โจน จันได กับการบรรยาย ปรัชญาการใช้ชีวิตง่ายๆ ที่ต่างชาติยอมรับ ยอดวิวกว่า2ล้านวิว!
ชายร่างกำยำ กายกร้านแดด สวมเสื้อยืดเก่าคร่ำคร่า สีมอซอเช่นเดียวกับกางเกงเลที่สวมใส่ เดินเท้าเปล่านำหน้าไปยังบ้านดินที่อยู่บนยอดเนินเขา บ้านดินที่เขาอาศัยอยู่กับลูกและภรรยาชาวอเมริกัน
โจน จันได คือชายผู้นั้น ลูกชาวนาแห่งยโสธร ผู้บุกเบิกและก่อตั้งศูนย์พันพรรณ ชุมชนแห่งการพึ่งตนเอง ที่พำนักของผู้คนที่ต้องการใช้ชีวิตง่าย ๆ
“ชีวิตมันเป็นเรื่องง่าย ๆ ไม่ต้องทำให้มันยาก” ปรัชญาชีวิตที่ผ่านการตกผลึกของเขา
เขาเรียนหนังสือจนจบ ป.๗ รุ่นสุดท้าย ก็มาบวชเป็นสามเณรในกรุงเทพฯ อาศัยเรียนการศึกษานอกโรงเรียน จนกระทั่งจบการศึกษาผู้ใหญ่มัธยมศึกษาตอนปลายที่วัดสัมพันธหงษ์ แล้วก็ลาสิกขาไปเรียนนิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เรียนได้ราว ๓ ปี ก็เริ่มถามตัวเองว่า “เรียนไปทำไม เรียนไปเพื่ออะไร” ในที่สุดก็ตัดสินใจหันหลังให้กับการศึกษา พาตัวเองไปอยู่เชียงใหม่ เงินที่พอมีอยู่นำไปซื้อที่ดินจนหมด
อยู่ที่นั่นไม่ได้กินข้าวเป็นเดือน เพราะไม่มีเงินซื้อ กินหน่อไม้ กินผัก แรก ๆ ปลูกปลูกผักบุ้งเพราะอายุเก็บเกี่ยวสั้น ได้กินเร็วกว่าผักอย่างอื่น แล้วปลูกข้าวโพด ปลูกผักไว้กินกิน ปลูกเสร็จไม่มีอะไรทำ ก็เดินเล่นตามป่า ขึ้นเขา ชีวิตวนเวียนอยู่อย่างนี้ราว ๗ เดือน เป็นที่มาของปรัชญาชีวิต “ชีวิตมันเป็นเรื่องง่าย ๆ”
“...ชีวิตมันเป็นเรื่องง่าย ๆ แต่เราทำให้มันยาก เราใช้เวลาไม่มากนักในการทำมาหากิน มันเหลือกินแล้ว แต่ว่าเราใช้เวลาเยอะมากในการหาเพื่อครอบครัว เราทำให้ชีวิตซับซ้อน จนไม่มีเวลาคิดถึงตัวเอง คิดถึงแต่เรื่องงาน หาเงิน ใช้เงิน ทำงานหนักไม่มีเวลาพัก ไม่มีเวลากิน ทำงานหนักขนาดนี้ ทำไมไม่ทำชีวิตให้ง่าย เรื่องชีวิตนี้มันง่าย ทำไมต้องทำให้มันยาก...”
เขาตอกย้ำความง่ายของชีวิต เมื่อครั้งที่กลับคืนสู่ท้องทุ่งอีสานบ้านเกิดเมืองนอน ก่อนที่จะมาลงหลักปักฐานที่ศูนย์พันพรรณ ว่า
“...ผมเคยลองไปทำนา ทำแค่ปีละ ๒ เดือน ได้ข้าวมา ๔ ตัน ปีนึงคน ๖ คนกินข้าวไม่ถึงครึ่งตัน ที่เหลือก็ยังได้ขาย บ้านก็ทำเป็นบ้านไม้ไผ่ อยู่ได้สบายไม่มีปัญหา ใช้เวลารดน้ำผักวันละ ๓๐ นาที มีผักเลี้ยงคน ๖ คนต่อวัน ยังมีเหลือพอเอาไปขายที่ตลาดอีก ได้เงินวันละห้าสิบวันละร้อย มีบ่อปลา ๒ บ่อ ก็รู้สึกว่าทำไมชีวิตมันง่ายอย่างนี้ ไม่มีอะไรยากเลย...”
อย่างไรก็ตามวิถีชีวิตที่เขาดำรงนั้น แม้จะดูไม่ผิดแผกไปจากชาวบ้าน แต่เขาก็ไม่ได้อยู่แบบชาวบ้าน
“...ผมกลับไปอยู่บ้าน แต่ไม่ได้อยู่แบบชาวบ้าน ชาวบ้านส่วนใหญ่เขาปลูกเพื่อขาย ยิ่งทำก็ยิ่งไม่เหลืออะไร ยิ่งปลูกก็ยิ่งมีหนี้ ทันทีที่คิดจะลงทุน ต้องหาเงินไปจ่ายค่าเมล็ดพันธุ์ ค่ายา ค่าปุ๋ย เริ่มต้นจากการเป็นหนี้ แล้วก็เสี่ยงเพราะปลูกผักจะได้หรือไม่ได้มันขึ้นกับดินฟ้าอากาศ โรคและแมลง ขึ้นอยู่กับคนที่มารับซื้อ ชาวไร่ชาวนาจึงอยู่ในสถานะของนักการพนันที่แย่ที่สุด ไม่มีโอกาสที่จะลืมตาอ้าปากได้ ถ้าปลูกเพื่อขายเราจะติดกับดักทันที คนที่คิดจะปลูกเพื่อขาย ไม่มีใครรวย ไม่มีใครไม่เป็นหนี้...
...ที่ผมปลูก ปลูกเพื่อกิน พริก มะเขือ หอม กระเทียม ปลูกไว้แค่ไม่เกินอย่างละ ๕ ต้นก็อยู่ได้แล้ว กินไม่เคยหมด เหลือเก็บไปขายก็ยังได้เงินสองร้อยสามร้อยบาทต่อวัน อย่างกระจอกที่สุดก็ห้าสิบบาท ในสายตาคนทั่วไปเงินห้าสิบบาทอาจไม่มีค่าอะไรเลย แต่ครอบครัวไม่มีค่าใช้จ่าย เงินห้าสิบบาทถือว่ามากแล้ว...
...ผมต้องการให้ชีวิตง่ายและสุขขึ้น ชีวิตเราสั้นมาก จะใช้ชีวิตบนโลกนี้ไปเพื่ออะไร เราควรหาความสงบสุข หาความง่ายให้ตัวเอง ให้มีเวลาอยู่กับตัวเอง อยู่กับครอบครัวมากขึ้น...”
โจน จันได เชื่อเรื่องการพึ่งตนเอง เชื่อว่าคนจะมีความสุขได้ก็ต่อเมื่อเขาสามารถพึ่งตนเองได้ สามารถที่จะเข้าถึงปัจจัยสี่ได้โดยง่าย แต่สังคมเปลี่ยนไป ผู้คนเข้าถึงปัจจัยสี่ได้ยากขึ้น แพงขึ้น ชีวิตเป็นอยู่ยากขึ้น
“..ผมมีความเชื่อว่าชีวิตที่พัฒนาที่ดีที่สุด ชีวิตที่มีความสุขที่สุดคนต้องเข้าถึงปัจจัยสี่ได้ง่ายที่สุด แต่ทุกวันนี้รู้สึกว่ามีแต่จะแย่ลง...
...ทุกวันนี้คนกว่าจะได้บ้านหลังหนึ่ง ต้องทำงานเก็บเงินเป็นยี่สิบสามสิบปี อาหารก็แพง และไม่มีความปลอดภัยเลย ชีวิตผู้คนทุกวันนี้หาสิ่งที่เป็นสาระไม่ได้ ทำไปด้วยความงมงาย ไม่รู้เรื่องรู้ราว ทำชีวิตให้ยากขึ้น จนลืมไปว่าชีวิตเกิดมาทำไม ครอบครัวเป็นยังไง มีความสำคัญยังไง ธรรมะคืออะไร ความสุขเป็นยังไง ไม่มีใครสอนเลย คนมีแต่ซื้อ ๆ ๆ ๆ เพื่อจะให้มีความสุข แต่ถามจริง ๆ ว่ามันใช่ไหม...
...สุดท้าย เราก็เลยกลับมาชีวิตว่า ชีวิตที่มีความสุข คือชีวิตที่ง่าย บริโภคน้อยลง พึ่งตนเองได้ เราก็เลยกลับมาที่ปัจจัยสี่ อาหาร บ้าน ผ้า และยา...
...อย่างการมีอาหาร คนทำงานในเมืองวันละ ๘-๑๒ ชั่วโมงแต่ไม่พอกินสำหรับคนเดียว ทำเพื่ออะไรกัน ผมทำสวนวันละ ๓๐ นาที ปลูกและรดน้ำผัก ผมมีอาหารเลี้ยงคน ๗-๘ คนได้สบาย เวลาที่เหลือพักผ่อน ทำในสิ่งที่อยากทำ อยู่กับครอบครัว หาความสุขให้ชีวิต ง่ายมากเลย นี่คือความง่าย...”
ภาพประกอบจาก internet
แหล่งที่มา: https://www.youtube.com/watch?v=21j_OCNLuYg
https://www.youtube.com/watch?v=cuxeyDWgANE
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย หนานเกียรติ
https://www.gotoknow.org/posts/314518