7 เหตุผลที่คนต่างชาติไม่เข้าใจเมื่อต้องทำงานกับคนญี่ปุ่น!!
ใครๆก็รู้ว่าคนญี่ปุ่นเป็นคนที่มีคุณภาพและทุ่มเทให้การทำงานมาก จนเป็นที่ยอมรับกันว่านั้นคือสิ่งที่ฝังรากลึกในความเป็นญี่ปุ่นไปแล้ว แต่เมื่อลองถามคนต่างชาติ และประกอบกับประสบการณ์ตรง ผมก็ขอลิสต์เหตุผลที่มักจะทำให้เสียอารมณ์เมื่อทำงานที่ญี่ปุ่นมาฝากกัน
เป็นที่รู้กันดีว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อว่าทำงานหนัก ต้องทำโอทีเยอะ ใครที่เคยทำงานกับบริษัทญี่ปุ่น แม้แต่ในไทยเองก็ตามจะรู้ดีว่าคนญี่ปุ่นไม่ค่อยเลิกงานตามปกติเท่าไหร่ บางก็ หนึ่งทุ่ม สองทุ่ม หรือใครหนักๆก็เลยไปอีก แต่อยากถามว่าทำไมต้องทุ่มเทถึงขนาดนั้น? หนึ่งในเหตุผลที่อยากจะฟังดูแปลกๆคือ กลับไม่ได้!!! เพราะที่ทำงานญี่ปุ่นโดยมาก หากหัวหน้าคุณยังไม่กลับ คุณก็ห้ามกลับ ไม่ใช่กฏบริษัทแต่อย่างใด แต่เป็นเหมือนธรรมเนียมไปแล้ว นั้นคือ ทำนาน (Stay long) ทำหนัก (Hard work) ต้องแสดงให้เห็นว่าเราทุ่มเทกับงานจริงๆนะ อีกเหตุผลคือ งานล้นมือเพราะการแบ่งเวลาในการทำงานนั้นยังไม่มีประสิทธิภาพดีพอ (อาจจะเป็นเหมือนกันทุกประเทศ) โดยเฉพาะพนักงานขายทั้งหลายที่กว่าจะกลับจากหาลูกค้าก็เย็นแล้ว แต่ยังไม่ได้ส่งเมลล์ ส่งใบเสนอราคา ฯลฯ
และที่สำคัญ บริษัทที่ญี่ปุ่นโดยมากมักจะไม่จ่ายโอทีครับ!!!
2. คนญี่ปุ่นงานยุ่งตัวเป็นเกลียวจริงๆเหรอ??
เอ๊ะ มันยังไง ใครๆก็รู้ว่าอิมเมจของพนักงานบริษัทญี่ปุ่นคือดูต้องยุ่ง แบกกระเป๋าเอกสารใบใหญ่ ทั้งคุยโทรศัพท์ ทั้งงานเอกสารเอย ต่างๆนานาๆ อีกทั้งยังมีโอทีอีก มันจะไม่ยุ่งจริงๆได้ยังไง? แต่จริงๆแล้ว เมื่อผมลองวิเคราะห์และจากการหาข้อมูลดู ก็พบว่าคนญี่ปุ่นในออฟฟิตส่วนหนึ่งนั้นไม่ได้ยุ่งจริงๆหรอก เหตุผลนั้นก็คือหากเทียบแล้วปกติพนักงานญี่ปุ่นนั้นต้องทำงานกันวันละ 12 ชม. ดังนั้นเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆที่ไม่นิยมโอที กับงานปริมาณเท่ากัน เพื่อไม่ให้ดูน่าเกลียด คนญี่ปุ่นจึงต้อง “แกล้งทำเป็นงานยุ่ง” เพื่อให้ครบเวลา หรือแม้แต่การทำงานให้ช้ากว่าความเป็นจริงจะได้ดูงานเยอะ (แน่นอนว่า บริษัทที่งานยุ่งจริงๆก็มี) ตัวเลขยืนยันนั้นมาจากการวิเคราะห์ คือเรื่อง GDP ต่อชม.เมื่อเทียบกับปริมาณชม.ทำงาน พบว่า ญี่ปุ่นนั้นน้อยกว่าอเมริกาเกือบๆครึ่งนึงเลยทีเดียว
อเมริกา:56.90 USD
เยอรมัน:50.90 USD
ญี่ปุ่น:36.10 USD
(ที่มา OECD)
3. อาวุโสนั้นคือที่สุด
น่าจะเรียกว่าเป็นค่านิยมของชาวเอเชียที่ถือเรื่องต้องมีกาลเทศะในการทำงาน และนับถือความอาวุโส (โดยมากจะเน้นที่อายุคนมากกว่าอายุงาน) นี้ถือว่าเป็นเรื่องดีดังที่สุภาษิตอาบน้ำร้อนมาก่อนมักจะใช้ได้ผลเสมอ แต่ที่ญี่ปุ่นนั้น ลำดับอาวุโสในที่ทำงานมันคนเป็นอะไรที่ฝังรากลึก และมีผลกระทบมากกว่ากับประเทศอื่นๆเลยทีเดียว โดยเฉพาะบริษัทเก่าๆที่ยังไม่ได้ปรับปรุงการรูปแบบบริหารซักที เรียกได้ว่าคุณอย่าหวังว่าจะได้เลื่อนขั้น หากมียังคนที่อายุงานมากกว่าคุณยังค้ำคออยู่แม้จะทำผลงานดีเท่าไหร่ก็ตาม คนญี่ปุ่นถือว่าพนักงานนั้นทำเพื่อบริษัทเป็นอันดับแรก ซึ่งอาจจะต่างจากฝรั่งที่มักจะทำเพื่อผลประโยชน์ร่วม และเรื่องการจ้างงานตลอดชีวิต (Lifetime employment) ที่เป็นธรรมเนียมของบริษัทญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามในปัจจุบันสถานการณ์ได้เริ่มเปลี่ยนไปในทิศทางโลกมากขึ้น เมื่อคนรุ่นใหม่มาแทนที่คนหัวโบราณ และค่านิยมการทำงานแบบเดิมๆเริ่มไม่นิยมในหมู่คนรุ่นใหม่
4. ชอบทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยากซับซ้อน
คนญี่ปุ่นนั้น ต้องยอมรับจริงๆเลยว่ามีความสามารถที่จะทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยากซับซ้อนได้ เรียกว่า บางอย่างก็อาจจะเกินความจำเป็นได้ ตัวอย่างเช่น การดำเนินเอกสารกับบริษัทญี่ปุ่น ทั้งๆที่เป็นบริษัทเอกชน แต่กลับมีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน และโดยมากต้องอาศัยเอกสารตัวจริงที่มีตราประทับ อีกทั้งต้องผ่านหลายขั้นตอน ทั้งหัวหน้าทีม หัวหน้าแผนก หัวหน้าฝ่าย ซึ่งก็ยิ่งเพิ่มความซับซ้อนในการทำงานเข้าไปอีก หรือการข้อเปิดบริการต่างๆต้องมีหลักฐานและขั้นตอนที่ยุ่งยาก ราวกับงานราชการประมาณนั้น แต่ก็มีข้อดีที่ทำให้เกิดความปลอดภัยสูง และมีระเบียบแบบแผนชัดเจน ถึงอย่างนั้นก็ตาม เราก็รู้ๆกันว่าบริษัทญี่ปุ่นใหญ่ๆหลายๆเจ้าก็แพ้บริษัทฝรั่งไปแม้แต่ในตลาดบ้านเกิดตัวเอง เพราะตัดสินใจทางการตลาดที่ช้านั้นเอง
5 งานเลี้ยงหลังเลิกงาน
โนมิไก (Nomikai – 飲み会い) มันคืองานเลี้ยงกินดื่มหลังเลิกงานที่ขึ้นชื่อของญี่ปุ่น จริงๆแล้วแม้แต่คนญี่ปุ่นเอง ที่ผมเคยสอบถามก็ไม่มีใครอยากจะไปมันซักคน! แต่ก็ยังเป็นอะไรที่เลี่ยงไม่ได้หากคุณต้องทำงานที่ญี่ปุ่น โดยหลักๆแล้วสมาชิกคือคนในที่ทำงานซึ่งรวมไปถึงหัวหน้าในแผนกและเพื่อนร่วมงาน จุดประสงค์ของมัน (ตามปากคำของหัวหน้า) คือเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในที่ทำงาน เพื่อให้มาปรับทุกข์ หรือให้เสนอแนะจุดต่างๆ คนญี่ปุ่นโดยเฉพาะพนักงานที่อาวุโสน้อยกว่ามักจะถือโอกาสนี่ในการพูดเรื่องต่างๆที่ตนเองหรือติดใจให้หัวหน้ารับรู้ (ซึ่งก็บางทีก็เมาจนพูดไม่รู้เรื่อง) แต่!!ดูเหมือนเหตุผลของมัน บางครั้งที่ไม่ได้มีเหตุอะไรก็จัดงานเพราะคนชวนนี่แหละที่แค่อยากกินดื่มให้หายเครียด หายเหนื่อยจากแรงกดดันที่ทำงานมาไม่เพียงเท่านี้งานเลี้ยงนั้นมักจะมี ก๊ง 2 หรือ 3 หรือ คาราโอเกะตามมา เรียกได้ว่าเอากันจนถึงเวลารถไฟเที่ยวสุดท้ายก่อนจะกลับ!! ซึ่งเรื่องโนมิไกนี่เป็นอะไรที่คนต่างชาติส่วนหนึ่งยากจะรับได้ เพราะการกินเลี้ยงนั้นมันต้องไปกินกับเพื่อนฝูงหรือคนสนิทที่เราอยากไป ไม่ใช่กับหัวหน้าหรือคนในแผนก! และการไปบ่อยๆหลายครั้งตลอดสัปดาห์ทำให้กลับบ้านดึก และไม่มีเวลาให้ลูกเต้าครอบครัว จนเกิดเป็นปัญหาภายในครอบครัวตามมาได้
6. ห้ามปฏิเสธ
น่าจะเรียกว่าเป็นสัญชาตญาณในตัวคนญี่ปุ่นเลย เรื่องการตามน้ำ และไม่ทำตัวแปลกฝูง คนญี่ปุ่นถือเรื่องการตามน้ำในกลุ่มสังคม โดยเฉพาะในที่ทำงานเป็นอย่างมาก โดยคนญี่ปุ่นนั้นมักจะเรียกมันว่า บรรยากาศ (Kuki-空気) สำหรับความหมายจริงๆนั้นมันลึกกว่า คำว่า”บรรยากาศ”(เช่นบรรยากาศที่ทำงานฯลฯ)ในภาษาไทย มันคือการเข้าสังคม ความคิด กระแสของคนกลุ่มนั้นๆ ขอบเขตอำนาจ และความรู้สึกปลอดภัย นั้นคือเมื่อมีคนสร้างบรรยากาศโดยเฉพาะผู้ที่มีอาวุโสหรือคนที่มีอำนาจ คนญี่ปุ่นมักจะไม่ชอบให้มีคนมาทำลายบรรยากาศที่ตนเองสร้าง และถึงแม้จะไม่แสดงออกในทันที แต่ก็จะเกิดการกีดกันทางสังคมขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เช่นหากคุณถูกหัวหน้าเชิญไปงานเลี้ยงหลังเลิกงาน แล้วคุณปฏิเสธบ่อยๆ คุณจะถูกกีดกันขึ้น นั้นอาจจะหมายถึงอนาคตตำแหน่งงาน หรือการเติบโตได้ แม้ว่าในที่ทำงาน ประสิทธิภาพคุณดีแค่ไหน คุณสามารถสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานได้อย่างคล่องแคล่วก็ตาม เมื่อหัวหน้าไม่ถูกใจคุณด้วยเหตุผลนี้คนญี่ปุ่นจึงมันจะปฏิเสธไม่เป็น และนั้นเองเป็นสาเหตุให้เกิดวัฒนธรรมแปลกๆ ขึ้นมากมาย
7. การสื่อสารนั้นมันช่างยากจริงๆ
สำหรับการทำงานที่บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นนั้น อุปสรรคที่มักจะเจอคือเรื่องการสื่อสารโดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ในมุมมองของคนต่างชาตินั้น พนักงานญี่ปุ่นทั่วๆไป มีความสามารถด้านภาษาอังกฤษที่ไม่สูงมาก และการจะเอาตัวรอดในบริษัทได้คุณก็ต้องหาหัวหน้าหรือคนที่สามารถสื่อสารกับคุณได้ หากคุณไม่รู้ภาษาญี่ปุ่นเลย ยิ่งวัยเก่าๆนี่พูดอังกฤษไปตอบญี่ปุ่นมาเฉยเลยก็มี (แน่นอนว่าไม่รู้เรื่อง) ปัญหานี่เป็นปัญหาการศึกษาระดับชาติ ของญี่ปุ่น และกำลังเป็นที่ถกกันเพราะโตเกียวจะเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิคในอีก 5 ปีข้างหน้านี่แล้ว อย่างไรก็ดีตอนนี้ก็เริ่มมีการรณรงค์ให้มีการเรียนภาษาอังกฤษทั้งในสถานศึกษา และที่ทำงาน รวมทั้งคอร์สการฝึก ภาษาและนักเรียนแลกเปลี่ยนก็มีมากขึ้น ในอนาคตนั้นก็หวังว่ากำแพงภาษานั้นบางลงก็ยังดี สำหรับคนที่พูดญี่ปุ่นไม่ได้จะได้มีทางเลือกอนาคตมากขึ้น
nekoneko