เฝ้ารอ! สดร. เผยเดือนนี้มีอีก ‘ดาวเคียงเดือน’
ในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ ถือเป็นช่วงที่ประเทศไทยเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูหนาว ท้องฟ้าเริ่มมีทัศนวิสัยที่เหมาะกับการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์
สำหรับประเทศไทยทั่วทุกภูมิภาคจะสามารถสังเกตเห็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่เกี่ยวกับดาวเคราะห์ด้วยกัน 2 ช่วง ดังนี้
3-5 พฤศจิกายน 2558 : ปรากฏการณ์ดาวเคราะห์ชุมนุม
ปรากฏการณ์ดาวเคราะห์ชุมนุม : ในช่วงวันที่ 3-5 พฤศจิกายน 2558 เราจะสามารถสังเกตเห็นปรากฏการณ์ดาวเคราะห์ชุมนุม ทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลา 03.30 น. โดยประมาณ จนถึงช่วงรุ่งเช้า โดยจะสามารถสังเกตเห็นดาวอังคารอยู่ใกล้กับดาวศุกร์ เป็นระยะห่างปรากฏเชิงมุมเพียง 0.7 0.7 และ 1.0 องศา ตามลำดับ
การที่ดาวอังคารและดาวศุกร์ อยู่เคียงชิดกันบนท้องฟ้าในครั้งนี้ ทางดาราศาสตร์จะเรียก “ปรากฏการณ์ดาวเคราะห์ชุมนุม” หมายถึง ดาวเคราะห์ตั้งแต่ 2 ดวงขึ้นไปปรากฏใกล้กันบนท้องฟ้าที่ระยะห่างเชิงมุม 1-5 องศา ซึ่ง 1 นิ้วก้อยของเราเมื่อเหยียดสุดแขนจะมีระยะเชิงมุมประมาณ 1 องศา และหากผู้สังเกตใช้กล้องโทรทรรศน์กำลังขยายไม่เกิน 100 เท่า ก็จะสามารถสังเกตเห็น ดาวอังคารและดาวพฤหัสบดีอยู่ในช่องมองภาพเดียวกันได้
6-8 พฤศจิกายน 2558 : ปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือน
ปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือน : ในช่วงวันที่ 6-8 พฤศจิกายน 2558 เราจะสามารถสังเกตเห็นปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือน ทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลา 03.30 น. โดยประมาณ จนถึงช่วงรุ่งเช้า จะสามารถสังเกตเห็นดาวเคราะห์ได้แก่ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร และดาวพฤหัสบดี อยู่ใกล้กับดวงจันทร์ ซึ่งช่วงวันดังกล่าวดวงจันทร์อยู่ในช่วงข้างแรม 11 ค่ำ ถึงแรม 13 ค่ำ ทำให้เรามองเห็นดวงจันทร์เสี้ยวอยู่ท่ามกลางกลุ่มดาวเคราะห์ที่มีมุมปรากฏเรียงอยู่ตามแนวเส้นสุริยะวิถี และอยู่ใกล้กับกลุ่มดาวสิงโต (Leo)
ในช่วงเวลาดังกล่าว ดาวพฤหัสบดีและดาวศุกร์จะสังเกตได้ง่ายเนื่องจากเป็นสองวัตถุที่มีความสว่างที่สุดบนท้องฟ้า (ไม่นับรวมดวงจันทร์)
โดยในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2558 จะเป็นช่วงที่ดวงจันทร์เคลื่อนที่มาอยู่ระหว่าง พฤหัสบดี ดาวอังคาร และดาวศุกร์ มากที่สุด เพียง 4 องศาเท่านั้น
สำหรับปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ในช่วงเดือนตุลาคมทั้งหมดที่กล่าวมานั้น สามารถสังเกตเห็นได้ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย หากวันดังกล่าวท้องฟ้าปลอดโปร่งไม่มีเมฆฝนก็จะมีโอกาสได้เห็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่น่าสนใจอีกปรากฏการณ์หนึ่งในช่วงเดือนนี้