ฤดูกาลที่บิดเบี้ยว...ของบอลอังกฤษ
ก็เพราะนี่คือพรีเมียร์ลีกฤดูกาลที่บิดเบี้ยวผิดเพี้ยนที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์
บิดเบี้ยวผิดเพี้ยนที่สุดด้วยภาพที่ผ่านมากำลังจะผ่านครึ่งทาง แชมป์เก่าอย่าง เชลซี ลงไปคลุกฝุ่นอยู่เบื้องล่าง ยังหาทางกลับมาที่เดิมไม่เจอ สุดยอดกุนซือที่ดีที่สุดในสามโลกในสายตาของแฟนเชลซีเอง โชเซ่
มูรินโญ่โดนเด้งตกงานเฉย
อดีตทีมที่ต้องดิ้นหนีตายสุดชีวิต เลสเตอร์ บ๊วยของคริสต์มาส 2014 กลายเป็นมาจ่าฝูงเสียดื้อๆ ในคริสต์มาสถัดมา
ทีมเก่าทีมแก่ที่ไม่เคยตกชั้นหายหน้าไปไหนมาก่อน แอสตัน วิลล่า กำลังหายใจรวยระริน ระยะห่างจากโซนปลอดภัยมีแต่จะเพิ่มขึ้นทุกวัน...จริงๆ ก็ตกชั้นครึ่งค่อนตัวแล้วตั้งแต่ตอนนี้
น้องใหม่ที่กลับคืนพรีเมียร์ลีกหนแรกรอบเกือบทศวรรษ วัตฟอร์ด กลายเป็นทีมจอมอันตราย เกมรุกดุดันทะลุทะลวง อย่าว่าแต่จะต้องมาหนีตกชั้น ถ้ารักษามาตรฐานได้ยาวๆ จะไปยุโรปเอาได้ง่ายๆ
ฯลฯ และ ฯลฯ
ก็ด้วยความบิดเบี้ยวผิดเพี้ยนที่เกิดขึ้น การลุ้นแชมป์ของซีซั่นนี้ จึงอาจไม่ได้เข้ารูปเข้ารอยอย่างที่เป็นมาตลอด 23 ปี
ก่อนหน้า การชิงชัยที่ใครทำผลงานได้ "ดีที่สุด" ฟอร์มดีที่สุด เจ๋งเป้งที่สุด รับแชมป์ไป
บางทีซีซั่นนี้คือภาพตรงกันข้าม ใคร "พลาดน้อยที่สุด" ใครหลีกเลี่ยงการสะดุดล้มหน้าคะมำได้มากที่สุด คือแชมป์
และถ้าบางคนยังไม่เชื่อมือเลสเตอร์ ว่าจะยืนระยะไปได้ตลอดรอดฝั่ง นาทีนี้ก็คงต้องยกให้อาร์เซน่อล มีภาษีดีที่สุด
อาจเจอปัญหาเดิมๆ อย่างเรื่องนักเตะเจ็บคนแล้วคนเล่า ส่งผลกระทบกับฟอร์มการเล่นที่ไม่เปรี้ยงปร้างอย่างที่ควรจะเป็นอยู่บ้าง อาจมีเกมที่สะดุดอย่างไม่น่าสะดุด (เปิดสนามแพ้เวสต์แฮม, แพ้เชลซีที่ตุปัดตุเป๋, แพ้ทีมดาดๆ อย่างเวสต์บรอมวิช) อยู่บ้าง แต่อย่างน้อย อาร์เซน่อล ก็มีสิ่งจำเป็นที่ทีมแชมป์จะต้องมี - ระยะของการเข้าเบรกชนะยิงยาว พวกเขาชนะ 5 เกมติดกันไปแล้วในช่วงเดือน ต.ค.
และก็กำลังเดินหน้าชนะ 3 เกมซ้อนด้วยชัยชนะของเกมมันเดย์ไนต์เหนือคู่แข่งเคียงบ่าเคียงไหล่อย่างแมนเชสเตอร์ ซิตี้
ชัยชนะ 2-1 ที่เอาเข้าจริง มันควรจะเป็น 3-1, 4-1 หรือ 5-1 เสียมากกว่า
วางหมากตรงเป้าเข้าจุดเป๊ะสำหรับ อาร์แซน เวนเกอร์ ที่สั่งลูกทีมลงไปเล่นเกมรับอย่างมีวินัย เล่นอย่างอดทน อุดเป็นอุด รอคอยเวลาใช้เกมโต้กลับเข้าทำ ไม่จำเป็นต้องไปเปิดหน้าแลกแม้นี่จะคือเกมในเอมิเรตส์ สเตเดี้ยม ของตัวเองก็ตาม
รับให้แน่นเข้าไว้ ยืนตำแหน่งอย่างมีวินัยทั้งแบ็กโฟร์ เอ็คตอร์ เบเยริน,แพร์ แมร์เตซัคเคอร์,โลร็องต์ กอสซิแอลนี่,นาโช่ มอนเรอัล และคู่มิดฟิลด์ตัวกลาง มาติเยอ ฟลามินี่,อารอน แรมซี่ย์
เกมรุกให้ โอลิวิเย่ร์ ชิรูด์ คอยเบียดคอยปะทะเข้าชน และให้ ธีโอ วัลค็อตต์ คอยใช้ความเร็วความคล่องตัวสปีดต้นที่จัดจ้าน ถ่างออกริมเส้นซ้ายเพื่อชนกับหนึ่งในจุดอ่อนของแมนฯ ซิตี้ อย่าง บาการี่ ซาญ่า
ก็อย่างที่ย้ำมาหลายครั้ง ซาญ่า ไม่ใช่ยอดแบ็กขวาเหมือนที่เคยเป็นกับอาร์เซน่อล (2007-2014) ทั้งไม่แข็งแกร่งรวดเร็ว ยืนตำแหน่งผิดพลาดบ่อยๆ ทั้งเกมรุกและรับที่ไม่ได้เป็นเลิศทั้งสองด้าน ให้น่าเชื่อว่าถ้าปาโบล ซาบาเลต้า ไม่บาดเจ็บ ตัวเลือกแรกของ มานูเอล เปเยกรีนี่ ก็จะเป็นแบ็กอาร์เจนไตน์แบบนอนมา
ประตู 1-0 คือภาพขยายว่า ซาญ่า คือจุดอ่อนอย่างไร เมื่อ วัลค็อตต์ รับบอลจาก เมซุต โอซิล พร้อมกับมีมอนเรอัล วิ่งสอดแลบขึ้นทางซ้าย เสี้ยววินาทีนั้น ซาญ่า พะว้าพะวงทันทีว่าจะตามประกบใครดี และเสี้ยววินาทีนั้นที่วัลค็อตต์ ฉวยพื้นที่ว่างที่ซาญ่า ไม่บีบเข้าหา ปั่นโค้งเสียบมุมในโอกาสจบครั้งแรกของอาร์เซน่อล
ไม่ต่างกันกับประตู 2-0 ที่แม้ความผิดพลาดโง่ๆ จะเป็นของ เอเลียควิม ม็องกาล่า มากกว่า แต่การเข้าทำของ โอลิวิเย่ร์ ชิรูด์ ก็เกิดขึ้นในบริเวณความรับผิดชอบของซาญ่า อีกเหมือนกัน
ที่จริงมันควรจะเกิดประตูที่ 3 หรือ 4 หรือ 5 ที่ทำให้เกมปิดสนิทไปตั้งแต่ต้นครึ่งหลัง หากว่าอาร์เซน่อล จะมีความเฉียบคมมากกว่านี้ในพื้นที่สุดท้าย โดยเฉพาะ โจเอล แคมป์เบลล์ คนที่เวนเกอร์ ให้โอกาสลงแทน อเล็กซิส ซานเชซ (เจ็บ) ที่มีจังหวะสังหารถนัดถนี่ระยะ 7 หลานาที 52 กับจังหวะทะลุเข้าซัดทางขวานาที 56 ที่จิ้มเบาไปติดปลายเท้า โจ ฮาร์ท และก็ยังรวมถึงจังหวะต่อบอลไหลลื่นงามๆ ในนาที 59 ซึ่ง แรมซี่ย์ ยิงโล่งๆไม่ผ่าน โจ ฮาร์ท ด้วย
สกอร์ท้ายสุด 2-1 ผิวเผินอาจบอกว่านี่คือเกมที่บีบคั้นและเชือดเฉือน แต่ภาพแท้จริงไม่ได้เป็นแบบนั้นกระทั่งว่าซิตี้ จะสร้างโอกาสยิงได้ถึง 20 ครั้ง ครองบอลเหนือกว่า 63:37% ก็ไม่ได้เป็นตัวอธิบายว่า ซิตี้ สมควร "มีแต้ม" จากเกมนี้แต่อย่างใด
สร้างโอกาสยิง 20 ครั้งก็จริง แต่แทบทั้งหมดเป็นการยิงที่ไร้ค่า ยิงไกลเสี่ยงดวงบ้าง ยิงและโหม่งเบาเข้ามือปีเตอร์ เช็ก บ้าง ยิงออกนอกกรอบไม่ได้ลุ้นบ้าง ถ้าไม่ได้ลูกยิงพลิกแพลงมหัศจรรย์จาก ยาย่า ตูเร่ ก็ไม่รู้ว่าเล่นต่ออีก 3 วันจะเจาะหลังบ้านอาร์เซน่อลเข้าหรือเปล่า
"ซิตี้ การเข้าทำพื้นๆ มาก ไร้ชั้นเชิง ไร้ความสร้างสรรค์และพลิกแพลง ได้แค่พาบอลเข้ากดดันกองหลัง แต่ไม่ได้ทำให้ ปีเตอร์ เช็ก ต้องหนักใจ" คือข้อความที่ผมบันทึกไว้จากขอบสนามเอมิเรตส์ คืนวาน
อาจมีนักเตะดีๆ ราคาแพงๆ อย่าง กุน อเกวโร่, เควิน เดอ บรอยน์, ราฮีม สเตอร์ลิง, ดาบิด ซิลบา หรือ วิลฟรีด โบนี่ ก็จริง แต่การเดินเกมรุกของซิตี้ ไม่ได้วูบวาบอันตรายมีความสลับซับซ้อนอะไรเลยในเกมนี้ ลุยเข้าทื่อๆ ตรงกลาง ไม่ก็ออกริมเส้นแล้วเปิดเข้ากลาง โยนเข้าเขตโทษบ้าง ตบหักมาหน้าเขตโทษบ้างไม่มีความสร้างสรรค์ความพลิกแพลงมากพอ
ก็มีเพียงลูกยิงของยาย่า ลูกเดียวเท่านั้นที่เข้าข่ายสร้างสรรค์พลิกแพลง กับการยิงไม่จับเหนือชั้นหน้าเขตโทษส่งลูกย้อยเข้าเสียบใต้คาน...แต่กว่าจะมาก็ปาไปนาที 82 เวลาเหลือไม่พอจะเอาเม็ดที่สอง
เกมรุกขาดแคลนประสิทธิภาพ หลังบ้านยิ่งตัวดี
ซานย่าคือหนึ่งปัจจัย ที่สำคัญกว่าคือ เอเลียควิม ม็องกาล่า
"ม็องกาล่าอ่อนชั้นมาก เขาเป็นเซนเตอร์แบ็กที่ไม่รู้วิธีการเล่นเซนเตอร์แบ็ก" แกรี่ เนวิลล์ เอ่ยไว้ตั้งแต่ซีซั่นที่แล้ว นาทีนี้ผ่านมานับปี ม็องกาล่า ก็ไม่ได้เปลี่ยนไปจากคำปรามาสนั้น
สั่นไหว โงนเงน ไร้ชั้นเชิง ผิดพลาดในแทบทุกอย่าง
จะไม่มีประตู 2-0 ในนาทีสุดท้ายครึ่งแรกเด็ดขาดหากว่า ม็องกาล่า นิ่งกว่านี้ ไม่ใช่การพยายามออกบอลสั่วๆ ให้พ้นๆ ตัว ที่ไม่ได้ทั้งน้ำหนักและทิศทาง ผ่านหน้า แฟร์นันดินโญ่ ไปเข้าเท้าคู่แข่งโดนสวนตูมถึง โอซิล ต่อให้ ชิรูด์ สับเปรี้ยงหาย
และนี่ไม่ใช่การออกบอลที่ผิดพลาดหนเดียวในเกมนี้ แถมยังเพิ่มเติมด้วยการยืนตำแหน่งที่สับสน เชื่องช้าไม่ทันเกมของเจ้าถิ่นในหลายจังหวะ
รุกมีปัญหา รับสะเปะสะปะเมื่อไม่มี แว็งซ็องต์ ก็องปานี
ซิตี้ แพ้เป็นนัดที่ 5 และชนะใครไม่เป็นในเกมเยือนมา 5 นัดติดเข้าไปแล้ว (1-4 สเปอร์ส, 0-0 แมนฯ ยูไนเต็ด, 0-0 แอสตัน วิลล่า, 0-2 สโต๊ค, 1-2 อาร์เซน่อล) ชัดเจนว่านี่คือปัญหาที่ เปเยกรีนี่ แก้ไม่ตก
แต่ก็อีกนั่นแหละ ท่ามกลางปัญหาและความน่าผิดหวังที่ซิตี้ เป็นพวกเขาก็ยังยืนแท่นที่อันดับ 3 ตามหลังจ่าฝูงแค่ 6 แต้ม ทุกอย่างยังเป็นไปได้กับอีก 21 เกมที่เหลือ
17 นัดแพ้แล้ว 5 ผลงานเกมเยือนห่วยบรม รุกไม่เข้าที่ หลังบ้านมีจุดอ่อนชัดแจ้ง
ถ้าท้ายสุด แชมป์ตกเป็นของแมนฯ ซิตี้ ก็จะ "สมบูรณ์แบบ"
สมบูรณ์แบบของการเป็นซีซั่นที่บิดเบี้ยวผิดเพี้ยนที่สุดในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีก