน
(2)ให้คนที่เมาใช้รถขับ : จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านเยน
(3)นั่งไปพร้อมกับคนที่เมาสุรา : จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนเยน
.
สำหรับพ่อแม่ของเด็กๆที่เสียชีวิตไป หลังจากที่ได้เกิดเหตุโศรกเศร้า ก็ได้มีลูกอีก 2 คน(เท่าที่ผมรู้) ชีวิตใหม่คงก็ไม่สามารถแทนชีวิตเดิมที่เสียไปได้ แต่คิดว่าของแสงสว่างยังพอจะส่องทางและให้ความอบอุ่นแก่คนที่เคยสัมผัสกับความมืดมนเสมอ
.
ระวังอย่าขับรถขณะที่ดื่มสุราและเตือนคนรอบตัวคุณด้วยนะครับ
.